ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ภายหลังจากที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (มธ.) มีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ประกาศใช้ "ข้อบังคับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ว่าด้วยการจัดการบริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 พ.ศ. 2564" ซึ่งได้ลงนามประกาศโดยนายกสภามหาวิทยาลัย เมื่อวันที่ 16 ส.ค. 2564 และจะมีผลในวันที่ 17 ส.ค.นี้่

"The Coverage" ได้รับการเปิดเผยจากแหล่งข่าวในสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งให้รายละเอียดที่มาของมติดังกล่าว ว่าถูกนำเสนอวาระเรื่องนี้โดย ศ.สุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดี มธ. ในฐานะประธานโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ รังสิต จ.ปทุมธานี

ศ.สุรพล ให้เหตุผลและความจำเป็นในการนำเข้าวัคซีนโควิด-19 โดยธรรมศาสตร์เอง เนื่องจากขณะนี้จำนวนผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ที่มารักษาตัวที่ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ รพ.สนามธรรมศาสตร์ มีจำนวนมากจนล้นเกินกว่าที่โรงพยาบาลจะรับไหว อีกทั้งบุคลากรทางการแพทย์ของธรรมศาสตร์เองก็ติดเชื้อโควิด-19

ขณะเดียวกันการจะไปรอวัคซีนที่รัฐบาลจัดสรรมาให้ รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ก็ไม่เพียงพอ และกระบวนการล่าช้า ไม่ทันการกับสถานการณ์วิกฤตโควิด-19 ในขณะนี้ ที่จำนวนผู้ป่วยและคนเสียชีวิตมีจำนวนมาก เพราะปัจจุบัน รพ.ธรรมศาสตร์ฯ มีผู้ป่วยโควิด-19 เข้ามาที่โรงพยาบาลจำนวนมากทุกวัน การต้องรอการจัดสรรวัคซีนจากรัฐบาลจึงไม่ทันการ

ทั้งนี้ จึงเห็นว่าจากข้อกฎหมายของ มธ. ที่มีอยู่ สามารถออกข้อบังคับนำเข้าวัคซีน ยา และเวชภัณฑ์เองได้ เช่นเดียวกับราชวิทยาลัยจุฬาภรณ์ จึงเสนอขอให้สภา มธ. อนุมัติหลักการดังกล่าว

แหล่งข่าวระบุว่า ที่ประชุมได้มีการพิจารณาเรื่องดังกล่าวประมาณหนึ่งชั่วโมง โดยมีการซักถามรายละเอียดจาก ศ.สุรพล อย่างกว้างขวาง เช่น สามารถทำได้ตามข้อกฎหมายหรือไม่ จะมีปัญหาตามมาภายหลังหรือไม่ และการนำเข้าวัคซีน เมื่อส่งมาแล้วต้องทำอย่างไร ใครจะรับผิดชอบ และสามารถจัดหาวัคซีนได้เร็วสุดเมื่อใด

ศ.สุรพล ในฐานะที่เป็นนักกฎหมายด้วย ได้ยืนยันต่อที่ประชุมว่าไม่มีปัญหาข้อกฎหมายแน่นอน เพราะกฎหมายเปิดช่องให้ทำได้ และกระบวนการจัดซื้อวัคซีนก็จะทำตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และระเบียบการจัดซื้อจัดจ้างของราชการทุกอย่าง

"ที่ประชุมได้รับแจ้งว่าการจัดซื้อวัคซีนดังกล่าว จะนำมาใช้กับระบบการดูแลผู้ป่วย และการฉีดวัคซีนของธรรมศาสตร์เป็นหลัก คือใช้ใน รพ.ธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ และ รพ.สนาม เท่านั้น โดยธรรมศาสตร์จะไม่เป็นโบรกเกอร์ในการจัดซื้อวัคซีน" แหล่งข่าวจากที่ประชุมระบุ

จากนั้นที่ประชุมสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งมี ศ.นรนิติ เศรษฐบุตร นายกสภาฯ เป็นประธาน จึงมีมติเอกฉันท์เห็นชอบให้ มธ. มีการนำเข้าวัคซีนป้องกันโควิด-19 โดยการออกประกาศฯ เพื่อประกาศภารกิจเกี่ยวกับการให้บริการทางการแพทย์และการสาธารณสุขในสถานการณ์โควิด โดยเฉพาะอย่างยิ่งการดำเนินการทั้งในประเทศ และต่างประเทศเกี่ยวกับการจัดหา นำเข้า หรือขึ้นทะเบียน บรรดาสิ่งจำเป็นทั้งหลายไม่ว่าจะเป็นยา วัคซีน เวชภัณฑ์

ภายหลังที่ประชุมมีมติเอกฉันท์ และลงนามโดยนายกสภาฯ ประกาศข้อบังคับฉบับนี้ก็ได้ถูกส่งตรงไปยังสำนักงานเลขาธิการ ครม. เพื่อให้นำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา

"เบื้องต้นทางกรรมการสภาฯ ได้ทราบข้อมูลว่าจะมีการจัดหาจัดซื้อวัคซีนไฟเซอร์ โมเดอร์นา และอื่นๆ นำเข้ามา ส่วนว่าหากนำเข้ามาแล้ว ถ้าจะมีหน่วยงานอื่นมาขอซื้อต่อจาก รพ.ธรรมศาสตร์ฯ หรือไม่ ตรงนี้ต้องถือว่าวัคซีนที่นำเข้าเป็นทรัพย์สินของธรรมศาสตร์แล้ว การดำเนินการต่อไปจะเป็นอย่างไร ทาง ศ.สุรพล จะเป็นผู้ดำเนินการอีกครั้ง" แหล่งข่าวจากที่ประชุมให้ข้อมูล