ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานวิจัยหัวข้อ “การวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อระบบสาธารณสุข เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดและความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย”

รศ.ดร.วรรณฤดี อิสรานุวัฒน์ชัย หัวหน้าโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ (HITAP) และคณะนักวิจัย ได้ทำการศึกษาวิจัยหัวข้อ “การวิเคราะห์ผลกระทบของโควิด-19 ต่อระบบสาธารณสุข เพื่อเพิ่มความเข้มแข็งในการตอบสนองต่อการระบาดและความยั่งยืนของระบบประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศไทย” หรือ Understanding the impact of COVID-19 to improve our health care system response : Turning crisis into opportunities

การวิจัยดังกล่าว เป็นการวิเคราะห์เชิงพรรณนาทุติยภูมิโดยใช้ข้อมูลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ได้จากฐานข้อมูล e-Claim ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในเดือน ม.ค. 2563 ถึงเดือน ก.ค. 2564 และมีการตรวจติดตามอย่างน้อย 3 เดือน จนถึงเดือน ต.ค. 2564

สำหรับข้อค้นพบที่น่าสนใจจากงานวิจัยฉบับนี้ก็คือ หากพิจารณาจำนวนครั้งของ “ผู้ป่วยโควิด-19” ที่เดินทางมาโรงพยาบาล จะพบว่าในปี 2563 มีผู้ป่วยโควิดมาโรงพยาบาล 4,089 ราย ขณะที่ปี 2564 เพิ่มสูงเป็น 280,793 ราย

นอกจากนี้ ยังพบว่าจำนวนวันนอนโดยเฉลี่ยอยู่ที่ 11 วัน และมีค่าใช้จ่ายเฉลี่ยอยู่ที่ 404,453 บาท

1

เมื่อศึกษาลึกลงไปจะพบอีกว่า ผู้ป่วยกลุ่มนี้มากถึง 63% ไม่มีประวัติการนอนโรงพยาบาลในช่วง 4 ปี ก่อนจะติดเชื้อโควิด-19 ส่วนอีก 37% มีประวัตินอนโรงพยาบาลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง ขณะที่หลังการติดโควิด-19 ไปแล้ว (มีการตรวจติดตามราว 3 เดือนให้หลัง) พบว่า 76% ไม่มีการนอนโรงพยาบาลอีก แต่ก็มี 24% ที่มีการนอนโรงพยาบาลอย่างน้อยหนึ่งครั้ง

มากไปกว่านั้น งานวิจัยยังได้ตอบคำถามว่า เราเรียนรู้อะไรจากการศึกษาผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 ครั้งเดียว เทียบกับผู้ที่ป่วยเป็นหลายครั้ง ? โดยพบว่า อายุเฉลี่ยของผู้ป่วยที่เป็นโควิด-19 ครั้งเดียว อยู่ที่ 35 ปี ขณะที่ผู้ป่วยเป็นโควิด-19 หลายครั้ง มีอายุเฉลี่ย 44 ปี และยังพบอีกว่า มีเพศชายที่เป็นโควิด-19 หลายครั้ง มากกว่าเพศหญิง

อย่างไรก็ดี ในตอนท้ายคณะผู้วิจัยฯ ย้ำว่า การวิเคราะห์นี้เป็นเพียงการวิเคราะห์เชิงพรรณนาเท่านั้น การวิเคราะห์นี้ทำขึ้นเพื่อเป็นตัวอย่างว่า ข้อมูลจากความเป็นจริงที่มีอยู่แล้วสามารถนำมาศึกษาเกี่ยวกับโควิด-19 ได้อย่างไร เนื่องจากยิ่งเรารู้เกี่ยวกับโรคนี้มากขึ้น เราก็ยิ่งเตรียมรับมือได้ดีขึ้นทั้งในปัจจุบันและในอนาคต

อนึ่ง คณะผู้วิจัยพยายามศึกษาตัวแปรที่อาจเป็นไปได้ที่ทำให้มีการเป็นโควิด-19 มากกว่าหนึ่งครั้ง หรือตัวแปรที่ทำให้คนบางกลุ่มมีแนวโน้มสูงกว่าที่จะมีอาการลองโควิด ตัวแปรเหล่านี้ได้แก่ อายุที่มากกว่า และการมีโรคร่วม (ซึ่งถือว่าสมเหตุสมผล) ณ ขณะนี้ ยังต้องมีข้อมูลเพิ่มเติมก่อนที่จะสามารถสรุปแน่นอนได้