ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมสุขภาพจิต คิกออฟ "สมุทรปราการ" นำร่องประเมินสุขภาพจิตเชิงรุกเป็นจังหวัดแรก พบประชาชน-เจ้าหน้าที่ เสี่ยงภาวะเครียด-ซึมเศร้า-หมดไฟ กว่า 40-50% เร่งให้การดูแลเยียวยาจิตใจ พร้อมชวนคนไทยประเมินตนเองผ่าน "www.วัดใจ.com"


กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ประกาศ Kick-off ปฏิบัติการเชิงรุกกดูแลจิตใจ “สุขภาพจิตไทย วัดใจไปพร้อมกัน” จ.สมุทรปราการ เมื่อวันที่ 11 พ.ย. 2564 เพื่อกระตุ้นให้สังคมตระหนักถึงความสำคัญของการประเมินสุขภาพจิต หรือการวัดใจตนเองอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ จนกลายเป็นหนึ่งในหลักการดำเนินชีวิตวิถีใหม่ หรือ New Normal

นพ.นเรศฤทธิ์ ขัดธะสีมา นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดสมุทรปราการ เปิดเผยว่า จ.สมุทรปราการ ได้ตระหนักถึงความสำคัญในการดูแลสุขภาพจิตของประชาชน และบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ โดยเฉพาะในส่วนของผู้ให้บริการทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่สาธารณสุข หรือหน่วยตอบโต้ภาวะฉุกเฉิน ซึ่งเป็นกลุ่มเสี่ยงที่อาจมีความเครียดเพิ่มมากขึ้นในระหว่างการระบาดของโรคโควิด-19 

ทั้งนี้ จึงดำเนินการประเมินสุขภาพจิตด้วยเครื่องมือ Mental Health Check in และส่งต่อข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตให้แก่พื้นที่ เพื่อดำเนินการวางแผนเยียวยาจิตใจต่อไป โดยมีการประเมินและดูแลสุขภาพจิตบุคลากรสาธารณสุขในพื้นที่ปีละ 2 ครั้ง ตลอดจนมีการออกหน่วยรถโมบายคลายเครียดสัญจร จากกรมสุขภาพจิต เพื่อประเมินภาวะสุขภาพจิตสำหรับประชาชน ให้คำปรึกษา เยียวยาจิตใจบุคลากร และประชาชนในพื้นที่

นพ.นเรศฤทธิ์ กล่าวว่า จากการคัดกรองสุขภาพจิตบุคลากรสาธารณสุข จ.สมุทรปราการ เดือน ก.ย. 2564 โดยแบ่งการคัดกรองดังกล่าวออกเป็น 3 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ปฏิบัติงานในโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) พบว่าบุคลากรสาธารณสุขด่านหน้ามีความเครียดในระดับสูงถึงสูงมาก และมีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า

นายศุภมิตร ชิณศรี รองผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรปราการ กล่าวว่า จากข้อมูลการประเมินสุขภาพจิตด้วย Mental Health Check in ใน จ.สมุทรปราการ พบผู้ที่มีความเครียดมากถึงมากที่สุด 40% มีความเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้า 59.5% มีภาวะเสี่ยงหมดไฟ 41.9% และมีความเสี่ยงในการฆ่าตัวตาย 27.2%

นายศุภมิตร กล่าวว่า จ.สมุทรปราการ ให้ความสำคัญกับการดูแลสุขภาพจิตเป็นอย่างยิ่ง โดยได้บูรณาการการสนับสนุนช่วยเหลือทางสุขภาพจิต ที่มุ่งดูแลสุขภาพจิตใจควบคู่ไปกับการดูแลสุขภาพกายของผู้ป่วย ผู้ที่ถูกกักตัว ประชาชนทั่วไป รวมถึงบุคลากรสาธารณสุขที่เป็นแนวหน้าของการต่อสู้กับโรคระบาด ซึ่งเป็นส่วนสำคัญของงานป้องกันและควบคุมการแพร่ระบาดของโรค

"การดูแลสุขภาพจิตนี้ จะช่วยบรรเทาความเครียด วิตกกังวลของครอบครัวที่ต้องเผชิญหน้ากับวิกฤต ช่วยเหลือผู้ป่วยที่รักษาหายและครอบครัวของพวกเขา ให้สามารถกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างปกติสุข ป้องกันโรคทางจิตเวชที่อาจจะเกิดมาจากการถูกตีตรา และช่วยเหลือประชาชนทั่วไปให้สามารถรับมือกับสภาวะอารมณ์ด้านลบ จากการต้องกักกันตนเองอยู่แต่ในบ้านเป็นเวลานาน" นายศุภมิตร กล่าว

สำหรับกิจกรรมปฏิบัติการเชิงรุกการดูแลจิตใจ “สุขภาพจิตไทย วัดใจไปพร้อมกัน” จ.สมุทรปราการ ได้ดำเนินการระหว่างวันที่ 11-24 พ.ย. 2564 โดยศูนย์สุขภาพจิตที่ 6 กรมสุขภาพจิต และโรงพยาบาลยุวประสาทไวทโยปถัมภ์ เพื่อรณรงค์ให้เกิดการประเมินสภาพจิตใจ และแก้ปัญหาด้านสุขภาพจิต โดยให้บริการตรวจวัดระดับความเครียดด้วยเครื่องไบโอฟีดแบ็ค (Biofeedback) หรือเครื่องวัดระดับความเครียดอัตโนมัติ ซึ่งสามารถประเมินความสมดุลระหว่างความเครียดกับความผ่อนคลาย

พร้อมกันนี้ยังให้คำปรึกษาและแนะนำการดูแลจิตใจ หรือการปฐมพยาบาลทางใจให้กับเจ้าหน้าที่และประชาชน ที่พบว่าภาวะความเครียดสูงเพื่อป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในอนาคต โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ได้แก่ คณะผู้บริหาร และบุคลากรสาธารณสุขระดับโรงพยาบาล สำนักงานสาธารณสุขอำเภอ และโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล

ด้าน พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวว่า ในช่วงสัปดาห์สุขภาพจิตแห่งชาติ เมื่อวันที่ 1-7 พ.ย.ที่ผ่านมา กรมสุขภาพจิตได้จัดกิจกรรมภายใต้แนวคิด “สุขภาพจิตไทย วัดใจไปพร้อมกัน” ซึ่งได้รับความสนใจจากพี่น้องประชาชนเป็นอย่างมาก จึงขยายผลและดำเนินการจัดกิจกรรมรณรงค์อย่างต่อเนื่องตลอดทั้งเดือน เพื่อกระตุ้นให้พี่น้องประชาชนหมั่นประเมินสุขภาพจิตหรือวัดใจตนเอง และคนรอบข้างอย่างสม่ำเสมอ

พญ.อัมพร กล่าวว่า ปัญหาด้านสุขภาพจิตที่พบได้บ่อยในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 ได้แก่ ปัญหาความเครียด ความเสี่ยงซึมเศร้า ความเสี่ยงฆ่าตัวตาย และภาวะอ่อนล้าหมดไฟ โดยการวัดใจของตนเองนั้นทำได้โดยง่ายผ่านแพลตฟอร์ม www.วัดใจ.com ซึ่งเมื่อทราบระดับสุขภาพจิตของตนเองแล้ว ก็จะสามารถเข้าสู่ช่องทางการให้ความช่วยเหลือด้านสุขภาพจิตได้อย่างรวดเร็ว