ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผอ.รพ.ธรรมศาสตร์ เผยเล็งนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่ซ้ำซ้อน ทั้งโปรตีนซับยูนิต "โนวาแวกซ์" หรือ mRNA รุ่น 2 รวมถึง ATK ราคาถูกเพื่อใช้จำนวนมาก เปิดกว้างจับมือหน่วยงานอื่นๆ ร่วมสนับสนุนจัดซื้อ


รศ.นพ.พฤหัส ต่ออุดม ผู้อำนวยการโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เปิดเผยภายหลังการประกาศใช้ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เกี่ยวกับการนำเข้ายา วัคซีน และเวชภัณฑ์ เพื่อรับมือการระบาดของโควิด-19 โดยระบุว่า เบื้องต้นทางธรรมศาสตร์มีความสนใจนำเข้าวัคซีนโควิด-19 ที่ไม่ซ้ำซ้อนกับการนำเข้าของหน่วยงานอื่น ทั้งของรัฐ องค์การเภสัชกรรม (อภ.) และราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ และเป็นวัคซีนเจนเนอเรชัน 2 เพื่อบูสเตอร์โดสให้ประชาชนในรูปแบบวัคซีนทางเลือก

รศ.นพ.พฤหัส กล่าวว่า เบื้องต้นจึงมีความสนใจวัคซีนโปรตีนซับยูนิต ของโนวาแวกซ์ รวมถึงวัคซีน mRNA เจนเนอเรชัน 2 อย่างโมเดอร์นา แต่ทางธรรมศาสตร์ยังต้องหาผู้ร่วมสนับสนุนด้วย โดยเปิดกว้างทั้งเครือข่ายเครือข่ายโรงพยาบาลกลุ่มสถาบันแพทยศาสตร์แห่งประเทศไทย (UHosNet) ราชวิทยาลัย สมาคม รวมถึงกลุ่มเครือข่ายโรงพยาบาลเอกชน

ขณะเดียวกัน ทางธรรมศาสตร์ยังมีความสนใจเรื่องการนำเข้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ อย่างชุดตรวจ Antigen Test Kit (ATK) ที่ต้องการมาช่วยสนับสนุนในภาคเอกชน ผู้ประกอบการ เพื่อให้เกิดความรวดเร็วและมีราคาถูก โดยเบื้องต้นมีความประสงค์ให้ ATK มีราคาถูกอย่างน้อย 45-50 บาท เพื่อใช้ตรวจได้จำนวนหลายครั้ง เนื่องจากคุณสมบัติของ ATK ไม่ได้ไวเท่า RT-PCR จึงต้องมีราคาถูกเพื่อใช้ตรวจหลายครั้ง

ในส่วนเรื่องยาฟาวิพิราเวียร์ คาดว่าการนำเข้าและเริ่มกระบวนการผลิตเองของ อภ. เพียงพอแล้ว พร้อมยืนยันการดำเนินการของ มธ. ไม่ได้ต้องการแสวงหาผลกำไร และมองว่าการออกข้อบังคับของมหาวิทยาลัยนี้ช่วยอุดช่องโหว่ของภาครัฐ สร้างการเข้าถึงยา เวชภัณฑ์ ในประชาชน แต่หากทุกมหาวิทยาลัยต่างออกประกาศข้อบังคับ ก็จะทำให้สมดุลหรืออำนาจต่อรองในการสั่งซื้อน้อยลง มากกว่าความต้องการจากเครือข่ายแล้วสั่งซื้อ

"ขณะนี้ยังไม่ได้มีหน่วยงานใดเสนอตัวเข้ามาเป็นพาร์ทเนอร์ทันที มีเพียงการเจรจาพูดคุยกัน หากมีความชัดเจนเรื่องวัคซีนจึงจะมีการตกลงอีกครั้ง เพราะเบื้องต้นมองว่าการนำเข้าได้จริง น่าจะเกิดในปีหน้า" รศ.นพ.พฤหัส ระบุ