ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิจัยจาก มหาวิทยาลัยดีกิ้น (Deakin University) ในออสเตรเลีย ได้แก่ Sara Holton, Bodil Rasmussen, Karen Wynter และ Kate Huggins ทำการสำรวจบุคลากรทางการแพทย์เกือบ 3,700 คนในออสเตรเลียและเดนมาร์ก

ครอบคลุมคนทำงานในหลากบทบาท เช่น พยาบาล ผู้ผดุงครรภ์ แพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ ผู้ให้คำปรึกษาทางจิตแพทย์

ทั้งนี้พบว่า แต่เดิม ก่อนเกิดโรคระบาดโควิด-19 บุคลากรทางการแพทย์ก็มีระดับความเครียดสูงอยู่แล้ว เพราะลักษณะการทำงานที่มีชั่วโมงการทำงานยาวนาน มีเวรเข้างานในช่วงเวลาที่ไม่ปกติ และยังต้องรับมือกับอารมณ์ของคนไข้และครอบครัว โดยเฉพาะหากมีการสูญเสียชีวิตเกิดขึ้น

ทว่า โรคระบาดโควิด-19 ยิ่งทำให้ระดับความเครียดนี้เพิ่มสูงขึ้น ทั้งยังกระทบต่อสภาพจิตใจและชีวิตส่วนตัวของบุคลากรทางการแพทย์ แม้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ในออสเตรเลียมีจำนวนน้อยกว่าประเทศอื่นๆ

1 ใน 4 ของผู้เข้าร่วมการสำรวจมีปัญหาสุขภาพจิต เช่น ซึมเศร้า กังวล และเครียดหนัก เพราะกลัวว่าตนเองจะติดเชื้อในระหว่างการทำงาน แล้วทำให้ครอบครัวติดเชื้อตามไปด้วย รวมทั้งส่งผลต่อศักยภาพการดูแลผู้ติดเชื้อของสถานพยาบาลที่ตนทำงานอยู่

หลายคนยังพบปฏิกิริยาเชิงลบจากคนแปลกหน้า เวลาใส่ชุดทำงานของโรงพยาบาลในที่สาธารณะ และหลายคนเล่าว่าการใส่อุปกรณ์ป้องกันการติดเชื้อ หรือพีพีอี (Personal Protective Equipment) ส่งผลให้เกิดอาการปวดหัวและภาวะขาดน้ำในร่างกาย ยิ่งทำให้เครียดไปกันใหญ่

นอกจากนี้ การสำรวจยังพบว่าบุคลากรทางการแพทย์ที่ตั้งครรภ์มีความกังวลต่อสุขภาพตนและลูกในท้องอย่างมาก หลายคนพบความยากลำบากในการสร้างสมดุลระหว่างการทำงานและการดูแลครอบครัว บางส่วนไม่สามารถช่วยลูกปรับตัวเข้ากับระบบการเรียนทางไกล

บุคลากรทางการแพทย์ที่อยู่ในระบบสุขภาพที่ตอบสนองต่อโรคระบาดได้ดี และมีการดูแลสวัสดิภาพของคนทำงาน มักมีสุขภาพจิตที่ดีกว่าบุคลากรที่อยู่ในสภาพแวดล้อมการทำงานไม่ดี

การสำรวจสะท้อนว่าต้องมีการลงทุนในโครงการที่ดูแลสวัสดิภาพและความปลอดภัยของบุคลากรทางการแพทย์ หรือมีช่องทางให้ความช่วยเหลือต่างๆ เพื่อจูงใจให้คนทำงานต่ออย่างมีความหวัง

นักวิจัยให้ความเห็นว่า หากไม่มีการลงทุนดังกล่าวแล้ว อาจส่งผลต่อการเกิดภาวะหมดไฟ นำไปสู่ “การลาออกครั้งใหญ่” และส่งผลต่อคุณภาพการให้บริการในภาพรวม จึงมีข้อเสนอให้รัฐบาล สถานพยาบาล และประชาชนหาทางออกใน 6 ประเด็น

ในส่วนของรัฐบาลและสถานพยาบาล 1. ควรทำโครงการดูแลปัญหาสุขภาพจิตของบุคลากรทางการแพทย์ โดยต้องมีการออกแบบโครงการร่วมกันกับบุคลากรทางการแพทย์ เพื่อให้โครงการมีประสิทธิผล และตอบโจทย์ความต้องการของบุคลากรทางการแพทย์อย่างแท้จริง

2. สร้างระบบติดตามสุขภาพจิตและสวัสดิภาพของบุคลากรทางการแพทย์ รวมทั้งติดตามผลกระทบจากโรคระบาดต่อบุคลากรทางการแพทย์ในระยะยาว ในปัจจุบัน การติดตามมักอยู่ในรูปแบบของการสำรวจเป็นครั้งๆ ไม่ต่อเนื่อง ยังไม่มีระบบติดตามที่ครอบคลุมระยะเวลานานหลายปี

3. ควรหาวิธีจูงใจให้บุคลากรทางการแพทย์ขอรับการสนับสนุน เมื่อตนต้องการความช่วยเหลือ แทนที่จะเก็บความเครียดไว้กับตัวเอง

ในส่วนของประชาชน สามารถช่วยบุคลากรทางการแพทย์ให้ก้าวผ่านความยากลำบากในช่วงโรคระบาด 4. ด้วยการเข้ารับวัคซินโควิด-19 และทำตามมาตรการป้องกันโรคอย่างเคร่งครัด เพื่อป้องกันการแพร่ระบาดของโรค อันจะส่งผลต่อการเพิ่มภาระงานของบุคลากรทางการแพทย์

5. ใช้บริการการแพทย์ฉุกเฉินเฉพาะเวลาที่จำเป็นเท่านั้น หากต้องการรับคำปรึกษาทางการแพทย์ในเรื่องที่ไม่เร่งด่วน ควรติดต่อหมอประจำบ้านก่อน จะช่วยลดภาระงานให้บุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องผันกำลังไปดูแลกรณีเร่งด่วนในกลุ่มผู้ป่วยโรคโควิด-19

6. เข้าใจและให้ความเคารพบุคลากรทางการแพทย์ ซึ่งหลายคนถูกผู้ป่วยหรือครอบครัวปฏิบัติด้วยท่าทีที่รุนแรง ในห้วงเวลาวิกฤติที่ทรัพยากรทางการแพทย์มีอยู่อย่างจำกัด

อ้างอิง
https://theconversation.com/6-ways-to-prevent-a-mass-exodus-of-health-workers-172509