ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

หากมองในแง่ความสูญเสียจาก “มะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก” ก็ทำให้เห็นภาพว่าโรคดังกล่าวเป็นมะเร็งที่ทำให้คนไทยต้องเสียชีวิตสูงเป็นอันดับ 3 และต้องเสียชีวิตปีละ 3,000 ราย ซึ่งมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักจะพบมากในเพศชายมากกว่าเพศหญิง แต่มะเร็งดังกล่าวมักจะพบในระยะที่ 3 และ 4 ซึ่งเป็นระยะที่ต้องได้รับการรักษา ทั้งการผ่าตัด การให้เคมีบำบัด รวมถึงการฉายรังสี

นอกเหนือจากนี้ ในแง่ของงบประมาณในการดูแลรักษาผู้ป่วยในโรคดังกล่าว คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบอร์ด สปสช. บรรจุสิทธิประโยชน์คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่ในกลุ่มเสี่ยงอายุตั้งแต่ 50-70 ปีในปีงบประมาณ 2561 เพื่อให้เข้าถึงการคัดกรองและรักษาตั้งแต่ระยะเริ่มแรก ซึ่งงบประมาณดังกล่าวก็กระจายไปทุกพื้นที่ทั่วประเทศรวมแล้วกว่า 111 ล้านบาท และหากถัวเฉลี่ยผู้มีสิทธิ์เข้ารับการคัดกรอง ก็จะตกค่าใช้จ่ายต่อผู้มีสิทธิ์รายละ 2.28 บาทต่อหนึ่งคน 

และพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ราชบุรี ก็เป็นอีกหนึ่งพื้นที่หนึ่งที่ได้รุดหน้าในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่อย่างต่อเนื่อง ก่อนที่จะบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในปี 2561 คือเริ่มทำตั้งแต่ปี 2558 เป็นต้นมา ในขณะที่ยังรวมอยู่ในงบรายหัวสิทธิบัตรทอง พร้อมกับประชุมสนับสนุนการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนักให้กับหน่วยบริการทุกระดับในเขตสุขภาพที่ 5 เพื่อสร้างระบบการคัดกรองในพื้นที่ให้เป็นไปในทิศทางเดียวกัน โดยระดมหน่วยที่เกี่ยวข้องในพื้นที่เข้าร่วมประชุมเมื่อวันที่ 22 พฤษภาคม 2561 ที่โรงพยาบาลนครปฐม จ.นครปฐม 

ไฮไลท์สำคัญในวงประชุมคือการวางแนวทางคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก ผ่าน 3 รูปแบบ คือ จากการตรวจอุจาระด้วยวิธี Fit test หรือ Fecal Immunochemical Test for hemoglobin ที่เริ่มคัดกรองประชาชนกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่ไปแล้ว 101,202 คน จากการส่องกล้องลำไส้ใหญ่ 2,013 คน และจากการส่งตรวจชิ้นเนื้อ 698 คน 

แต่การคัดกรองไม่อาจครอบคลุมประชากรได้ในทุกพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 หากไม่ใช่เป็นการทำงานภายใต้มาตรฐานเดียวกันของระบบบริการในพื้นที่ทุกระดับ ซึ่ง นพ.วีระศักดิ์ ครองลาภเจริญ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลนครปฐม บอกเล่าว่า นอกจากการคัดกรองโดยโรงพยาบาลระดับจังหวัดแล้ว ยังมีโรงพยาบาลสร้างเสริมสุขภาพตำบล หรือ รพ.สต.ร่วมเป็นเครือข่ายในการค้นหาประชากรกลุ่มเสี่ยงในพื้นที่และทำการคัดกรองเบื้องต้น รวมถึงให้คำแนะนำ ข้อปรึกษาต่างๆ ทั้งการตรวจและเก็บอุจจาระ การเตรียมพร้อมของผู้ป่วยในการรับคัดกรองและการส่องกล้อง ซึ่มีส่วนสำคัญอย่างมากในการป้องกันมะเร็งลำไส้ใหญ่ 

“โรงพยาบาลนครปฐม และโรงพยาบาลต่างๆ ในเขตสุขภาพที่ 5 ได้ร่วมกับ รพ.สต.เครือข่ายในพื้นที่ช่วยสนับสนุนคัดกรอง ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่และกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และเป้าหมายก็เพื่อลดจำนวนผู้ป่วยมะเร็งลำไส้ใหญ่ระยะสุดท้ายรวมถึงลดอัตราการเสียชีวิต แต่สิ่งสำคัญคือการช่วยชีวิตผู้ป่วยได้ด้วยการรักษาตั้งแต่ระยะเร่ิมต้น” นพ.วีระศักดิ กล่าว 

การนำร่องในพื้นที่เขตสุขภาพที่ 5 ในการคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และทวารหนัก โดยเฉพาะผลสำเร็จที่ได้รับความร่วมมือจากภาคประชาชนในชุมชนอย่างมาก แต่อีกหนึ่งปัจจัยสำคัญคือความเข้มแข็งของทีมเจ้าหน้าที่ ทั้งในส่วนของ รพ.สต. รวมถึงอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน หรือที่คุ้นชื่อกันดีคือ อสม. ที่คอยแจกจ่ายนำชุดตรวจมะเร็งลำไส้ใหญ่พร้อมแนะนำวิธีการจัดเก็บอุจจาระเพื่อส่งตรวจ ทำให้ชุมชนสามารถรู้ถึงวิธีในการจัดเก็บและทราบผลการตรวจของตัวเอง     

ภาพที่สะท้อนผ่านการลงพื้นที่ของ ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ลงพื้นที่ตำบลสามกระบือเผือก จังหวัดนครปฐม เพื่อเยี่ยมชมการทำงานของเจ้าหน้าที่ รพ.สต.สามกระบือเผือก ที่นำชุดตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่แจกจ่ายให้กับกลุ่มเสี่ยงคือวัยอายุ 50-70 ปีในพื้นที่ และผลสะท้อนตั้งแต่เริ่มดำเนินการมาตั้งแต่ปี 2558 ก็พบว่าประชากรกลุ่มเสี่ยงให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี รวมถึงกลับมาตรวจใหม่ในทุกๆ 2 ปีตามกำหนดด้วย 

แต่ประเด็นสำคัญคือผลตรวจในพื้นที่ซึ่งมีกลุ่มเป้าหมายอยู่ราว 30,000 คนเศษ ก็พบว่ามีผลตรวจเป็นผลบวกอยู่เพียงแค่ 5 ราย และทั้งหมดเมื่อตรวจอย่างครบถ้วน ทั้งการส่องกล้อง และผ่าตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ที่โรงพยาบาลนครปฐม ผลที่ได้คือไม่มีใครป่วยเป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่แม้แต่คนเดียว และผลสะท้อนดังกล่าวก็ยิ่งน่าชื่นชม เมื่อคนในพื้นที่หันมาใส่ใจสุขภาพของตนเองมากขึ้น 

เจ้าหน้าที่ รพ.สต.สามกระบือเผือก จะมีขั้นตอน คือแนะนำ อสม.ให้รู้จักวิธีใช้เครื่องเก็บอุจจาระเพื่อให้สามารถไปแนะนำต่อกับประชาชนให้ทำตาม หลังจากจัดเก็บอุจจาระแล้ว ในระยะเวลา 2 ชั่วโมงจะต้องเร่งนำส่ง รพ.สต.ทันทีเพื่อคัดกรองผ่านสารเคมีเพื่อหามะเร็งลำไส้ใหญ่เบื้องต้น แต่หากผลเป็นลบก็หมายถึงไม่มีโรค แต่เมื่อผลเป็นบวกก็จะมีการนัดแนะให้ผู้ที่ได้ผลบวกไปส่องกล้องพร้อมกับผ่าตัดชิ้นเนื้อไปพิสูจน์ ซึ่งขั้นตอนทั้งหมดจะใช้เวลาแค่ 2 สัปดาห์เท่านั้น หากพบว่ามีก้อนเนื้อมะเร็งในระยะแรกเริ่ม ก็จะง่ายต่อการรักษาและยังลดค่าใช้จ่ายได้อีกด้วย 

เพราะตัวเลขพบว่าผู้ที่เป็นมะเร็งลำไส้ใหญ่มักจะมาพบแพทย์เมื่อมีอาการเจ็บป่วยมากถึง 70% หรืออยู่ในระยะสุดท้าย ดังนั้น การป้องกันและคัดกรองให้พบเร็วที่สุดเพื่อให้สามารถรักษาให้หายขาด น่าจะเป็นทางออกที่ดีที่สุดในการรักษา 

สอดรับกับ นพ.พิศิษฐ์ ศรีประเสริฐ ผู้ตรวจราชการกระทรวงสาธารณสุข เขตสุขภาพที่ 5 สะท้อนว่า เห็นได้ชัดเจนว่าโรคมะเร็งคือสาเหตุการเสียชีวิตอันดับหนึ่ง สาเหตุสำคัญของปัญหานอกเหนือไปจากด้านสุขภาพของแต่ละบุคคลแล้ว ทางออกคือการค้นหาเพื่อป้องกันและดำเนินการแก้ไขรักษาโรคได้อย่างทันท่วงที ซึ่งจากการศึกษาที่ผ่านมาก็พบว่าแม้ในพื้นที่สุขภาพเขตที่ 5 จะเป็นพื้นที่นำร่องในการคัดกรองอย่างแข็งขันและครอบคลุม แต่ก็ยังมีจุดที่ต้องพัฒนามากขึ้น โดยเฉพาะกับอุปกรณ์การรักษาที่ต้องครอบคลุมมากกว่าเดิม ซึ่งก็เป็นแผนอนาคตที่จะมีการพัฒนาต่อไป 

“การดูแลร่างกายก็สำคัญอย่างมาก แต่การคัดกรองเพื่อหาผู้ป่วยได้เร็วเพื่อจะรักษาให้หายขาดได้ก็สำคัญเช่นกัน เพราะมีผลต่อในแง่ของเศรษฐศาสตร์ และสุขภาพของประชาชนด้วย ดังนั้น จึงเห็นด้วยอย่างมากหากจะมีนโยบายสนับสนุนการคัดกรองหาผู้ป่วยให้เป็นมาตรฐานเดียวกันทั่วประเทศ เพื่อประโยชน์ของประชาชน” นพ.พิศิษฐ์ กล่าว

ขณะที่ นพ.ชัยพร สุชาติสุนทร นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัดนครปฐม กล่าวทิ้งท้ายว่า ได้ดำเนินการ 3 เร่งเกี่ยวกับมะเร็งคือ 1.เร่งตรวจค้นหากลุ่มเสี่ยงให้ครอบคลุม 2.เร่งวินิจฉัยโรคเพื่อให้เกิดการรักษาที่รวดเร็วและการตรวจพิสูจน์ที่แม่นยำ และสร้างกำลังใจและเพิ่มความมั่นใจให้กับผู้ป่วยในการรักษา และ 3.เร่งรักษา อย่างไรก็ตาม โรคมะเร็งสามารถป้องกันได้ตั้งแต่ต้นทางคือที่ประชาชน โดยเฉพาะมะเร็งลำไส้และทวารหนักจะเกี่ยวพันกับอาหารการกิน รวมถึงปัจจัยเสี่ยงต่างๆ ด้วย

“ประชาชนควรระมัดระวังสุขภาพ หลีกเลี่ยงความเสี่ยงทั้งการสูบบุหรี่ ดื่มสุรา และรับประทานอาหารที่สะอาดปลอดภัย รวมถึงให้ควบคุมเรื่องของอารมณ์ ออกกำลังกายสม่ำเสมอ ก็จะช่วยให้สุขภาพแข็งแรง จิตใจแข็งแรง และลดความเสี่ยงป่วยเป็นมะเร็ง” นพ.ชัยพร กล่าว