ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลจีนเดินหน้านโยบายต้าน ‘คอร์รัปชันในวงการแพทย์’ อย่างเข้มข้น เพื่อลดภาระค่าใช้จ่ายในระบบสุขภาพที่เกิดจากการติดสินบนแพทย์ ขณะที่กลุ่มแพทย์แสดงความกังวลต่อผลกระทบของนโยบายต่อภาพลักษณ์ ซึ่งอาจส่งผลต่อการขึ้นเงินเดือนของแพทย์ และความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วย 

เมื่อวันที่ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา นิตยสารทางการแพทย์ เดอะแลนเซท (The Lancet) เผยแพร่บทความของนักวิชาการจากมหาวิทยาลัยปักกิ่ง ชอน หยวน (Shawn Yuan) ระบุว่า รัฐบาลจีนกำลังสอบสวนกรณีการติดสินบนแพทย์ ซึ่งเป็นปัญหาซ่อนใต้พรมมานาน 

ตั้งแต่ต้นเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา รัฐบาลจีนเริ่มณรงค์ต้านคอร์รัปชันในวงการแพทย์อย่างเข้มข้น โดยมีการติดป้ายประกาศเจตนารมณ์ต้านการรับสินบนตามอาคารในโรงพยาบาล หรือห้ามตัวแทนบริษัทยาเข้าพบแพทย์เพื่อนำเสนอขายสินค้า ทั้งยังตั้งฮอทไลน์และเว็บไซต์เพื่อให้ประชาชนรายงานกรณีการคอร์รัปชันในวงการสุขภาพ

ขณะที่คณะกรรมการของรัฐบาล ได้ทำการสอบสวนผู้อำนวยการโรงพยาบาลไปแล้วมากกว่า 150 แห่ง ถือเป็นการตรวจสอบวงการแพทย์ครั้งใหญ่อย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน ส่งผลให้หุ้นที่เกี่ยวข้องกับอุตสาหกรรมสุขภาพตกลงอย่างรวดเร็ว

การศึกษาของมหาวิทยาลัยปักกิ่งในระหว่างปี 2556-2562 พบว่า การติดสินบนเกือบทั้งหมด เกี่ยวข้องกับการขายสินค้าของบริษัทยา อุปกรณ์ทางการแพทย์ และสินค้าด้านสุขภาพ ทั้งนี้ ยังพบกรณีผู้ป่วยจ่ายเงินพิเศษให้แพทย์เพื่อได้รับการรักษาที่มีคุณภาพ 

หนึ่งในกรณีการติดสินบนที่มีการรายงานก่อหน้านี้ คือกรณีที่รองผู้อำนวยการโรงพยาบาลแห่งหนึ่ง ถูกกล่าวหาว่ารับเงินสินบทจากบริษัทยามากกว่า 3.29 ล้านหยวน (15.9 ล้านบาท) 

อีกกรณีคือ ผู้อำนวยการของโรงพยาบาลแห่งหนึ่งในมลรัฐยูนนาน ได้รับเงินจากบริษัทขายอุปกรณ์ทางการแพทย์มากถึง 16 ล้านหยวน (77 ล้านบาท) จากการผลักดันให้โรงพยาบาลซื้อเครื่องตรวจโรคด้วยงบประมาณ 35.2 ล้านหยวน (170 ล้านบาท)

นอกจากนี้ ยังมีรายงานว่าบุคลากรทางการแพทย์ 403 คน ในเขตจิงต่ง มลรัฐยูนนาน นำสินบนมาส่งมอบให้เจ้าหน้าที่รัฐ ภายหลังรัฐบาลกลางประกาศปราบปราบคอร์รัปชันเมื่อเดือน ก.ค. ที่ผ่านมา เพราะกังวลว่าตนเองจะโดนลงโทษ

หยาง ยีลี่ (Yang Yili) นักกฎหมายเชี่ยวชาญด้านการคอร์รัปชัน ระบุว่า ค่าสินบนหรือค่าคอมมิชชั่นที่บริษัทยาให้กับแพทย์ อาจมีอัตราส่วนมากถึง 50% ของราคาสินค้า 

ทางด้าน ซู เซี่ยนหรัน (Xu Xianrun) นักวิเคราะห์นโยบายสุขภาพจีน กล่าวว่า ผู้ป่วยเป็นผู้รับเคราะห์จากการติดสินบนมากที่สุด โดยเฉพาะเมื่อแพทย์เลือกใช้ยาที่มีราคาแพงตามคำชักชวนของบริษัทยา ทำให้ผู้ป่วยและรัฐบาลจ่ายค่าบริการที่แพงมากยิ่งขึ้น 

ซูเชื่อว่า เศรษฐกิจตกต่ำเป็นเหตุผลหลักที่รัฐบาลประกาศต้านคอร์รัปชันในวงการแพทย์ ซึ่งใช้เงินมหาศาลเพื่อต้านการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา 

ขณะที่ นักวิจัยด้านสุขภาพโลก ยานจง ฮวง (Yanzhong Huang) เห็นตรงกัน พร้อมเสริมว่าการต้านคอร์รัปชันน่าจะมาจากความพยายามของรัฐบาลจีน ในการแก้ปัญหาบริการสุขภาพราคาแพงในระยะยาว ทำให้คนเข้าถึงบริการสุขภาพ มีสุขภาพดี กระตุ้นการบริโภคภายในประเทศ

ถึงแม้นโยบายการต้านคอร์รัปชันจะได้รับการยอมรับจากสาธารณชน แต่ก็มีความกังวลต่อประสิทธิภาพของนโยบาย และการเลือกปฏิบัติ โดยในกลุ่มผู้บริหารโรงพยาบาล 150 คนที่ถูกสอบสวน ส่วนใหญ่มาจากโรงพยาบาลท้องถิ่น ไม่พบรายชื่อแพทย์ที่มาจากโรงพยาบาลใหญ่ในเมือง

มีบุคลากรแพทย์บางส่วนแสดงความกังวลต่อผลกระทบของนโยบายต่อความก้าวหน้าทางอาชีพ เพราะสร้างภาพลักษณ์ไม่ดีต่อวงการแพทย์เป็นวงกว้าง ส่งผลต่อการหาแรงสนับสนุนให้ยกระดับวิชาชีพแพทย์ โดยเฉพาการเพิ่มะอัตราเงินเดือน ซึ่งยังอยู่ในเกณฑ์ต่ำเมื่อเทียบกับภาระงานปัจจุบัน

แพทย์รายหนึ่งให้ข้อมูลกับเดอะแลนเซทว่า การยอมรับสินบนสะท้อนสภาพแวดล้อมการทำงานของแพทย์ที่ได้รับค่าแรงไม่เพียงพอต่อการใช้ชีวิต และนโยบายของรัฐบาลจีนอาจทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างแพทย์และผู้ป่วยย่ำแย่ลง หากมีการเหมารวมว่าแพทย์ทุกคนเกี่ยวข้องกับคอร์รัปชัน

ผู้ป่วยรายหนึ่งให้ความเห็นว่า หากนโยบายต้านคอร์รัปชันไม่ทำควบคู่กับการเพิ่มค่าตอบแทนให้แพทย์อย่างเหมาะสม แพทย์จำนวนมากอาจลาออกจากระบบ สร้างภาวะกดดันให้แพทย์ที่เหลืออยู่ 

นักวิจัยฮวง กล่าวเสริมว่า นโยบายนี้สามารถออกแบบไปสู่การปฏิรูประบบสุขภาพในอนาคตได้ โดยต้องมีการพิจารณาการสร้างความเป็นอยู่ที่ของแพทย์ไปพร้อมๆ กัน 

อ่านบทความต้นฉบับที่
https://www.thelancet.com/journals/lancet/article/PIIS0140-6736(23)01785-3/fulltext