ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หมายเหตุ : ชวนฟังการบรรยายพิเศษ “อาจารย์ โอ (ภาส) คุยเรื่อง โอ (มิครอน)” โดย ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย

เมื่อวันที่ 14 ม.ค. 2565 องค์กรแพทย์โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ ร่วมกับคณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ได้จัดกิจกรรมบรรยายพิเศษ หัวข้อ “อาจารย์ โอ (ภาส) คุยเรื่อง โอ (มิครอน)” โดย ผศ.นพ.โอภาส พุทธเจริญ หัวหน้าศูนย์โรคอุบัติใหม่ทางคลินิก โรงพยาบาลจุฬาลงกรณ์ สภากาชาดไทย ซึ่งมีสาระสำคัญคือบอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับเชื้อโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน โดย “The Coverage” ได้รวบรวมเนื้อหาที่น่าสนใจดังนี้

Q : การตั้งใจติดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนเพื่อให้เกิดภูมิคุ้มกันหมู่ ได้หรือไม่?
A :
ถึงแม้ว่าโอมิครอนจะมีอาการไม่เยอะ อาการน้อยและหายเร็ว แต่เราไม่รู้ว่าโอมิครอนในภาวะ Long Covid นั้นเราจะมีอาการมากน้อยแค่ไหน เพราะฉะนั้นพยายามไม่ให้ติด เพื่อป้องกันภาวะ Long Covid  และเราไม่สามารถทำให้เกิด Herd immunity (ภูมิคุ้มกันหมู่) ได้ เนื่องจากเวลาที่มีการติดเชื้อภูมิจะขึ้นไม่นานก็จะลงไป ทำให้ไม่สามารถป้องกันการติดเชื้อซ้ำ ดังนั้นจึงไม่แนะนำการติดโควิด- 19 เพื่อสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ 

Q : ผู้ติดโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน และสายพันธุ์เดลต้า มีอาการแตกต่างกันมากหรือไม่?
A :
อาการของทั้งสองสายพันธุ์นั้นไม่มีความแตกต่างกันมาก เพราะมีการเข้าไปจับตัวกับเซลล์ของระบบทางเดินหายใจเหมือนกัน เพียงแต่สายพันธุ์โอมิครอนมีการติดเชื้อที่ทางเดินหายใจส่วนบนมากกว่าส่วนล่าง ทำให้ไม่คอยมีอาการทางปอดได้เท่ากับเดลต้า แต่จะมีอาการ ไอ เจ็บคอ มีน้ำมูก และข้อมูลจากประเทศอังกฤษแสดงให้เห็นว่า ตัวโอมิครอนนั้นมักจะไม่ค่อยมีอาการจมูกไม่ได้กลิ่น แต่อย่างไรก็ตามอาการเหล่านี้ไม่สามารถระบุได้ว่าเป็นเดลต้าหรือโอไมครอน เพราะปัจจุบันผู้ประเทศไทยผู้ที่ติดโควิด-19 จะติดสายพันธุ์โอมิครอนหมดแล้ว 

Q : ใช้ชุดตรวจ ATK อย่างไรให้เหมาะสม ?
A :
การตรวจ ATK นั้นจำเป็นจะต้องตรวจในผู้ที่มีเชื้อในตัวเยอะจึงจะเจอ ดังนั้นหากตรวจ ATK ในครั้งแรกแล้วไม่พบเชื้อก็ควรตรวจซ้ำในอีก 3-4 วันถัดมา และหากผล ATK เป็นบวก ก็ควรไปตรวจ RT-PCR อีกครั้งเพื่อยืนยันผลและเข้ารับการรักษา 

Q : ควรปรับตัวอย่างไรเพื่อใช้ชีวิตในยุคโควิด-19 ได้อย่างปลอดภัย
A :
ควรฉีดวัคซีน ได้รับเข็มกระตุ้นที่เพียงพอ และป้องกันตัวเอง เช่น การใส่หน้ากากอนามัยอยู่เสมอ ส่วนในระดับประเทศควรมีการเตรียมพร้อมในเรื่องของยาที่มีประสิทธิภาพ ที่ใช้ในการรักษาในอนาคต เพื่อไม่ให้เกิดเหตุการณ์ผู้ป่วยล้นโรงพยาบาล

Q : สามารถดูแลตัวเองใน Home Isolation อย่างไรให้ปลอดภัย
A :
สิ่งสำคัญในระหว่างทำ home isolation คือระวังเชื้อลงปอด ดังนั้นควรสังเกตตัวเองว่ามีอาการเหนื่อยหรือไม่ การวัดออกซิเจนจึงเป็นสิ่งสำคัญ โดยเฉพาะการวัดออกซิเจนปลายนิ้วก่อนเดินและหลังเดินเพื่อตรวจสอบอาการปอดอักเสบ และที่สำคัญควรมีพื้นที่ภายในบ้านเพื่อรักษา และแยกสิ่งของต่างๆ ชั่วคราวและทิ้งเมื่อใช้เสร็จเพื่อป้องกันการติดเชื้อ ควรสังเกตอาการเสมอเมื่อมีไข้สูงขึ้น ออกซิเจนในเลือดมีค่าต่ำลง ควรรีบขอคำปรึกษาจากโรงพยาบาลทันที

Q : คนไข้ที่ติดเชื้อโควิด-19 ที่ได้รับวัคซีนและไม่ได้รับวัคซีนครบ มีอาการแตกต่างกันอย่างไร
A :
ในยุคที่เดลต้าระบาดผู้ที่อยู่ในห้อง ICU นั้นมักจะเป็นผู้ที่ไม่ได้มีการฉีดวัคซีนหรือยังฉีดไม่ครบ ดังนั้นทุกคนควรได้รับวัคซีนให้ครบ 2 เข็ม และรับวัคซีนกระตุ้นตามกำหนด เพื่อลดความรุนแรงของโรค

Q : หากไม่มีสายพันธุ์ใหม่เข้ามา โควิด-19 จะเข้าสู่การเป็นโรคประจำถิ่นเมื่อใด ?
A :
หากโอมิครอนคือไวรัสที่กลายพันธุ์ตัวสุดท้าย โอมิครอนก็จะไม่หายไปไหน ยังสามารถซุกซ่อนในตัวคนที่ติดแต่ไม่มีอาการอยู่ และมีการติดเชื้อซ้ำไปซ้ำมา สุดท้ายก็จะกลายเป็นไวรัสหวัด แต่ในตอนนี้ไม่มีใครสามารถบอกได้ว่าจะเข้าสู่จุดนั้นเมื่อไหร่ แต่เมื่อใดที่ภูมิกับไวรัสถึงจุดบาลานส์ ตอนนั้นจะถือว่าโควิด-19 จะกลายเป็นไวรัสประจำถิ่น แต่อย่างไรก็ตามการเตรียมพร้อมในการรักษาและเตรียมความพร้อมเรื่องของวัคซีน เพื่อทำให้คนไข้ทุกคนปลอดภัยจากการติดเชื้อไวรัสครั้งนี้ 

อนึ่ง สำหรับท่านใดที่สนใจฟังการบรรยายพิเศษ “อาจารย์ โอ (ภาส) คุยเรื่อง โอ (มิครอน)” โดย ผศ.นพ.โอภาส สามารถเข้าไปรับชมการบรรยายย้อนหลังได้ที่เฟซบุค คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย