ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภาคประชาชน 7 องค์กร ทำหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ให้พิจารณาซื้อยา “โมลนูพิราเวียร์” จากบริษัทยาสามัญในประเทศอินเดีย ซึ่งราคาถูกกว่ายาต้นแบบหลายเท่าตัว


นายนิมิตร์ เทียนอุดม ผู้อำนวยการมูลนิธิเข้าถึงเอดส์ เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า หากประเทศไทยซื้อยา “โมลนูพิราเวียร์” ซึ่งเป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรก จากบริษัทเจนเนอริค หรือยาสามัญ ราคาจะอยู่ที่ไม่เกินคอสละ 600 บาท (ต่อการรักษา 5 ครั้ง) แต่หากซื้อจากบริษัทเมอร์ค จำกัด ซึ่งผลิตยาต้นตำรับ จะอยู่ที่ 2.7 หมื่นบาท ต่อคอส

อย่างไรก็ดี ปัจจุบัน บริษัท เมอร์ค จำกัด ไม่ได้มายื่นจดสิทธิบัตรในเมืองไทย นั่นหมายความว่าประเทศไทยสามารถซื้อยาได้จากผู้ขายหลายราย ดังนั้นเมื่อเรามีตัวเลือก มียาที่ผลิตจากบริษัทอื่น จะทำให้ซื้อได้ถูกกว่าหลายเท่าตัว และทำให้ประชาชนเข้าถึงยาได้มากขึ้นด้วย

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีบริษัทยาอินเดียหลายบริษัทเริ่มทำการศึกษา เริ่มผลิต เริ่มประกาศราคาขายยาโมลนูพิราเวียร์แล้ว และในอินเดียก็ไม่มีการจดสิทธิบัตรยาโมลนูพิเราเวียร์ ขณะที่ยาของบริษัท เมอร์ค จำกัด ส่วนหนึ่งก็ได้ผลิตจากอินเดียเพื่อขายให้แก่ประเทศที่กำลังพัฒนา ฉะนั้นบริษัทยาในอินเดียก็เป็นทางเลือกที่ดีสำหรับประเทศไทย

“ด้วยข้อจำกัดทางด้านงบประมาณ และประสิทธิภาพในการใช้เงิน หากเราสามารถจัดหายาที่มีคุณภาพและราคาถูกได้ เราก็ควรทำ นี่จึงเป็นข้อเรียกร้องของ 7 องค์กรภาคประชาชนที่ได้ทำจดหมายเปิดผนึกถึงรัฐมนตรีกระทรวงสาธารณสุข ปลัดกระทรวง อธิบดีกรมการแพทย์ และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา ไปเมื่อวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา” นายนิมิตร์ กล่าว

สำหรับ “ยาโมลนูพิราเวียร์” เป็นยาต้านโควิดชนิดเม็ดตัวแรก ซึ่งจากผลการวิจัยในระยะที่ 3 พบว่า ช่วยลดอัตราการนอนรักษาตัวในโรงพยาบาลหรืออัตราการเสียชีวิตได้มากถึงร้อยละ 50 ในผู้ป่วยโควิด-19 ที่เป็นผู้ใหญ่และมีอาการป่วยไม่รุนแรง โดยที่ผู้ป่วยต้องกินยาในขนาด 800 มิลลิกรัมวันละ 2 ครั้ง ห่างกัน 12 ชั่วโมงต่อเนื่องเป็นเวลา 5 วัน

 

            นายนิมิตร์ กล่าวอีกว่า อีกประเด็นสำคัญคือเรื่องระบบการเบิกจ่ายยารักษาโควิด-19 ซึ่งควรมีระบบที่ง่ายและทำให้โรงพยาบาลเบิกจ่ายได้อย่างรวดเร็ว เพราะข้อบ่งชี้ในการใช้ยา ยาจะมีประสิทธิภาพต่อเมื่อทำการรักษาเร็ว ทั้งยาโมลนูพิราเวียร์ หรือยาฟาวิพิราเวียร์เอง ฉะนั้น กรมการแพทย์ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รวมถึงสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จำเป็นต้องจัดการระบบให้โรงพยาบาลชุมชนที่เจอผู้ติดเชื้อสามารถเบิกจ่ายยาให้ประชาชนที่ได้โดยเร็ว

“ปัจจุบันการรักษาด้วยยาฟาวิพิราเวียร์ก็ยังมีปัญหาเรื่องความรวดเร็วในการเบิกจ่ายยาอยู่ ยังมีเสียงบ่นเรื่องการเบิกยาทั้ง ๆ ที่ยาฟาวิพิราเวียร์ส่วนหนึ่งสามารถผลิตได้ในเองในประเทศ ดังนั้นต้องวางระบบายยาฟาวิพิราเวียร์ได้รวดเร็วทั่วถึง เช่นเดียวกับการนำเข้ายาโมลนูพิราเวียร์มาใช้ก็ควรใช้แพลตฟอร์มเดียวกันได้” นายนิมิตร์ กล่าว

อนึ่ง 7 องค์กรภาคประชาชนที่ร่วมกันยื่นหนังสือถึง รมว.สาธารณสุข ประกอบด้วย มูลนิธิเข้าถึงเอดส์, เครือข่ายผู้ติดเชื้อเอชไอวี/เอดส์ ประเทศไทย, กลุ่มศึกษาปัญหายา (กศย.), ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.), มูลนิธิคุ้มครองสิทธิด้านเอดส์, ชมรมเภสัชชนบท, และกลุ่มศึกษาข้อตกลงเขตการค้าเสรี ภาคประชาชน (FTA Watch)