ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

HITAP ชี้ 19 ปี สปสช.ประสบความสำเร็จช่วยครัวเรือนไทยมีความสามารถในการจ่ายเพิ่มขึ้น แต่อนาคตอาจต้องเผชิญความท้าทายที่ใหม่และใหญ่กว่าเดิม พร้อมลิสต์ 6 ประเด็นท้าทายระบบหลักประกันสุขภาพยุคหลังโควิด-19


นพ.ยศ ตีระวัฒนานนท์ เลขาธิการมูลนิธิเพื่อการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ และผู้ก่อตั้ง HITAP กล่าวในงานเสวนาในหัวข้อ "เข้าสู่ 2 ทศวรรษ ระบบหลักประกันสุขภาพไทยไปไกลแค่ไหน" เนื่องในโอกาสครบรอบ 19 ปี วันสถาปนาสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 19 พ.ย. 2564 ที่ผ่านมา โดยระบุว่า ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติถือเป็นนโยบายที่เป็นสมบัติของชาติ ในช่วง 19 ปีที่ผ่านมา สปสช.มีความสำเร็จในหลายๆ เรื่อง ความสำเร็จที่ตนคิดว่าน่าสนใจคือจากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติในรอบ 25 ปี พบว่ามีโครงการประชานิยมหลายโครงการมาก แต่นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อครัวเรือนมากที่สุดคือโครงการบัตรทอง 30 บาท อย่างน้อยมีสมาชิก 1 คนในครัวเรือนได้ประโยชน์จากนโยบายนี้ ทำให้เพิ่มรายรับ เพิ่มความสามารถในการจ่ายของครัวเรือนที่ใช้ระบบบัตรทอง อีกทั้งช่วยลดช่องว่างระหว่างครัวเรือนที่ใช้สิทธิข้าราชการกับสิทธิบัตรทองด้วย

นพ.ยศ กล่าวอีกว่า ในด้านการพัฒนาสิทธิประโยชน์ก็ถือว่า สปสช. มีกลไกการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ที่ดีและเป็นตัวอย่างให้หลายประเทศได้มาเรียนรู้ ความพิเศษของกลไกการเพิ่มสิทธิประโยชน์ในระบบบัตรทองคือ สปสช.ไม่ได้คิดเอาเองว่าจะเอาสิทธิอะไรมาให้ แต่เริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นของผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย มีการจัดลำดับความสำคัญของหัวข้อที่ถูกเสนอเข้ามา และมีหน่วยงานวิชาการหลายหน่วยร่วมประเมินชุดสิทธิประโยชน์ให้แก่ สปสช.

“ชุดสิทธิประโยชน์ สปสช. บางอย่างน่าสนใจมาก ในช่วงที่มีโควิด-19 ผมได้คุยกับเพื่อนต่างประเทศแล้วพบว่า สปสช. ทำในสิ่งที่ล้ำหน้าไปก่อนกาล เช่น นโยบายล้างไตที่บ้าน พอมีโควิดแล้วทางยุโรปมีคนไข้ล้างไตจำนวนมากเสียชีวิตเพราะเข้าไม่ถึงการล้างไต แต่ไทยมีความสมดุลทั้งการล้างไตทางช่องท้องและฟอกเลือด ทำให้คนไข้จำนวนมากยังคงสามารถล้างไตได้และไม่เป็นภาระที่ศูนย์ล้างไต นอกจากนี้ยังมีโครงการรับยาที่ร้านยา รับยาทางไปรษณีย์ เป็นต้น”นพ.ยศ กล่าว

อย่างไรก็ดี ในอนาคตระบบหลักประกันสุขภาพอาจต้องเผชิญความท้าทายที่ใหม่และใหญ่กว่าเดิม ตัวอย่างเช่น ขณะนี้มียารักษาโรคหายากที่แพงที่สุดในโลกประมาณ 70-100 ล้านบาทและเป็นยาตัวเดียวที่รักษาได้ สปสช.จะทำอย่างไร หรือ ที่อังกฤษ รัฐบาลอังกฤษตกลงกับบริษัทยาในการจ่ายค่ายาปฏิชีวนะแบบรายปีให้บริษัทยาโดยไม่ขึ้นกับจำนวนยาที่ใช้ แต่ถ้าคนไข้ต้องการใช้ยาก็สามารถเข้าถึงยาได้ตลอดเวลา บริษัทดังกล่าวได้สอบถามว่ามีความเป็นไปได้ในการทำข้อตกลงลักษณะนี้กับไทยหรือไม่ สิ่งเหล่านี้คือความท้าทายและมีการบ้านอีกเยอะที่ สปสช. จะต้องทำ

นอกจากนี้แล้ว สปสช.ยังต้องเผชิญกับความท้าทายในประเด็นเรื่องระบบสุขภาพหลังโควิด-19 โดยสามารถสรุปได้ใน 6 ประเด็นคือ 1.บุคลากร ปี 2563 รัฐบาลรับบุคลากรสาธารณสุขเข้าระบบราชการเพิ่มขึ้น 3 หมื่นคน ในระยะยาวจะเกิดแรงกดดันกับระบบหลักประกันสุขภาพอย่างมหาศาลเพราะเงินเดือนบุคลากรสาธารณสุขถูกผูกกับงบเหมาจ่ายราย

2.ปัญหาโลกร้อนที่ส่งผลต่อเนื่องมาสู่ปัญหาอุทกภัย วาตภัย และโรคอุบัติใหม่ สปสช.จะมีชุดสิทธิประโยชน์อย่างไรสำหรับประเด็นเหล่านี้ 3.สังคมสูงอายุ เป็นความท้าทายด้านสุขภาพที่ถูกพูดถึงอยู่บ่อยครั้งอยู่แล้ว 4. องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น สปสช.มีกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับตำบลซึ่งน่าจะต่อยอดได้อีกมากในการเชื่อมการทำงานระหว่าง สปสช.และท้องถิ่นซึ่งจะเป็นกำลังสำคัญของระบบปฐมภูมิ

5.ยามหาแพงดังที่ยกตัวอย่างไปข้างต้นจะมีออกมาสู่ตลาดอีกมากในอนาคต ราคายาอาจสูงถึงหลัก 10-100 ล้าน บาท รวมทั้งเรื่อง digital health จะมา disrupt บริการสาธารณสุขอีกมาก และ 6.การแพทย์มนุษยธรรม ชุดสิทธิประโยชน์ในอนาคตคงต้องพูดด้วยว่าเมื่อ upskill และ reskill บุคลากรแล้ว ทำอย่างไรจะให้มีการแพทย์ที่มีมนุษยธรรม มีมนุษยสัมพันธ์ที่ดีด้วย