ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ย้ำหน้ากากผ้ายังป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์ “โอมิครอน” ได้ แต่ต้องใส่ให้ถูกวิธี ชี้พบติดเชื้อแล้ว 740 ราย ใน 33 จังหวัด คิดเป็นสัดส่วนประมาณ 5-6% ขณะที่การระบาดส่วนใหญ่ในไทยยังเป็นสายพันธุ์เดลตา


เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. 2564 นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยว่า กรณีข่าวหน้ากากผ้าใช้ป้องกันโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้ ข้อเท็จจริงคือเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนไม่ได้มีขนาดเล็กลง และยังออกมากับละอองฝอยน้ำมูกน้ำลายที่มีโมเลกุลขนาดใหญ่ 5-6 ไมครอน ไม่แตกต่างจากเชื้อสายพันธุ์เดิม

"การใช้หน้ากากผ้าซึ่งป้องกันสายพันธุ์อัลฟา เบตา และเดลตาได้ จึงสามารถป้องกันโอมิครอนได้เช่นกัน แต่สิ่งสำคัญต้องใส่ให้ถูกวิธี คือใส่ให้แนบกระชับกับใบหน้า เพราะแม้จะใช้หน้ากาก N95 แต่ถ้าใส่ไม่ถูกต้องก็ป้องกันไม่ได้ 100%" นพ.ศุภกิจ กล่าว

สำหรับสถานการณ์โควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน ทั่วโลกมีรายงานพบใน 108 ประเทศ โดยสหรัฐอเมริกาตรวจพบแล้วทุกรัฐ และพบว่ามี 3 สายพันธุ์ย่อยของโอมิครอน ส่วนประเทศไทยนับตั้งแต่เปิดประเทศเมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2564 มีรายงานพบโควิด-19 สายพันธุ์โอมิครอน สะสม 740 ราย ใน 33 จังหวัด แยกเป็น ผู้ติดเชื้อมาจากต่างประเทศ 489 ราย และติดเชื้อในประเทศ 251 ราย

ทั้งนี้ โอมิครอนมีการกระจายเกือบทุกเขตสุขภาพ ยกเว้นเขตสุขภาพที่ 2 (พิษณุโลก อุตรดิตถ์ เพชรบูรณ์ สุโขทัย และตาก) โดยพื้นที่ที่ตรวจพบมากที่สุด คือกรุงเทพมหานคร (กทม.) ตามด้วยเขตสุขภาพที่ 7 และ 11 ขณะที่คลัสเตอร์ใหญ่ที่สุดคือ จ.กาฬสินธุ์ พบผู้ติดเชื้อกว่า 200 ราย ซึ่งผู้ติดเชื้อทั้งหมดมีการตรวจยืนยันด้วยการถอดรหัสพันธุกรรมทั้งตัวแล้ว 104 ราย

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ในช่วงวันที่ 27-28 ธ.ค. 2564 พบว่าสัดส่วนของสายพันธุ์โอมิครอนเพิ่มขึ้นค่อนข้างเร็ว โดยขณะนี้พบประมาณ 66% แต่ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยมีเชื้อโอมิครอนแล้ว 66% เนื่องจากตัวอย่างที่สุ่มตรวจส่วนใหญ่เป็นผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ และผู้ที่มีประวัติสัมผัสผู้เดินทางมาจากต่างประเทศ ซึ่งเชื้อสายพันธุ์โอมิครอนมีการแพร่กระจายไปทั่วโลก

"การตรวจใน 2 กลุ่มนี้จึงพบสัดส่วนของโอมิครอนสูงมากตามไปด้วย แต่ในภาพรวมช่วง 2 วันที่ผ่านมา มีผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทั้งหมดกว่า 5 พันราย ตรวจพบสายพันธุ์โอมิครอนกว่า 200 ราย คิดเป็นประมาณ 5-6% ดังนั้น การแพร่ระบาดในประเทศไทยส่วนใหญ่ยังเป็นสายพันธุ์เดลตา" นพ.ศุภกิจ กล่าว