ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อดีตอาจารย์แพทย์รามาฯ สะท้อนความเห็น หวังรัฐกระจายหมอเฉพาะทางไปชุมชนมากขึ้น เชื่อเพิ่มประสิทธิภาพดูแลผู้ป่วย ชี้การกำหนดนโยบายสุขภาพในอนาคต ต้องเชื่อมโยงเรื่องเศรษฐกิจ-สังคมด้วย


.นพ.ไพบูลย์ สุริยะวงศ์ไพศาล อดีตอาจารย์คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี เปิดเผยกับ The Coverage ถึงการสร้างนโยบายสุขภาพจากรัฐบาล หรือผู้ที่กำหนดนโยบาย โดยระบุว่า ทิศทางของระบบบริการสุขภาพในอนาคต สำหรับประเทศไทยจะต้องเป็นนโยบายที่สอดคล้องกับสภาพของเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งในอนาคตทุกเรื่องจะเกี่ยวข้องกับเรื่องสุขภาพแทบทั้งหมด ดังนั้น การวางแผนนโยบายสุขภาพของรัฐบาล จะต้องคำนึงถึงประเด็นทางสังคมในด้านต่างๆ ที่เกี่ยวข้องด้วย

ทั้งนี้ ในอนาคตจะเกิดความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี และองค์ความรู้ใหม่ๆ ที่ประชาชนจำเป็นต้องรู้เกี่ยวกับด้านสุขภาพ เพื่อเป็นการดูแลตัวเองก็จะมากขึ้นด้วย ดังนั้น รัฐจะต้องวางแผนในการให้ประชาชนมีองค์ความรู้ด้านสุขภาพอย่างครอบคลุมมากขึ้น ทั้งชุมชนในเขตเมือง และชุมชนห่างไกล ควบคู่ไปกับการพัฒนาระบบสุขภาพในด้านต่างๆ เพื่อเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ต่างๆ ให้กับประชาชน

นอกจากนี้ ในประเด็นความเหลื่อมล้ำระหว่าง 3 กองทุนสุขภาพก็ยังคงเป็นประเด็นที่รอให้เกิดการแก้ไข โดยเฉพาะเสียงส่วนใหญ่ในสังคมที่มาจากภาคประชาชนอยากเห็นการรวมกองทุนสุขภาพให้เป็นกองทุนเดียวกัน เพื่อให้เกิดมาตรฐานการรักษา และการเข้าถึงสิทธิด้านสุขภาพต่างๆ ของคนไทยเหมือนกัน ซึ่งก็ต้องติดตามว่ารัฐบาลจะเห็นความสำคัญกับเรื่องนี้และขับเคลื่อนด้วยหรือไม่

ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าวด้วยว่า แต่ในระยะสั้นที่จะเป็นแนวทางการพัฒนาระบบบริการสุขภาพได้ คือการเพิ่มและขยายหน่วยบริการสาธารณสุขในพื้นที่ห่างไกล รวมถึงพัฒนาหน่วยบริการสาธารณสุขระดับปฐมภูมิ โรงพยาบาลชุมชนให้มีประสิทธิภาพ และเท่าเทียมกันทุกพื้นที่ โดยเฉพาะการกระจายบุคลากรแพทย์ไปยังพื้นที่ต่างๆ รวมถึงสร้างแรงจูงใจให้กับแพทย์ไปทำงานในชุมชนมากขึ้นด้วย เพราะปัจจุบันยังพบว่าแพทย์ส่วนใหญ่จะเลือกพื้นที่ทำงาน โดยเฉพาะในเมืองใหญ่มากกว่าเขตชนบท

"การกระจายแพทย์ที่เชี่ยวชาญไปยังพื้นที่ต่างๆ จะเป็นการลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่แตกต่างกันได้ เพราะประสิทธิภาพการรักษาพยาบาลในทุกโรค หรืออุบัติเหตุจะมีความเท่าเทียมกัน ผู้ป่วยได้รับการรักษาอย่างรวดเร็วไม่ว่าจะอยู่พื้นที่ห่างไกลก็ตาม" ศ.นพ.ไพบูลย์ กล่าว