ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

งานมหกรรม “รวมพลคนกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เขต 5” ผนึกกำลัง ร่วมเสริมศักยภาพ กองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น พร้อมชู อปท.ผลงานเด่น แลกเปลี่ยน เรียนรู้ รุกดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ เผยปี 61 เขตสุขภาพที่ 5 มี อปท.ร่วมจัดตั้งกองทุนแล้ว 671 แห่ง   

ที่ศูนย์ประชุมอิมแพ็ค เมืองทองธานี – เมื่อวันที่ 25 มิถุนายน 2561 ว่าที่ร้อยตรี ธานินทร์ ริ้วธงชัย หัวหน้าผู้ตรวจราชการกรม กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กระทรวงมหาดไทย เป็นประธานเปิดงานมหกรรม “รวมพลคนกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น เขต 5” พร้อมมอบโล่ประกาศเกียรติคุณและประกาศเกียรติคุณองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ที่มีการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นดีเด่น และบุคคลสนับสนุนงานกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่นดีเด่น จัดโดยกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) โดยมีหัวหน้าส่วนราชการ ผู้บริหารและผู้แทนภาคประชาชนใน 8 จังหวัดพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ประกอบด้วยจังหวัดกาญจนบุรี สุพรรณบุรี นครปฐม ประจวบคีรีขันธ์ เพชรบุรี ราชบุรี สมุทรสาคร และ สมุทรสงคราม จำนวนกว่า 1,200 คนเข้าร่วม

ว่าที่ร้อยตรี ธานินทร์ กล่าวว่า การดูแลสุขภาพประชาชนเป็นภารกิจหลักที่สำคัญของ อปท.ทั่วประเทศ เพื่อมุ่งสร้างคุณภาพชีวิตที่ดีให้กับประชาชนในแต่ละพื้นที่ โดยมี “กองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นหรือพื้นที่” เป็นหนึ่งในกลไกสำคัญในการเริ่มต้นทำงานร่วมกันอย่างเป็นรูปธรรมร่วมกับหน่วยงานองค์กรปกครองส่วน ท้องถิ่น (อปท.) โดยเริ่มขับเคลื่อนมาตั้งแต่ปี 2549 เน้นสร้างการมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วน หลายพื้นที่ได้ดำเนินงานกองทุนฯ จนประสบผลสำเร็จและเห็นผลเป็นรูปธรรม โดยนำผลงานเด่นส่วนหนึ่งมานำเสนอในการจัดงานมหกรรมครั้งนี้ มาร่วมกันมาเล่าเบื้องหลัง ที่มา ปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้ดำเนินการได้สำเร็จ และกลวิธีในการก้าวข้ามปัญหาให้แต่ละที่ได้เรียนรู้และนำไปปรับใช้ให้ได้ดีในพื้นที่ของตนเอง ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนในการสร้างนวัตกรรมทางสังคมในการดูแลทุกกลุ่ม ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเด็ก กลุ่มอาชีพที่เสี่ยง คนพิการ การรองรับในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวร่วมกันในการสร้างเสริมสุขภาพ ป้องกันโรค การฟื้นฟูสมรรถภาพ โดยมี เป้าหมายสำคัญคือ การดูแลสุขภาพประชาชนในทุกมิติ โดยเฉพาะด้านสุขภาพร่วมกัน

จากงานมหกรรมรวมพลคนกองทุนท้องถิ่น เขต 5 ครั้งนี้ นอกจากก่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจต่อนโยบายกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและมีการขับเคลื่อนไปในทิศทางเดียวกันแล้ว ยังส่งเสริมศักยภาพการดำเนินงานสร้างเครือข่าย สร้างแรงจูงใจในการทำงานของกองทุนฯ เพื่อนำไปสู่การพัฒนานวัตกรรมต่างๆ การดำเนินงานร่วมกับเครือข่ายเพื่อดูแลประชาชนในแต่ละพื้นที่ ก่อให้เกิดการเชื่อมโยงภาพรวมสุขภาพที่ดีของประชาชนในระดับประเทศที่ดีขึ้น ไม่ว่าจะเป็นจำนวนกองทุนที่มีความพร้อมมากขึ้น จากปีแรก ปี 2549 เริ่มต้นจาก อบต./เทศบาลที่พร้อม ทั้งประเทศ 888 แห่ง เขต 5 ราชบุรี จำนวน 69 แห่ง

ด้าน นพ.ศักดิ์ชัย กาญจนวัฒนา เลขาธิการสำนักงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า กองทุนหลักประกันสุขภาพระดับท้องถิ่น มุ่งเน้นให้ อปท.มีบทบาทสำคัญ ทั้งการส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคและฟื้นฟูสมรรถภาพให้แก่ประชาชนในพื้นที่รับผิดชอบ โดยความร่วมมือจาก สปสช. กระทรวงสาธารณสุข กรมส่งเสริมปกครองท้องถิ่น (สถ.) กระทรวงมหาดไทย สมาคมสันนิบาตเทศบาลแห่งประเทศไทย และสมาคมองค์การบริหารส่วนตำบลแห่งประเทศไทย โดย สปสช.ได้จัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกองทุนฯ จำนวน 45 บาทต่อประชากรผู้มีสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และ อปท.ร่วมสมทบ เพื่อใช้ในการดำเนินงานกองทุนฯ

สำหรับในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 มี อปท.ทั้งหมดจำนวน 690 แห่ง เข้าร่วมดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับ ท้องถิ่นฯ และบริหารจัดการได้เป็นไปตามวัตถุประสงค์และเจตจำนงตามข้อตกลงร่วมกัน จำนวน 671 แห่ง สะท้อนให้เห็นถึงการให้ความสำคัญต่อการดูแลสุขภาพประชาชนของ อปท.ในพื้นที่เขตสุขภาพ นับเป็นผลงานที่น่าชื่นชมของหน่วยงานทุกหน่วยร่วมกัน ซึ่งภายหลังจากงานมหกรรมฯ วันนี้ ที่ได้ร่วมรับฟังการนำเสนอผลงานเด่น แลกเปลี่ยนจากเวทีเสวนา จากเวทีนิทรรศการ เชื่อว่าจะเป็นหนึ่งในการสร้างพลังแรงใจ ในการเข้าร่วมรับประโยชน์ต่อการทำงานกองทุนของ อปท. และส่งผลต่อการดูแลสุขภาพประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น

นพ.รัฐพล เตรียมวิชานนท์ ผู้ช่วยเลขาธิการและรักษาการ ผอ.สปสช.เขต 5 ราชบุรี กล่าวว่า ภายในงานมีการนำเสนอผลงานที่น่าสนใจผ่านการจัดแสดงนิทรรศการจำนวน 20 แห่ง ไม่ว่าจะเป็น นวัตกรรมด้านสุขภาพ การฟื้นฟูสมรรถภาพ อาทิ โครงการหาเหาสบายหัว อบต.สวนผึ้ง, คลายกล้ามเนื้อด้วยตาลต้านตึง อบต.ช่องสะแก, นวัตกรรมหมอนเศษผ้าพาแผลหาย อบต.บ้านสระ, นวัตกรรมเครื่องออกกำลังกายเพื่อสุขภาพผู้สูงอายุ 7 in 1 เทศบาลตำบลท่าไม้, เด็กพลับพลาไชย ปลอดภัยไม่จมน้ำ, ยางในรถบรรเทาเข่าเสื่อม, พรมหินนวดเท้า หรือนวัตกรรมในการดูแลผู้สูงอายุระยะยาวที่มีภาวะพึ่งพิงจากหลายกองทุน ได้แก่ มาหา’ ไร สูงวัย ยายชา, อบต.ยายชา, ต้นไม้ความสุขแห่งเบิกไพร อันเป็นผลมาจากการร่วมมือกันในการหานวัตกรรมในการจัดการปัญหา ร่วมกันในการใช้องค์ความรู้จากหน่วยงานด้านสาธารณสุขที่เชื่อมโยงบริการทางสังคมโดยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน รวมถึงการเชื่อมต่อ ระหว่างบ้าน ชุมชน หน่วยบริการ ศูนย์พัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุในชุมชนอย่างเป็นระบบ

ทั้งนี้ สปสช.และกรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น ได้ร่วมมือกันสนับสนุนการจัดระบบหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นมาอย่างต่อเนื่องเป็นเวลากว่า 10 ปี ทำให้ปัจจุบันมี อปท.ทั้งองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) และเทศบาลที่ร่วมจัดตั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นฯ แล้ว จำนวน 7,736 แห่ง