ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สธ.ตอกย้ำผลการศึกษาภูมิคุ้มกันหลังฉีดวัคซีนสูตรไขว้ เทียบเท่าแอสตร้าฯ 2 เข็ม ยืนยันนโยบายของรัฐบาลแผนการให้วัคซีนมีความเหมาะสม


นพ.ศุภกิจ ศิริลักษณ์ อธิบดีกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ เปิดเผยเมื่อวันที่ 19 ส.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า ปัจจุบันประเทศไทยพยายามเร่งฉีดวัคซีนเพื่อป้องกันโรคโควิด-19 โดยมีวัคซีนที่ขึ้นทะเบียนและมีการนำมาใช้เป็นหลักในขณะนี้ คือวัคซีน Sinovac และ AstraZeneca โดยมีการตั้งคำถามว่า ในกรณีการฉีดสลับวัคซีน (Mix and Match) รวมถึงการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 แบบ heterologous prime-boost นั้น วัคซีนเหล่านี้สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันได้ดีมีประสิทธิภาพมากน้อยเพียงใด

ทั้งนี้ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จึงได้ร่วมกับศิริราชพยาบาล ทำการศึกษาระดับภูมิคุ้มกันในซีรั่มของคนที่ได้รับวัคซีน โดยใช้ไวรัสสายพันธุ์จริงที่กำลังระบาดในประเทศไทย คือสายพันธุ์เดลตา หรือสายพันธุ์อินเดีย (B.1.617.2) ซึ่งพบในการติดเชื้อกว่า 90% ทำการทดสอบโดยวิธีมาตรฐานที่ยอมรับกันทั่วไปคือวิธี Plaque Reduction Neutralization Test (PRNT) ซึ่งต้องปฏิบัติในห้องชีวนิรภัยระดับ 3 เพื่อความปลอดภัย ทั้งนี้เพื่อหาค่าที่ไวรัสสายพันธุ์เดลตาถูกทำลาย 50% (Neutralizing Titer 50%, NT50) โดยแอนติบอดีที่เกิดขึ้นหลังฉีดวัคซีน

สำหรับการศึกษาทำในอาสาสมัคร 6 กลุ่ม ประกอบด้วย

กลุ่มที่ 1 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV)                       

กลุ่มที่ 2 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ)

กลุ่มที่ 3 ได้รับ วัคซีน CoronaVac และตามด้วย AstraZeneca (SV+AZ)

กลุ่มที่ 4 ได้รับ วัคซีน AstraZeneca และตามด้วย CoronaVac (AZ+SV)

กลุ่มที่ 5 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย Covilo 1 เข็ม (SV+SV+Sinopharm)

กลุ่มที่ 6 ได้รับ วัคซีน CoronaVac 2 เข็มและตามด้วย AstraZeneca 1 เข็ม (SV+SV+AZ)

นพ.ศุภกิจ กล่าวว่า ผลการศึกษาการให้วัคซีนสลับแบบ (SV+AZ) มีภูมิคุ้มกันสูงกว่าการให้วัคซีน CoronaVac 2 เข็ม (SV+SV) และเทียบเท่ากับการให้ AstraZeneca 2 เข็ม (AZ+AZ) แต่ใช้เวลาสั้นลง แต่ไม่แนะนำให้ฉีด AstraZeneca เข็มแรกและตามด้วย CoronaVac (AZ+SV)

ส่วนการกระตุ้นเข็มที่ 3 ด้วย AstraZeneca (SV+SV+AZ) สามารถกระตุ้นภูมิคุ้มกันเพิ่มมากขึ้นถึง 11 เท่า ในขณะที่กระตุ้นเข็ม 3 ด้วย Sinopharm (SV+SV+Sinopharm) ที่เป็นวัคซีนเชื้อตายเหมือนกัน ให้ภูมิคุ้มกันสูงขึ้นเพียง 2.5 เท่า

ทั้งนี้ จากข้อมูลทั้งหมดแสดงให้เห็นว่านโยบายของรัฐบาลแผนการให้วัคซีนมีความเหมาะสม โดยให้ฉีดแบบสลับ (SV+AZ) และให้ฉีดเข็ม 3 ด้วย AstraZeneca (SV+SV+AZ) การศึกษาต่อไป

อย่างไรก็ตาม กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์จะทำการตรวจสอบระดับภูมิคุ้มกันต่อสายพันธุ์เบตา โดยใช้ไวรัสจริงเพื่อสร้างความมั่นใจต่อการใช้วัคซีนสลับและการฉีดกระตุ้นเข็ม 3 และเป็นข้อมูลประกอบการวางแผนการให้วัคซีนที่เหมาะสมโดยให้ประสิทธิภาพสูงสุดแก่ประชาชนต่อไป

“จากการติดตามผู้ได้รับวัคซีน Sinovac เข็มแรก และ AstraZeneca เข็มสอง ทั้งหมด 125 ราย พบว่ามีระดับภูมิคุ้มกัน Quantitative Anti-S RBD เฉลี่ยที่ 716 (399-1127) สูงกว่ากลุ่มที่ได้รับ S+S 117 (58-204), A+A 207(123-338) และภายหลังการฉีดวัคซีนเข็ม 2 พบ มีไข้ 66% ปวดศีรษะ 33% อ่อนเพลีย ไม่มีแรง ง่วงซึม 28% ใกล้เคียงกับอาการจากการฉีด AstraZeneca 2 เข็ม” นพ.ศุภกิจ กล่าว