ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ในเดือนแรกๆ ที่โรคโควิด-19 ระบาด นักวิทยาศาสตร์ต่างเชื่อว่า จะสามารถจัดการกับเชื้อโควิด หรือ SARS-CoV-2 ได้ และเชื้อจะต้องหายไปจากโลกนี้ ในลักษณะเดียวกับการหายไปของโรคซาร์ที่ระบาดในปี 2546

แต่ไม่นานนัก กลับมีรายงานพบเชื้อกลายพันธุ์ในแอฟริกาใต้ ที่ทำให้คนที่เคยติดเชื้อแล้ว สามารถติดซ้ำได้อีก ขณะที่ในสหราชอาณาจักร ก็พบเชื้อโควิดกลายพันธุ์ที่แพร่กระจายได้ง่ายขึ้น 50% เชื้อกลายพันธุ์ยังพบในบราซิล ทำให้เกิดการระบาดระลอกสอง

รายงานเชื้อกลายพันธุ์ในประเทศต่างๆ ได้ดับฝันของนักวิทยาศาสตร์ที่เคยคาดเดาว่าโรคโควิด-19 จะหยุดยั้งได้เหมือนโรคทั่วไป ด้วยการสร้างภูมิคุ้มกันหมู่ หากมีประชากรติดเชื้อและได้รับวัคซีนอย่างครอบคลุม

“เชื้อโคโรนาไวรัสชนิด SARS-CoV-2 มีวิวัฒนาการกลายพันธุ์ได้เร็วมาก เร็วกว่าเชื้อไข้หวัดใหญ่ถึงสี่เท่า” Kathryn Kistler นักวิจัยทางด้านอณูชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยวอชิงตัน เมืองซีแอตเทิลในสหรัฐอเมริกา กล่าว

การศึกษาโดยทีมวิจัยของ Kathryn พบว่าเชื้อ SARS-CoV-2 ไม่มีแนวโน้มจะหยุดวิวัฒนาการ แม้อาจมีการกลายพันธุ์ช้าลงบ้าง แต่ก็มีแนวโน้มที่จะวิวัฒนาการปรับตัวได้เรื่อยๆ นั่นจึงทำให้ผู้ที่ติดเชื้อแล้วสามารถติดเชื้อได้อีก รวมทั้งลดประสิทธิภาพของวัคซีน ที่ต้องมีการพัฒนาสูตรอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้ทันต่อการป้องกันเชื้อกลายพันธุ์

แม้นี่จะฟังดูเหมือนข่าวร้าย แต่การศึกษาวิจัยเชื้อไวรัสโคโรนาที่ผ่านมา ก็พอแสดงให้เห็นแสงสว่างอยู่บ้าง

เมื่อเร็วๆ นี้ Rachel Eguia นักไวรัสวิทยา และหนึ่งในทีมวิจัยเชื้อโคโรนาไวรัส จากศูนย์วิจัยโรคมะเร็ง เฟรด ฮัทชินสัน (Fred Hutchinson Cancer Research Center) ในเมืองซีแอตเทิล ได้เผยแพร่การศึกษาเชื้อโคโรนาไวรัส 4 ตัวที่พบในสหรัฐอเมริกา ได้แก่ NL63, 229E, OC43 และ HKU1

โดย NL63 และ 229E พบการติดเชื้อในประชากรสหรัฐฯ มานานนับศตวรรษ ส่วน OC43 และ HKU1 เพิ่งพบในระยะช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา

มีรายงานพบการติดเชื้อทั้ง 4 ตัวในวัยเด็กถึงผู้ใหญ่ในทุกปี เป็นสาเหตุของอาการไข้หวัดใหญ่ 10-30% ในผู้ใหญ่

การตรวจเลือดของผู้ติดเชื้อ พบว่าแม้จะมีแอนติบอดีที่สร้างภูมิคุ้มกันต่อเชื้อไวรัส แต่ไม่ได้ป้องกันการติดเชื้อซ้ำ อย่างไรก็ดี ระดับแอนติบอดีจะเพิ่มสูงขึ้นเมื่อผ่านการติดเชื้อซ้ำ ทำให้ผู้ป่วยไม่มีอาการรุนแรง และลดระยะเวลาการแพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น

การศึกษายังพบว่าภูมิคุ้มกันอยู่ได้ประมาณ 12 เดือน จึงเป็นไปได้ที่จะติดเชื้อโคโรนาไวรัส ทั้ง 4 ตัวหลายครั้งตลอดช่วงอายุขัย จนกลายเป็นเรื่องปกติที่แทบไม่สังเกตเห็น มนุษย์กับเชื้อไวรัสจึงอยู่ร่วมกันได้ในที่สุด

อีกด้านหนึ่ง Jennie Lavine นักชีววิทยาเชิงคำนวณในบริษัท Karius ซึ่งให้บริการด้านการตรวจพันธุกรรม วิเคราะห์ว่า ต้องมีสองเงื่อนไขสำคัญ ที่จะทำให้เชื้อโควิด-19 แปรสภาพเป็นเหมือนเชื้อไข้หวัด

หนึ่ง ประชากรต้องมีภูมิคุ้มกันต่ออาการรุนแรงที่เกิดจากเชื้อ ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อซ้ำๆ และได้รับวัคซีน ทำให้ประชากรส่วนมากมีภูมิคุ้มกันในระยะยาว

อย่างไรก็ตาม วัคซีนโควิด-19 ในปัจจุบัน ยังสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มประชากรผู้ใหญ่ที่มีสุขภาพแข็งแรง ได้เพียง 6 เดือนเท่านั้น โดยยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่าจะสร้างภูมิคุ้มกันในกลุ่มเสี่ยงได้ยาวนานเท่าไร โดยเฉพาะในกลุ่มผู้สูงอายุ

สอง เชื้อโควิด-19 ต้องไม่มีผลกระทบรุนแรงต่อกลุ่มเด็ก การวิจัยที่ผ่านมาพบว่ากลุ่มเด็กมักไม่มีอาการรุนแรงเมื่อติดเชื้อ เพราะเซลล์สร้างภูมิคุ้มกันในจมูกสามารถจับไวรัสได้เร็วกว่าผู้ใหญ่ และสร้างแอนติบอดีป้องกันได้ดีกว่า แม้จะไม่ทราบชัดว่าทำไมจึงเป็นเช่นนั้น

หากยังไม่มีโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่ก่อให้เกิดอาการรุนแรงต่อเด็ก ขณะที่เด็กที่ผ่านการติดเชื้อ ก็จะมีภูมิคุ้มกันดีขึ้นจนไม่เกิดอาการรุนแรงเมื่อโตเป็นผู้ใหญ่ ทำให้ในทางทฤษฎี จะมีวันหนึ่งที่ประชากรส่วนมากมีภูมิคุ้มกันต่อโรคโควิด-19 และมีอาการไม่รุนแรง

แต่นี่อาจเป็นการคาดการณ์ที่ผิดก็ได้ เพราะปีที่ผ่านมา เชื้อโควิดได้สร้างความแปลกใจให้กับนักวิทยาศาสตร์มาหลายครั้ง

“แต่ยิ่งนักวิทยาศาสตร์ได้ศึกษากระบวนการที่ร่างกายตอบสนองต่อเชื้อและสร้างภูมิคุ้มกันมากเท่าไร เรายิ่งมีมุมมองเชิงบวกมากเท่านั้น และเชื่อว่าจุดจบของโระระบาดจะมาถึง ระบบภูมิคุ้มกันมนุษย์จะเอาเชื้อไวรัสอยู่” Paul Bieniasz นักไวรัสวิทยาจากมหาวิทยาลัยร็อกกี้เฟลเลอร์ กล่าว

สอดคล้องกับ Abraar Karan แพทย์ผู้เชี่ยวชาญด้านโรคติดเชื้อ จากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ที่เชื่อว่าเชื้อโควิด-19 จะยังอยู่กับมนุษย์ต่อไป แต่อาจไม่ก่อให้เกิดอาการรุนแรง หรือคร่าชีวิตคนมากเท่าตอนนี้

อ้างอิง
https://www.npr.org/sections/goatsandsoda/2021/10/29/1050465159/covids-endgame-scientists-have-a-clue-about-where-sars-cov-2-is-headed?utm_campaign=storyshare&utm_source=facebook.com&utm_medium=social