ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เลขาธิการ สปส. ยืนยัน ขณะนี้อยู่ระหว่างเสนอให้ ครม. พิจารณาแก้ไขกฎหมายที่เกี่ยวข้อง เปิดช่องคืนเงิน ชราภาพก่อนกำหนด เพื่อให้ผู้ประกันตนนำไปบรรเทาความเดือดร้อนในยุคโควิด 19


นายบุญสงค์ ทัพชัยยุทธ์ เลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า จากสถานการณ์โควิด 19 ทำให้ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคมได้รับความเดือดร้อน จึงมีผู้ประกันตนบางส่วนเสนอให้ สปส. “คืนเงินชราภาพ” ก่อนครบอายุ ซึ่งขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างนำเสนอร่าง พ.ร.บ.ประกันสังคม พ.ศ. ... เข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรี (ครม.) เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องพิจารณา

ทั้งนี้ จากข้อเรียกร้องที่ให้มีการปรับปรุงแก้ไขกฎหมายเกี่ยวกับประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ เพื่อให้สามารถนำเงินกรณีชราภาพที่ตนสมทบอยู่ในกองทุนประกันสังคมออกมาเพื่อใช้ก่อนบางส่วน (ขอคืน) หรือนำเงินกรณีชราภาพบางส่วนไปเป็นหลักประกันการกู้เงินกับสถาบันการเงิน (ขอกู้) หรือให้มีสิทธิเลือกรับเงินบำนาญชราภาพหรือเงินบำเหน็จชราภาพ เมื่อนำส่งเงินสมทบครบเงื่อนไขการได้รับเงินบำนาญชราภาพแล้ว (ขอเลือก) โดยทั้งหมดเรียกว่าการปรับปรุงแก้ไขสิทธิประโยชน์กองทุนประกันสังคมกรณีชราภาพ “3 ขอ” ได้แก่ ขอเลือก ขอกู้ และขอคืน

นายบุญสงค์ กล่าวว่า ที่ผ่านมา สปส. ไม่ได้นิ่งนอนใจกับปัญหาความเดือดร้อนของพี่น้องผู้ประกันตน ได้เปิดรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องต่อการปรับปรุงแก้ไขประโยชน์ทดแทนในกรณีชราภาพ ผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ระบบกลางทางกฎหมายของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา (http://lawtest.egov.go.th) และสำนักงานประกันสังคม (https://www.sso.go.th) รวมทั้งการส่งลิงก์แบบสอบถามความคิดเห็นไปตามช่องทางสื่ออิเล็กทรอนิกส์ และไปยังภาคส่วนต่าง ๆ เพื่อให้ลูกจ้าง/ผู้ประกันตน ผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงผู้ที่เกี่ยวข้อง เข้ามาร่วมกันแสดงความคิดเห็น

พร้อมทั้งสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นเผยแพร่ผลผ่านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศของสำนักงานประกันสังคม และนำมายกร่างพระราชบัญญัติประกันสังคม (ฉบับที่ ..) พ.ศ. .... ซึ่งร่างกฎหมายดังกล่าวจะก่อให้เกิดประโยชน์แก่ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ซึ่งเป็นแรงงานกลุ่มใหญ่ มีความสำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ

สำหรับผู้ประกันตนที่ได้รับความเดือดร้อนจากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด 19 หรือจากสถานการณ์อื่นใดซึ่งส่งผลกระทบต่อการดำรงชีพ ก็จะได้มีเงินบางส่วนที่สามารถนำมาใช้จ่ายในยามฉุกเฉิน เพิ่มสภาพคล่องให้ตนเองเพื่อผ่อนคลายสถานการณ์ทางการเงินที่อาจอยู่ในขั้นวิกฤต ให้ผู้ประกันตนสามารถวางแผนการใช้เงิน มีการบริหารทางการเงินอย่างรอบคอบขึ้น อีกทั้งยังจะทำให้ผู้ประกันตนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้โดยง่ายแม้จะไม่มีหลักทรัพย์ค้ำประกัน ช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของผู้ประกันตนไม่เป็นการสร้างภาระให้แก่สังคมเพิ่มมากขึ้น