ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“การเชื่อมต่อฐานข้อมูลด้านสุขภาพ” เป็นประเด็นที่ถูกพูดถึงในช่วงโควิด-19 แพร่ระบาดเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในช่วงที่ประเทศไทยต้องสาละวนอยู่กับการบริหารจัดการเตียง จนเกิดเป็นความอลหม่านครั้งใหญ่

หากว่ากันในเชิงอุดมคติ การบูรณาการและการเชื่อมต่อฐานข้อมูลด้านสุขภาพ จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพของการเบิกจ่าย การรักษา และการให้บริการประชาชน ทำให้ประชาชนเข้าถึงการบริการและการรักษาอย่างมีประสิทธิภาพ และต่อเนื่อง

กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) จึงได้ร่วมกับ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม กระทรวงแรงงาน และกระทรวงการคลัง เดินหน้าปฏิรูประบบสาธารณสุข Big Rock 1 ขับเคลื่อนโครงการยุติโรคระบาดด้วยนวัตกรรม โดยการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ (EPI: Ending Pandemics through Innovation)

การจะขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการขึ้นจริง จำเป็นต้องมีองค์ประกอบ 3 ส่วนหลักๆ ได้แก่ Data Repository,  Data Standard และ Governance body

รศ.ดร.ธีรณี อจลากุล ผู้อำนวยการสถาบันส่งเสริมการวิเคราะห์และบริหารข้อมูลขนาดใหญ่ภาครัฐ (GBDi) อธิบายว่า Data Repository คือการบูรณาการฐานข้อมูลเพื่อการใช้ประโยชน์ เพื่อที่ภาครัฐและประชาชนจะใช้ประโยชน์ได้

ทุกวันนี้ ประเทศไทยมีการวางระบบฐานข้อมูลไว้อยู่แล้ว เรามีฐานข้อมูล DMS HIE ในโรงพยาบาลสังกัดกรมการแพทย์ มี H4U ในโรงพยาบาลคู่สัญญาของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มี Health link ในโรงพยาบาลมหาวิทยาลัย โรงพยาบาลเอกชน โรงพยาบาลตำรวจ โรงพยาบาลทหาร และยังมี Co-link เป็นระบบเชื่อมโยมโดยกรมการแพทย์ที่ทำการส่งต่อไปยัง สปสช.

เมื่อเรามีระบบวางไว้อยู่แล้ว การ Linkage hub จึงไม่ใช่เรื่องไกลตัว

รศ.ดร.ธีรณี บอกว่า ในอนาคตอันใกล้นี้ ยังได้มีการวางแผนจะเชื่อมต่อฐานข้อมูลของ 3 กองทุนเข้ากับฐานข้อมูลสาธารณสุข หลังจากนั้นจะมีการพัฒนาการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขโดยใช้เลขประจำตัวประชาชน 13 หลัก ส่วนแรงงานต่างด้าวที่ไม่มีเลขบัตรประจำตัวประชาชน สปสช. ได้หาทางแก้ไขร่วมกับกรมการปกครองเพื่อให้เรื่องสุขภาพขยับต่อไปได้แล้ว

“ก้าวแรกของการขับเคลื่อนให้เกิดการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ ได้มีการพูดคุยเบื้องต้นในการเชื่อม H4U, DMS HIE, Health link และ Co-link เข้าด้วยกัน โดยได้เลือก 13 หัวข้อในการเชื่อมโยงเข้าด้วยกันแล้ว และขณะนี้ Health link ในแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ได้ถูกใช้สำหรับ KYC และการยื่น Consent ของคนไข้แล้ว

“นอกจากนี้ยังได้มีการตั้งเป้า 1. สร้าง Linkage hub แล้วทำการทดสอบในเขตสุขภาพที่ 13 ภายในเดือน มี.ค.ปีหน้า 2. ทำการเชื่อม Health link และ H4U ทำการทดสอบข้ามระบบใน 5 จังหวัด 34 โรงพยาบาล ในเขตสุขภาพที่ 7 และ 9 นำร่องในจังหวัดบุรีรัมย์ 3. สร้างหน้าจอเพิ่มใน H4U สำหรับฐานข้อมูลในเขต 13 เพื่อดึงข้อมูลจาก Health link มาโชว์ คาดว่าทั้งหมดนี้จะสามารถทำได้ในระยะเวลา 1 ปี” รศ.ดร.ธีรณี กล่าว

ในส่วนของ Data Standard มาตรฐานข้อมูลสุขภาพ “รศ.ดร.ธีรณี” อธิบายว่า เนื่องจากประเทศไทยมีมาตรฐานชุดข้อมูลส่งคนไข้นอกและคนไข้ใน จึงได้มีการเสนอให้จัดทำมาตรฐาน FHIR เป็นการนำชุดข้อมูลที่มีอยู่แล้วมาใช้ประโยชน์  สามารถดำเนินการให้เสร็จได้ในระยะเวลาอันสั้น

ดร.นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน อายุรแพทย์ และ นักเวชสารสนเทศ (Health Informatician) ผู้จัดการงานวิจัยอาวุโสสำนักพัฒนามาตรฐานระบบข้อมูลสุขภาพไทย (สมสท.) บอกว่า เนื่องจากเป็นการใช้ประโยชน์จากระบบที่ประเทศไทยมีอยู่แล้ว จึงสามารถทำให้สำเร็จได้ใน 1 ปี โรงพยาบาลส่วนใหญ่ในประเทศไทยมีการส่งเบิกในระบบ CSOP อยู่แล้ว และโรงพยาบาลศิริราชได้มีการพัฒนาเครื่องมือในการแปลงข้อมูล CSOP เป็นข้อมูลตามมาตรฐาน FHIR อยู่แล้ว สามารถนำไปใช้ในโรงพยาบาลทุกแห่งได้ทันที นอกจากนี้ GBDi มีประสบการณ์ในการทำระบบ Health link และ Co-link จึงมีความพร้อมในด้านโรงสร้างพื้นฐานของคลังเก็บข้อมูล

สำหรับประโยชน์ที่คาดว่าจะได้รับ เมื่อข้อมูลอยู่ในรูปแบบที่เป็นมาตรฐาน คลังเก็บข้อมูลสามารถบูรณาการข้อมูลจากแหล่งอื่นๆ เพิ่มเติมจาก CSOP ได้ เพียงจัดข้อมูลเหล่านั้นให้ตรงตามมาตรฐาน FHIR ส่วนระบบอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นระบบรายงาน ระบบสำหรับ clinical care หรือระบบสำหรับผู้ป่วยและญาติ สามารถนำข้อมูลไปใช้ประโยชน์ได้โดยง่าย เพราะใช้การเชื่อมต่อรูปแบบเดียวกัน และในอนาคต 2-5 ปี จะขยายออกไป ทำให้ข้อมูลทางคลินิกมีความละเอียดมากขึ้น   

“จากการระดมสมองสรุปว่า เราจำเป็นต้องมีมาตรฐานข้อมูลสุขภาพ สำหรับชุดข้อมูลที่ควรต้องมีแบ่งออกเป็น 6 กลุ่ม ได้แก่ ทะเบียนคนไข้, ผู้ใช้บริการ, โปรดักส์ต่างๆ, บริการต่างๆ, การเงิน และเทคโนโลยี และจะต้องมีการพัฒนาดูแลอย่างต่อเนื่อง มีการวิจัยและฝึกอบรม นอกจากนี้ต้องมีกลไกการอภิบาลมาตรฐานข้อมูลแห่งชาติ และต้องมีการขับเคลื่อนมาตรฐานข้อมูลสุขภาพด้วย” ดร.นพ.บุญชัย กิจสนาโยธิน กล่าวสรุป

แม้ว่ากลไกอภิบาลระบบ (Governance) จะเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เกิดการเชื่อมต่อฐานข้อมูลสาธารณสุขแบบบูรณาการ แต่ประเทศไทยยังไม่มีกลไกอภิบาลระบบด้าน digital health ที่ยั่งยืน

นพ.นวนรรน ธีระอัมพรพันธุ์ รองคณบดีฝ่ายปฏิบัติการ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า เนื่องจากเราไม่ได้เริ่มต้นจากศูนย์ ประเทศไทยมีแพลตฟอร์มหลากหลาย ถ้าจะให้ทุกแพลตฟอร์มยุบแล้วมารวมกันอยู่ในที่เดียวคงเป็นไปได้ยาก

ฉะนั้นในระยะสั้น ควรทำให้ sub-platforms ต่างๆ ที่มีอยู่เชื่อมโยงกันได้ ส่วนในระยะยาว ขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของ Governance body ในเชิงความพร้อม ความเป็นไปได้ และโจทย์ด้านประสิทธิภาพของระบบ

Governance ที่ดีควรมีความยั่งยืนในระยะยาว มีความต่อเนื่องในการดำเนินงาน กำหนดหน้าที่และอำนาจที่ชัดเจน รวมทั้งผลที่อาจเกิดขึ้นหากหน่วยงานไม่ดำเนินการตามที่กำหนด ควรหาจุดร่วมที่เห็นตรงกัน มีเป้าหมายร่วมกัน ลดความเป็นเจ้าของ เน้นความไว้วางใจ และความรับผิดชอบ ทุกฝ่ายได้ประโยชน์โดยรวม

“นอกจากกลไก Governance ระดับชาติแล้ว ภายในหน่วยงานควรมีหน่วยงานด้านไอทีและดาต้ามารองรับงานระดับปฏิบัติการของหน่วยงานด้วย และจำเป็นต้องมีกลไกกำกับดูแลคุณภาพของข้อมูลด้วย เพื่อลดผลกระทบจากการนำข้อมูลที่มีปัญหาไปใช้” นพ.นวนรรน กล่าวสรุป