ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ฮุกกะ” เป็นแอปพลิเคชันที่ได้รับการพัฒนาโดยทีมไอที โรงพยาบาลราชบุรี บนความตั้งใจที่จะลดปัญหาความแออัด-รอคิว ในโรงพยาบาล

ที่มาที่ไปของแอปพลิเคชันฮุกกะ “The Coverage” เคยบอกเล่าไว้ผ่าน https://www.thecoverage.info/news/content/2845 มาแล้ว ซึ่งชัดเจนว่า แอปพลิเคชันนี้ยังประโยชน์ให้กับระบบสุขภาพ และสนับสนุนระบบบริการได้จริง จนนำมาสู่การคว้ารางวัล “นวัตกรรมซอฟต์แวร์” จากศูนย์เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข รางวัล “Smart Hospital” และรางวัล “รองชนะเลิศ R2R Future Health Care” อีกด้วย

แม้ว่าจะสำเร็จ แต่สำหรับทีมพัฒนาแอปพลิเคชันยังมองว่า “นี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น” เพราะแท้ที่จริงแล้ว “ฮุกกะ” ยังทำอะไรได้อีกมากมาย

ในวันที่ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ยกระดับการตรวจสอบด้วยการจัดระบบยืนยันตัวตนก่อนเข้ารับบริการสาธารณสุข หรือ “Authen” ซึ่งจะช่วยเพิ่มความรวดเร็วในการจ่ายเงินชดเชยค่าบริการ รวมไปถึงป้องกันการถูกสวมสิทธิ์ ฯลฯ

นี่คือโอกาสของฮุกกะ และถือเป็นการเดินทางครั้งใหม่

“The Coverage” พูดคุยกับ กิตติ ลิ้มทรงธรรม หัวหน้างานไอที โรงพยาบาลราชบุรี จังหวัดราชบุรี ประจำเขตสุขภาพที่ 5 อีกครั้ง ถึงการพัฒนาแอปพลิเคชันฮุกกะ ร่วมกันพัฒนาระบบ Authen เพื่อรองรับระเบียบของ สปสช.

เขาและทีมงานใช้ระยะเวลาพัฒนาเพียง 1 เดือน และเปิดให้ดาวน์โหลดใช้งานแล้ว เมื่อช่วงกลางเดือนตุลาคมที่ผ่านมา

“กิตติ” เล่าให้ฟังว่า หลังจากที่มีการใช้ระบบ Authen ใหม่ ทำให้โรงพยาบาลต่างๆ ไม่มีโปรแกรมสนับสนุนการทำงาน โดยส่วนที่จะช่วยหน้างานได้มากที่สุดคือ การให้ผู้ป่วยนำบัตรประชาชนมาที่โรงพยาบาลเพื่อทำการยืนยันก่อนเข้ารับบริการ ซึ่งฮุกกะได้พัฒนามารองรับเพื่อให้โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการที่นำไปใช้สามารถเบิกจ่ายกับ สปสช. ได้สะดวกขึ้น

สำหรับระบบ Authen ภายใต้แอปฯ ฮุกกะจะใช้คู่กับ “เครื่องเสียบบัตร” กล่าวคือ เพียงนำบัตรประชาชนมาเสียบ ก็สามารถยืนยันตัวตนได้เพียง 3-5 วินาทีเท่านั้น

2

จึงถือเป็นการลดขั้นตอนการยืนยันตัวตนได้เหลือเพียงขึ้นตอนเดียว จากของเดิมที่หน่วยบริการจะต้องล็อกอินเข้าระบบ และทำการกรอกข้อมูลผู้ป่วยรายคนอยู่ราว 5 ขั้นตอน ทำให้จากเดิมที่ฮุกกะถูกใช้เพื่อรอคิวเป็นส่วนมาก ก็ได้เพิ่มระบบตัวนี้เข้ามาเพื่อให้ตอบโจทย์การใช้งานที่กว้างมากขึ้นด้วย

ส่วนอีกหนึ่งอย่างคือช่วยเจ้าหน้าที่ที่ออกไปให้บริการนอกโรงพยาบาล เช่น เจาะเลือด ฉีดวัคซีนให้เด็ก ตรงนี้ก็จะสามารถนำออกไปใช้ได้ เพียงแค่ใช้คอมพิวเตอร์ โปรแกรมฮุกกะ และเครื่องเสียบบัตร ไม่ต้องย้อนกลับมาทำที่โรงพยาบาล

สำหรับระบบการยืนยันตัวตน หากผู้ป่วยมารับบริการปกติ ในอดีตจะต้องรับคิวก่อน และจึงไปทำการยืนยันตัวตนได้ ฮุกกะจึงพัฒนาให้ผู้ป่วยสามารถยืนยันตัวตนพร้อมกับการรับคิวได้ ส่วนอีกกรณีหากผู้ป่วยไม่มีคิวก็สามารถไปยืนยันตัวตนได้โดยไม่ต้องเสียเวลาสแกน QR Code รวมไปถึงเจ้าหน้าที่เองก็ไม่ต้องเสียเวลาล็อกอินยืนยันตัวตนผู้ป่วยทีละคนด้วย

ถึงกระนั้นแม้ว่าผู้ป่วยจะกดเพื่อรอคิวมาแล้ว แต่การยืนยันตัวตนยังต้องใช้การนำบัตรประชาชนมาเสียบที่เครื่องอ่านบัตรบริเวณจุดบริการ เนื่องจากการยืนยันตัวตนที่ สปสช. กำหนดไว้ไม่สามารถทำผ่านออนไลน์ได้

กิตติ อธิบายเพิ่มเติมว่า การพัฒนาระบบ Authen ของฮุกกะนั้น สิ่งที่เป็นประโยชน์ที่สุดคือการลดขั้นตอนและลดภาระงานของเจ้าหน้าที่ โดยเฉพาะเจ้าหน้าที่จากโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่อาจจะมีเจ้าหน้าที่ 3 คน ที่จะต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบของ สปสช. รายคน แต่เมื่อ สปสช. ปรับระบบใหม่ให้เป็น New Authen ตรงนี้ก็จะเป็นการเชื่อมโยงข้อมูลผ่านระบบ API ได้ Token มา โดยไม่จำเป็นต้องยึดติดกับเจ้าหน้าที่ 3 คนอีกต่อไป

“แต่ สปสช. บอกว่าต้องเขียนโปรแกรมส่งข้อมูลเอง เลยเป็นที่มาว่า รพ. สต. หรือโรงพยาบาลเล็กๆที่ไม่มีศักยภาพในการพัฒนาโปรแกรม จะไม่มีโปรแกรมในการส่งข้อมูลให้กับ สปสช. ก็เลยเอาไปช่วยโรงพยาบาลเหล่านั้น”

รวมไปถึงอีกหนึ่งสิ่งที่เพิ่งเกิดขึ้นเมื่อเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นั่นคือมี รพ.สต.บางแห่ง ถ่ายโอนภารกิจไปอยู่กับองค์การบริหารส่วนจังหวัด (อบจ.) ทำให้ รพ.สต. ที่ไม่ได้อยู่ในระบบของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) สามารถเคลมค่าบริการกับ สปสช. ได้โดยไม่มีหลุด

3

ขณะนี้ฮุกกะได้ขยายการให้บริการครอบคลุมแล้วในเขตสุขภาพที่ 5 โดยมีหน่วยบริการไม่ว่าจะเป็นโรงพยาบาล หรือ รพ.สต. ร่วมใช้แล้วราว 960 แห่ง และมีหน่วยบริการนอกเขตสุขภาพเกือบๆ ทั่วประเทศนำไปใช้แล้วเช่นกัน ซึ่งฮุกกะจะมีทีมคอยให้คำปรึกษาเมื่อเกิดปัญหา รวมไปถึงมีเครือข่ายผู้ใช้งานจริงคอยให้คำแนะนำด้วย

กิตติ อธิบายต่อไปอีกว่า ฮุกกะยังสามารถใช้เป็น “Hospital Information Exchange (HIE) แลกเปลี่ยนข้อมูลสุขภาพได้ภายในเขต ทำให้ผู้ป่วยไม่ว่าจะไปรับบริการที่โรงพยาบาลใดภายในเขต เพียงแค่เสียบบัตรประชาชนหน่วยบริการปลายทางก็จะสามารถเห็นประวัติการรักษา ยา ฯลฯ สำหรับกรณีฉุกเฉิน

มากไปกว่านั้นยังถือเป็นการรองรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่อีกด้วย รวมไปถึงผู้ป่วยก็สามารถถือประวัติการรักษาไว้กับตัวผ่านแอปฯ ได้เช่นกัน

ช่วงสุดท้าย กิตติ ทิ้งท้ายว่า ในอนาคตสิ่งที่จะพัฒนาต่อคือการมอนิเตอร์เตียง ICU ว่าโรงพยาบาลใดมีเตียงว่างมากน้อยแค่ไหนสำหรับกรณีฉุกเฉิน เพื่อที่จะสามารถส่งให้ผู้ป่วยได้รับการรักษาทันเวลา

รวมไปถึงอยากให้เป็นจุดที่สามารถใช้ทรัพยากรทางการแพทย์ร่วมกันได้ภายในเขตสุขภาพที่ 5  เนื่องจากอุปกรณ์ทางการแพทย์ที่มีราคาแพงส่วนมากจะอยู่ที่โรงพยาบาลใหญ่ เช่น การทำรังสีรักษา ส่วนนี้อาจจะเป็นการให้โรงพยาบาลสามารถเห็นได้ว่าอุปกรณ์ดังกล่าวมีที่ไหนว่างและทำการจองคิวใช้ได้

“ตรงนี้ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องไปเริ่มต้นเพื่อขอรักษาที่โรงพยาบาลใหม่ กลายเป็นว่าต้นนี้ก็สามารถทำออนไลน์ได้ทำคิ้วได้แล้วก็ให้คำปรึกษาผ่านระบบออนไลน์ซึ่งผู้ป่วยก็จะสามารถไปในวันที่ทำเลยได้ไม่ต้องย้ายโรงพยาบาลไปมาเพื่อเริ่มใหม่หลายรอบ”