ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

วชิรพยาบาล เปิดตัวแอปฯ "Vajira @ Home" ให้บริการรักษาทางไกลไม่ต้องมาถึงโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงผู้ป่วยติดเชื้อโควิด-19 ตั้งเป้าคนไข้ใช้บริการ 10% ในปีแรก


ผศ.นพ.จักราวุธ มณีฤทธิ์ คณบดีคณะแพทยศาสตร์วชิรพยาบาล เปิดเผยว่า ทางวชิรพยาบาล มีนโยบายเพิ่มช่องทางการรักษาจากที่บ้านแบบ Telemedicine โดยได้จัดทำแอปพลิเคชั่น “Vajira @ Home” เพื่อใช้รับส่งข้อมูลสุขภาพกับผู้ป่วยและนัดหมายพบแพทย์ผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งประชาชนไม่ต้องมาโรงพยาบาล ลดความเสี่ยงในการเดินทางและติดเชื้อโควิด-19

ผศ.นพ.จักราวุธ กล่าวว่า แอปฯ ดังกล่าวรับทุนสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม โดยยึดผู้ป่วยเป็นจุดศูนย์กลาง ซึ่งในแอปฯ จะมีข้อมูลการนัดหมายทั้งก่อนวันนัด คิวการรับบริการ ซึ่งผู้ป่วยสามารถเปิด "ประวัติสุขภาพ" ที่มีผลการวินิจฉัย การรักษา ยาที่ได้รับ รวมทั้งผลการตรวจเลือด

นอกจากนี้ยังมีในส่วน "สมุดบันทึก" ที่ผู้ป่วยสามารถบันทึกค่าต่างๆ เช่น ข้อมูลน้ำตาล ค่าความดันโลหิต โดยสามารถเชื่อมต่อกับเครื่องมืออื่นๆ เช่น นาฬิกาดิจิทัล สามารถถาม-ตอบแบบอัตโนมัติด้วยระบบ Chat Bot นอกจากนี้สามารถแจ้งเตือนเหตุฉุกเฉินพร้อมระบุตำแหน่ง GPS เพื่อเรียกรถพยาบาลให้ไปถึงตำแหน่งที่หมายอย่างรวดเร็วและถูกต้อง

"ในส่วนของความปลอดภัยของข้อมูลผู้ป่วย แอปฯ Vajira @ Home เป็นแอปพลิเคชั่น Telemedicne แรกในประเทศไทยที่นำเอา Blockchain ที่มักใช้กับ Fin Tech มาใช้กับ Health Tech ซึ่งจะทำให้ระบบมีความปลอดภัยในการปกป้องข้อมูลสูงตามกฎหมาย PDPA ที่ประเทศไทยกำลังจะประกาศใช้ในปีหน้า" ผศ.นพ.จักราวุธ กล่าว

ผศ.นพ.จักราวุธ กล่าวอีกว่า การใช้แอปฯ นี้จะเพิ่มความสะดวกสบาย โดยเฉพาะผู้ที่มีโรคประจำตัวในกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง อาทิ เบาหวาน ความดันโลหิตสูง นอกจากนี้ยังใช้ติดตามการรักษาผู้ป่วยกลุ่มอื่นๆ เช่น ผู้ป่วยกระดูกและข้อ (ออร์โธปิดิกส์) การติดตามผลการรักษาก่อนและหลังผ่าตัด การสอนทำกายภาพบำบัด ผู้ป่วยสามารถนัดหมายแพทย์ผู้เชี่ยวชาญพร้อมรับคำปรึกษา วินิจฉัยโรค รักษา เสมือนกับเดินทางมาโรงพยาบาล อีกทั้งสามารถนำข้อมูลประวัติการรักษาแชร์ให้แพทย์คนอื่นๆ ได้ กรณีไปพบแพทย์หลายโรงพยาบาล 

ทั้งนี้ ทางโรงพยาบาลได้เริ่มโปรโมทแอปฯ ให้คนไข้ได้รับทราบแล้ว ในช่วงที่คนไข้นั่งรอรับยาหรือรอพบหมอจะแนะนำให้คนไข้ดาวโหลดแอปฯ ไว้บนมือถือ จากนั้นลงทะเบียนสมัครใช้งาน ยืนยันตัวตน แล้วทางโรงพยาบาลจะทำการตรวจสอบ เมื่อคนไข้ได้รับการอนุมัติแล้วก็สามารถเข้าใช้งานในฟังก์ชั่นต่างๆ ได้ทันที ซึ่งในช่วงแรกนี้ตั้งเป้าจะมีคนไข้ดาวโหลดแอปฯ ไปใช้ประมาณ 10% ของคนไข้ที่มาใช้บริการที่โรงพยาบาล 3,000 คนต่อวัน