ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สมาคมเภสัชกรรมชุมชน เผยวิธีการกระจายชุดตรวจ ATK ผ่านร้านขายยา เบื้องต้นให้ประชาชนลงทะเบียน-ทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านแอปฯ "เป๋าตัง" แล้วเลือกร้านหรืออาจ Walk in ไปรับ ด้าน สปสช.ระบุเริ่มแจกได้กลางเดือน ก.ย.นี้


ภญ.ศิริรัตน์ ตันปิชาติ นายกสมาคมเภสัชกรรมชุมชน เปิดเผยถึงความคืบหน้าการกระจายชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) แบบ Self-test จำนวน 8.5 ล้านชุด สำหรับให้ประชาชนนำไปตรวจด้วยตัวเองที่บ้านว่า ในเบื้องต้นสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จะให้ผู้ประสงค์จะรับชุดตรวจ ATK ลงทะเบียนและทำแบบประเมินความเสี่ยงผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง

ทั้งนี้ เมื่อลงทะเบียนแล้วก็จะสามารถเลือกร้านยาที่จะเข้าไปรับชุดตรวจได้ หรืออาจ Walk in เข้าไปที่ร้านยา เพื่อให้ร้านยาประเมินความเสี่ยงและบันทึกข้อมูลเข้ามาในระบบแอปฯ เป๋าตัง ก็ได้เช่นกัน โดยปัจจุบัน สปสช.มีร้านยาที่ลงทะเบียนเป็นหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพ ประมาณ 1,000 ร้านทั่วประเทศ และอยู่ในกรุงเทพมหานคร (กทม.) ประมาณ 300 ร้าน 

"มีหลายภาคส่วนที่เข้ามากระจายชุดตรวจ ATK ซึ่งร้านยาก็เป็นหนึ่งในนั้น โดยคนที่ได้รับ ATK จะได้ไปคนละ 2 ชุดสำหรับตรวจครั้งแรก และตรวจซ้ำอีกครั้งเมื่อผ่านไป 5 วัน ส่วนคนที่จะรับชุดตรวจนั้นจะต้องเป็นกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในที่ทำงานติดเชื้อ แต่ตัวเองยังมีอาการปกติไม่แน่ใจว่าจะได้รับเชื้อด้วยหรือไม่ แบบนี้ก็เข้าข่ายสามารถมารับ ATK ได้" ภญ.ศิริรัตน์ กล่าว

พร้อมกันนี้ เมื่อทราบผลตรวจแล้วผู้ทำการตรวจต้องส่งรูปหรือโทรกลับมาแจ้งที่ร้านยา เพื่อรับคำแนะนำในการแปลผลการตรวจ โดยในกรณีที่ผลเป็นลบ เภสัชกรจะแนะนำให้กักตัวอยู่บ้านให้ครบ 14 วัน แต่ถ้าผลเป็นบวกก็จะแนะนำให้เข้าระบบการดูแลที่บ้าน (Home Isolation) หรือถ้ามีอาการมากก็มีการพูดคุยกันว่าจะให้ร้านยาส่งยาฟาวิพิราเวียร์ไปให้ที่บ้าน อย่างไรก็ตามยังต้องรอความชัดเจนในเรื่องนี้อีกครั้ง

ด้าน นพ.อภิชาติ รอดสม รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า ชุดตรวจ ATK จะแจกสำหรับให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยง เช่น มีคนในบ้านติดเชื้อ อยู่ในชุมชนแออัด มีการสัมผัสอยู่ใกล้ผู้ติดเชื้อ อยู่ในพื้นที่ระบาด กลุ่มที่ให้บริการผู้อื่น เช่น แม่ค้าในตลาด เป็นต้น โดยคาดว่าจะสามารถกระจายให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงได้ในช่วงกลางเดือนกันยายนนี้ 

นพ.อภิชาติ กล่าวว่า ในพื้นที่ กทม. ได้เตรียมไว้ 2 ล้านชุด สำหรับแจกในกว่า 2,000 ชุมชน โดยกระจายให้ศูนย์บริการสาธารณสุขของ กทม. แล้วกระจายต่อให้อาสาสมัครสาธารณสุข (อสส.) เอาไปกระจายในชุมชน แต่คนที่รับต้องพิสูจน์ตัวตนผ่านแอปฯ เป๋าตังและทำแบบประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงจริงหรือไม่

ขณะที่อีกส่วนหนึ่งจะส่งไปตามต่างจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดพื้นที่สีแดง ผ่านหน่วยบริการ เช่น โรงพยาบาล โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) จากนั้นหน่วยบริการกระจายผ่านอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) หรือให้ประชาชนมารับที่หน่วยบริการก็ได้ แต่ต้องประเมินว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงก่อนรับชุดตรวจ ATK ด้วยเช่นกัน

"ส่วนที่ 3 กระจายผ่านร้านยาและคลินิกในเครือข่าย สปสช. ประมาณ 1,000 แห่งทั่วประเทศ ซึ่งอาจให้ผู้รับมารับชุดตรวจที่ร้านยาและลงทะเบียนผ่านแอปฯ เป๋าตัง โดยให้ร้านยาติดตามผลการคัดกรองให้" นพ.อภิชาติ กล่าว