ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ธนาคารโลก (World Bank) และองค์การอนามัยโลก (WHO) ให้ความเห็นตรงกันว่า “ระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ” ที่เข้มแข็ง ช่วยเสริมศักยภาพให้ประเทศรับมือโรคระบาดโควิด-19 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ข้อสรุปดังกล่าวมาจากความพยายามของทั้ง 2 องค์กร ในการการศึกษาปัจจัยที่มีผลต่อความสามารถในการรับมือโรคระบาดที่แตกต่างกันในแต่ละประเทศ 

ในส่วนของธนาคารโลก ได้เผยแพร่รายงาน Walking the Talk: Reimagining Primary Health Care after COVID-19 เมื่อปลายเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ระบุว่า โรคระบาดโควิด-19 เผยให้เห็นความอ่อนแอของระบบสาธารณสุขปฐมภูมิในหลายประเทศทั่วโลก พร้อมๆ กับตอกย้ำความสำคัญของระบบที่ทำให้ประเทศหนึ่งจัดการโรคระบาดได้ดีกว่าอีกประเทศ

ระบบสาธารณสุขปฐมภูมิที่มีการออกแบบอย่างดี ช่วยปิดรอยต่อของบริการประเภทต่างๆ ทำให้มาตรการสอบสวนโรค การตรวจเชื้อ การติดตามผู้ป่วย และการฉีดวัคซีน สามารถทำได้โดยอาศัยเครือข่ายระดับต่างๆ จากระดับชุมชน โรงพยาบาล ไปจนถึงระดับนโยบาย  

World Bank จึงเสนอให้ทุกประเทศทุ่มเม็ดเงินลงทุนด้านระบบสาธารณสุขปฐมภูมิให้มากขึ้น ซึ่งจะให้ผลตอบแทนสูง ลดความเสี่ยงและผลกระทบจากวิกฤติด้านสุขภาพในอนาคต ทั้งยังสร้างความยั่งยืนให้กับระบบสุขภาพในระยะยาว โดยการลงทุนอาจมีแหล่งที่มาของเงินจากงบประมาณของรัฐบาลเอง หรือจากการบริจาคขององค์กรนานาชาติและประเทศที่ร่ำรวยกว่า

“วิกฤติที่เกิดขึ้นในตอนนี้ ทำให้ความสูญเสียด้านเศรษฐกิจและสุขภาพ แต่ก็ให้โอกาสที่กับเราในการเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพให้ดียิ่งขึ้น โอกาสนี้อาจเห็นเพียงครั้งเดียวในหนึ่งเจเนอเรชั่น” Mamta Murthi รองประธานด้านการพัฒนามนุษย์ ธนาคารโลก ระบุ

Mamta Murthi บอกอีกว่า ไม่ว่าจะช่วงวิกฤติหรือช่วงเวลาปกติ ระบบสาธารณสุขปฐมภูมิสามารถช่วยชีวิตคน ลดค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ และทำให้ระบบสุขภาพในภาพรวมมีความยืดหยุ่นมากพอที่จะรับมือกับวิกฤติ

ธนาคารโลกเสนอให้นานาประเทศออกแบบกลไกการทำงาน ที่ส่งเสริมความเข้มแข็งให้ระบบสาธารณสุขปฐมภูมิ หนึ่งในนั้น คือ การสร้างทีมงานด้านสาธารณสุขที่ประกอบด้วยผู้เชี่ยวชาญหลากสาขาและข้ามศาสตร์ ซึ่งจะทำให้การดูแลประชาชนและผู้ป่วยมีความรอบด้าน 

ทั้งยังเน้นย้ำให้ใช้แนวคิดผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง ทีมงานด้านสาธารณสุขต้องออกแบบบริการสุขภาพปฐมภูมิที่สอดคล้องกับความต้องการผู้ป่วย แทนที่ออกแบบจากแนวคิดบนลงล่าง ซึ่งไม่อาจตอบโจทย์ปัญหาสุขภาพเฉพาะในพื้นที่ที่มีบริบทต่างกัน

นอกจากนี้ ยังต้องมีการติดตามผลลัพธ์ด้านสุขภาพภายหลังการให้บริการ ทำระบบตรวจสอบและติดตามผู้ป่วย มีแผนการบริหารจัดการทรัพยาการด้านการเงินและบุคลากร เพื่อสร้างความน่าเชื่อถือและความโปร่งใส

ข้อเสนอของธนาคารโลกสอดคล้องกับการศึกษาขององค์การอนามัยโลกที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ ซึ่งเน้นย้ำความสำคัญของระบบสาธารณสุขปฐมภูมิและหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ในการสร้างความเข้มแข็งของประชากรและประเทศในการจัดการกับโรคระบาด

WHO ยกตัวอย่างกรณีศึกษาในประเทศต่างๆ ที่ผนวกระบบสาธารณสุขปฐมภูมิเข้ากับการให้บริการสุขภาพ และให้ผลลัพธ์ค่อนข้างดี

เช่น ซูดาน ในฝั่งทวีปแอฟริกา ชุมชนและเจ้าหน้าที่รัฐให้ความสำคัญกับการรับฟังความเห็นเพื่อทำบริการสุขภาพปฐมภูมิ จึงมีโครงการด้านสุขภาพที่ได้รับการยอมรับจากชุมชน สามารถตรวจสอบความโปร่งใสได้

ในมองโกเลีย เจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาลระดับปฐมภูมิ นำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารบนมือถือ เข้ามาแก้ไขปัญหาการเข้าถึงบริการสุขภาพในที่ห่างไกล เช่นเดียวกับในอินเดีย ที่รัฐบาลสร้างหน่วยพยาบาลปฐมภูมิไว้ในพื้นที่ชนบท เพื่อให้ประชาชนเข้าถึงบริการส่งเสริมและป้องกันโรค

อ้างอิง
https://www.worldbank.org/en/news/press-release/2021/06/28/well-designed-primary-health-care-can-help-flatten-the-curve-during-health-crises-like-covid-19
https://www.who.int/news-room/feature-stories/detail/primary-health-care-around-the-world-delivering-health-services-to-people-where-they-need-it