ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สภาผู้บริโภคฯ-เครือข่าย เปิดผลสำรวจ "ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจร" พบช่วงโควิดราคาพุ่ง ร้านค้ากักตุน-ทำกำไรเกินควรเพียบ พร้อมปัญหาของปลอม-ไม่แสดงฉลาก จี้รัฐเร่งควบคุมราคา แนะปชช.ใช้เพื่อรักษา-ไม่ใช่เพื่อป้องกัน


สภาองค์กรของผู้บริโภค (สอบ.) ร่วมกับเครือข่ายองค์กรผู้บริโภคจาก 7 ภูมิภาค จัดแถลงข่าวเผยผลสำรวจ "การเฝ้าระวังผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร" เมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2564 จากการสุ่มเก็บตัวอย่างจำนวน 527 ตัวอย่าง จากร้านค้า 879 แห่งในพื้นที่ 37 จังหวัด ตั้งแต่วันที่ 1-12 ส.ค. 2564 พร้อมข้อมูลจากการสำรวจผู้บริโภคที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร จำนวน 2,074 คน

นายโสภณ หนูรัตน์ หัวหน้าฝ่ายคุ้มครองและพิทักษ์สิทธิ สอบ. เปิดเผยว่า จากการสำรวจและเฝ้าระวังสถานการณ์ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรในช่วงสถานการณ์โควิด-19 พบว่าผู้บริโภคยังคงเผชิญกับปัญหาราคาผลิตภัณฑ์ที่แพงเกินควร สินค้าปลอม สินค้าไม่แสดงฉลาก ฉลากไม่ครบถ้วน มีการกักตุนสินค้า ปัญหาโฆษณาเกินจริง และสินค้าขาดตลาด ทำให้ต้องมีการจำกัดปริมาณการซื้อ

ทั้งนี้ จากการสำรวจราคาเฉลี่ยของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรแบบแคปซูล 500 มิลลิกรัม (ที่รวมภาษีมูลค่าเพิ่มแล้ว) จำนวน 101 ตัวอย่าง พบว่ามีราคาเฉลี่ย 2.57 บาทต่อแคปซูล ซึ่งสูงกว่าราคากลางตามประกาศคณะกรรมการพัฒนาระบบยาแห่งชาติ เรื่อง กำหนดกลางยาแผนไทย พ.ศ.2558 ที่กำหนดให้ขายเพียงแคปซูลละ 0.94 บาท (ราคาไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม)

ขณะเดียวกันในส่วนของผลสำรวจผู้บริโภคที่เคยใช้ผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจร พบว่า ผู้ขายมีการปรับราคาจำหน่ายเพิ่มขึ้นทั่วประเทศ เฉลี่ย 48% จากราคาเดิมที่ผู้บริโภคเคยซื้อเมื่อหนึ่งเดือนก่อน เช่น เดิมเคยซื้อที่ราคากระปุกละ 120 บาท (60 แคปซูล) แต่ในเดือน ส.ค. 2564 กลับซื้อได้ในราคา 160 บาท ซึ่งเพิ่มขึ้น 40 บาท เป็นต้น 

นายโสภณ กล่าวว่า ผลสำรวจนี้ยังพบว่าผู้บริโภคส่วนใหญ่ 93.8% มีความเห็นว่าราคาขายของผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรโดยเฉลี่ยที่ประชาชนซื้อได้ไม่ควรเกินแคปซูลละ 1.12 บาท (ราคาที่ยังไม่รวมภาษีมูลค่าเพิ่ม) ดังนั้น สอบ.จึงขอเสนอไปยังรัฐบาลและกระทรวงพาณิชย์ที่เป็นหน่วยงานรับผิดชอบ ให้จัดการกับร้านค้าที่ขายฟ้าทะลายโจรเกินราคา

"ขอให้คณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ดำเนินการควบคุมกำกับราคาผลิตภัณฑ์ยาฟ้าทะลายโจรเพื่อคุ้มครองสิทธิผู้บริโภค ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิดที่รุนแรงมากในขณะนี้" นายโสภณ กล่าว

น.ส.ชนัญชิดา ตัณฑะผลิน มูลนิธิเพื่อผู้บริโภค กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์ฟ้าทะลายโจรจะหาซื้อได้ยากในร้านขายยาทั่วไป แต่กลับพบการจำหน่ายในร้านขายของแฟชั่น ย่านสำเพ็ง หรือร้านขายสินค้าในตลาดนัด อีกทั้งในฉลากส่วนใหญ่ที่พบมักไม่มีการแสดงข้อมูลสารแอนโดรกราโฟไลด์ (Andrographolide) ต่อเม็ด นอกจากนี้ยังพบปัญหาการขาดตลาดในพื้นที่กรุงเทพมหานคร (กทม.)

"ขณะที่ปริมาณความต้องการของผู้บริโภคมีมาก แต่ปริมาณการมีสินค้าในพื้นที่กลับมีน้อยลง จึงอาจเป็นสาเหตุให้ผู้ขายใช้วิธีการกักตุนเพื่อปรับราคา และในอนาคตผู้บริโภคใน กทม.อาจพบกับสินค้าหรือฉลากปลอมเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากไม่สามารถจัดหาได้แบบปกติทั่วไป และอาจจะมีการนำเข้าฟ้าทะลายโจรจากต่างประเทศมาจำหน่ายมากขึ้นในตลาดค้าส่งสินค้าแฟชั่นอีกด้วย" น.ส.ชนัญชิดา ระบุ

ด้าน ผศ.ภก.บดินทร์ ติวสุวรรณ ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า ปัจจุบันฟ้าทะลายโจรถูกบรรจุอยู่ในแนวทางในการรักษาผู้ป่วยโรคติดเชื้อโควิด-19 ของกรมควบคุมโรค รวมทั้งยังมีการศึกษาวิจัยที่มากขึ้นเรื่อยๆ โดยให้ใช้ในผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการเล็กน้อยเท่านั้น โดยควรทานฟ้าทะลายโจรที่มีสารแอนโดรกราโฟไลด์ 180 มก./วัน แบ่งให้ 3 ครั้ง ก่อนอาหาร กินติดต่อกัน 5 วัน

ขณะที่บางงานวิจัยมีการใช้ปริมาณสารแอนโดรกราโฟไลด์ 144 มก./วัน แบ่งให้ 3 ครั้งต่อวัน หรือในกรณีใบสด โรงพยาบาลอภัยภูเบศแนะนำให้รับประทานใบสด ครั้งละ 10 ใบ วันละ 3 ครั้ง ติดต่อกัน 5 วัน อย่างไรก็ตามมีข้อห้ามใช้ในกรณีผู้ที่มีประวัติแพ้ยาฟ้าทะลายโจร หญิงตั้งครรภ์ หรืออาจจะตั้งครรภ์ และหญิงที่กำลังให้นมบุตร เพราะข้อมูลในทางทฤษฎีชี้แนะว่าอาจมีผลกระทบได้

"ปัญหาเรื่องคุณภาพของฟ้าทะลายโจรยังมีให้เห็นในปัจจุบัน ทั้งเรื่องของผลิตภัณฑ์ที่ไม่ถูกกฎหมาย ผลิตภัณฑ์ที่ด้อยคุณภาพ การที่ผู้บริโภคพยายามหาซื้อฟ้าทะลายโจรให้ได้ตามขนาดของแนวทางที่ต้องใช้ในการรักษาก็เป็นไปได้ยาก เนื่องจากบางผลิตภัณฑ์ไม่มีข้อมูลของสารแอนโดรกราโฟไลด์ระบุบนฉลาก หรือบางทีอาจระบุไว้แต่ไม่สามารถคำนวนปริมาณสารสำคัญได้" ผศ.ภก.บดินทร์ กล่าว

ผศ.ภก.บดินทร์ กล่าวว่า นอกจากนี้ผลิตภัณฑ์อาจจะไม่มีปริมาณสารสำคัญ หรือปริมาณยาตามที่ระบุในฉลาก อีกทั้งปริมาณสารสำคัญหรือปริมาณยาในแต่ละเม็ดยาก็ไม่ได้มีปริมาณที่เท่ากัน หากกำหนดให้ฟ้าทะลายโจรเป็นคำตอบหนึ่งในแนวทางการรักษาโควิด-19 หน่วยงานที่เกี่ยวข้องหรือกระทรวงสาธารณสุข จำเป็นต้องดูแลและจัดการแก้ไขปัญหาโดยเร็ว

ผศ.ภก.บดินทร์ ยังกล่าวด้วยว่า อย่างไรก็ตามผู้บริโภคสามารถตรวจสอบผลิตภัณฑ์ที่ถูกกฎหมายได้ทางเว็บไซต์ของสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ว่าเลขทะเบียนตรงหรือไม่ เพื่อป้องกันผลิตภัณฑ์ยาปลอม รวมทั้งควรต้องอ่านฉลากยาให้เข้าใจก่อนใช้ เนื่องจากในแต่ละยี่ห้อมีความแตกต่างกัน ส่วนร้านขายยาก็ต้องคัดกรองสินค้าที่ถูกกฎหมายและมีคุณภาพมาจำหน่าย