ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รองเลขาธิการ สปส. แจงความคืบหน้าการเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม ภายหลังเครือข่ายแรงงานเข้ายื่นหนังสือเร่งรัด! วอนหยุดดองการเลือกตั้ง


นายนันทชัย ปัญญาสุรฤทธิ์ รองเลขาธิการสำนักงานประกันสังคม (สปส.) กระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ได้กำหนดให้คณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด สปส.) ฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนต้องมาจากการเลือกตั้ง ซึ่งขณะนี้ สปส.อยู่ระหว่างเตรียมความพร้อมตามที่ นายสุชาติ ชมกลิ่น รมว.แรงงาน ได้กำชับให้ สปส. จัดการเลือกตั้งอย่างรอบคอบ บริสุทธิ์ ยุติธรรม

สำหรับความคืบหน้าล่าสุด สปส. อยู่ระหว่างจัดทำแผนและกรอบระยะเวลาการจัดการเลือกตั้งฯ เพื่อเสนอคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) โดยเมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2565 ผู้บริหาร สปส. พร้อมด้วยเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง ได้เดินทางเข้าพบผู้แทน กกต. เพื่อร่วมหารือและขอคำแนะนำเกี่ยวกับการดำเนินการเลือกตั้งในสถานการณ์โควิด 19 และจะแต่งตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อศึกษาแนวทางการดำเนินการเลือกตั้งที่มีความสุจริต เสรีและเป็นธรรม แก่ผู้ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่าย

ทั้งนี้ เมื่อดำเนินการรวบรวมข้อมูลและจัดทำกฎหมายลำดับรองที่ออกตามระเบียบกระทรวงแรงงานว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งฯ แล้วเสร็จ สปส.จะส่งให้ กกต. เพื่อประกอบการจัดให้มีการเลือกตั้ง ผู้แทนฝ่ายนายจ้าง และฝ่ายผู้ประกันตนต่อไปโดยเร็ว

อย่างไรก็ดี เมื่อวันที่ 3 ก.พ. ที่ผ่านมา นายธนพงศ์ เชื้อเมืองพาน ประธานกลุ่มสหภาพแรงงานย่านรังสิตและใกล้เคียง น.ส.ธนพร วิจันทร์ ผู้แทนเครือข่ายแรงงานเพื่อสิทธิประชาชน พร้อมด้วยตัวแทนกลุ่มผู้ใช้แรงงาน ได้ยื่นหนังสือถึง รมว.แรงงาน เพื่อขอให้เร่งจัดการเลือกตั้งบอร์ด สปส. หลังถูกดองมานานตั้งแต่ยุคคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) พร้อมทั้งแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ด้วยการใช้โหลยาดองเป็นสัญลักษณ์ล้อเลียน และชูป้ายข้อความ อาทิ  หยุดดอง! เร่งจัดเลือกตั้งบอร์ดประกันสังคม, แรงงานข้ามชาติในระบบประกันสังคมควรมีสิทธิเลือกตั้งบอร์ด ฯลฯ

นายธนพงศ์ กล่าวว่า นับตั้งแต่การประกาศ พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 เมื่อวันที่ 20 ต.ค. 2558 ซึ่งในมาตรา 8 ได้กำหนดให้ผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนให้มาจากการเลือกตั้ง โดยคำนึงถึงการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนสัดส่วนระหว่างหญิงและชาย รวมทั้งมีส่วนร่วมอย่างมีประสิทธิภาพของคนพิการและผู้ด้วยโอกาสสำหรับเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้ง

ทว่าต่อมามีคำสั่ง คสช.ที่ 40/2558 แต่งตั้งคณะกรรมการประกันสังคม (บอร์ด) ชุดใหม่ โดยให้ชุดเก่าหยุดปฏิบัติงาน พร้อมกับคำสั่งหัวหน้า คสช.ที่ 9/2562 วันที่ 9 ก.ค. 2562 กำหนดให้ รมว.แรงงาน จัดทำระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรคสามแห่ง พ.ร.บ.ประกันสังคม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2558 ให้เสร็จใน 2 ปี จนกระทั่ง เมื่อวันที่ 8 ก.ค.2564 รมว.แรงงาน ลงนามเห็นชอบระเบียบฯ และได้ส่งถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี เพื่อประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษา แต่จนถึงตอนนี้ยังไม่มีการจัดการเลือกตั้งขึ้น ดังนั้นเครือข่ายผู้ใช้แรงงานจึงมาทวงถาม และเรียกร้องดังนี้  

ข้อ 1 ให้เร่งกำหนดวันและประชาสัมพันธ์การเลือกตั้งบอร์ด สปส. ภายในเดือน มิ.ย. 2565 ให้เป็นไปตามระเบียบว่าด้วยหลักเกณฑ์และวิธีการเลือกตั้งผู้แทนฝ่ายนายจ้างและผู้แทนฝ่ายผู้ประกันตนเป็นกรรมการในคณะกรรมการประกันสังคม ประกาศเมื่อ 8 ก.ย. 2564

ข้อ 2 ให้แก้ไขกำหนดให้ผู้ประกันตนที่ไม่มีสัญชาติไทย มีสิทธิเลือกตั้งทั้งนายจ้างและผู้ประกันตน การกำหนดไว้ในข้อที่ 16 ย่อมขัดแย้งกับหลักการมีส่วนร่วมอย่างแท้จริงของฝ่ายนายจ้างและฝ่ายผู้ประกันตนตามมาตรา 8 วรรคสามได้ เพราะ พ.ร.บ.ประกันสังคมไม่มีข้อกำหนดสัญชาติไทยไว้ ขณะที่กฎหมายบัญญัติให้ผู้เป็นนายจ้างและผู้ประกันตนต้องจ่ายเงินสมทบโดยเท่าเทียมกัน

ข้อ 3 ให้แก้ไขกำหนดสัดส่วนผู้แทนผู้ประกันตนสอดคล้องกับจำนวนผู้ประกันตน มาตรา 33, 39, และ 40

ข้อ 4 ให้แก้ไขการกำหนดให้มีหน่วยเลือกตั้งจังหวัดละหนึ่งหน่วย ในข้อ 14 ให้สอดคล้องเหมาะสมตามสัดส่วนผู้ประกันตนที่มีในแต่ละจังหวัด เพื่ออำนวยความสะดวกและลดอุปสรรคในการใช้สิทธิของผู้ประกันตน

ข้อ 5 ควรจัดให้มีการเลือกตั้งแบบอิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)