ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อย.ยืนยันออกกฎหมายรองรับการปลดล็อก "กัญชา-กัญชง" สามารถใช้ประโยชน์ในผลิตภัณฑ์สุขภาพ-สมุนไพร ทั้งในอาหาร-เครื่องสำอางได้เต็มที่ ผู้ประสงค์ใช้ขอให้ศึกษารายละเอียด-หลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้อง


นพ.วิทิต สฤษฎีชัยกุล รองเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยา เปิดเผยว่า สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ขอชี้แจงว่าได้ออกกฎหมายรองรับการปลดล็อกกัญชา กัญชง ให้สามารถนำไปใช้เป็นส่วนผสมในอาหาร เครื่องสำอาง และผลิตภัณฑ์สมุนไพรได้แล้ว เนื่องจากยังมีเกษตรกรและกลุ่มวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชา ออกมาสะท้อนปัญหาเกี่ยวกับการแปรรูปเพื่อใช้ในผลิตภัณฑ์ต่างๆ ว่าติดขัดในเรื่องของกฎหมายและการขออนุญาต

ทั้งนี้ กรณีการนำไปใช้ในเครื่องสำอาง กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ได้ออกประกาศกำหนดเงื่อนไขการใช้น้ำมันหรือสารสกัดจากเมล็ดกัญชง ส่วนของกัญชา ส่วนของกัญชง รวมทั้งสารสกัดที่มีสารแคนนาบิไดออลจากกัญชาและกัญชงแล้ว และเพื่อความปลอดภัยของผู้บริโภค คณะกรรมการเครื่องสำอางยังได้ออกประกาศให้แสดงคำเตือนที่ฉลากของเครื่องสำอางดังกล่าวด้วย

สำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร อย.ได้จัดทำประกาศซึ่งมีผลบังคับใช้วันที่ 26 ก.พ. 2564 ปลดล็อค กัญชา กัญชง ที่ไม่เป็นยาเสพติดให้โทษประเภท 5 ให้สามารถนำมาใช้ในอาหาร และประกาศอีกฉบับที่ให้สามารถนำเมล็ดกัญชง น้ำมันจากเมล็ดกัญชง โปรตีนจากเมล็ดกัญชง มาใช้ในอุตสาหกรรมอาหาร เช่น  ผลิตภัณฑ์อาหารซีเรียล เบเกอรี่ เครื่องดื่ม ขนมขบเคี้ยว ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เป็นต้น ส่วนน้ำมันจากเมล็ดกัญชง สามารถใช้ผลิตเป็นผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร น้ำมัน ผลิตภัณฑ์ทาขนมปัง เป็นต้น

นพ.วิทิต กล่าวว่า ทั้งนี้ให้ใช้ในปริมาณตามเงื่อนไขที่กำหนด โดยอยู่ในระหว่างจัดทำร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีส่วนประกอบของส่วนของกัญชาหรือกัญชง ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน มิ.ย.นี้ และร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ผลิตภัณฑ์อาหารที่มีสารสกัดแคนนาบิไดออลเป็นส่วนประกอบ ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในเดือน ก.ค.

ในส่วนของผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้มีคำแนะนำสำหรับการขออนุญาตลผลิตภัณฑ์สมุนไพร 3 กลุ่ม ได้แก่ 1. ตำรับยาจากสมุนไพรที่มีส่วนประกอบของใบและกิ่งก้านกัญชา ได้แก่ ยาศุขไสยาศน์ ยาแก้นอนไม่หลับ ยาแก้ไข้ผอมเหลือง ยาแก้ลมแก้เส้น ยาทาริดสีดวงทวารหนักและโรคผิวหนัง และยาแก้โรคจิต 2. ผลิตภัณฑ์สมุนไพรชนิดใช้ภายนอก ที่ใช้ใบ ลำต้น กิ่ง ก้าน ราก สารสกัดกัญชาหรือกัญชงเป็นส่วนประกอบที่ไม่ใช่สารออกฤทธิ์ 3. ชาสมุนไพรจากใบกัญชา กัญชง 

"อย่างไรก็ตามในการขออนุญาตแต่ละผลิตภัณฑ์ ให้ศึกษารายละเอียดและดาวน์โหลดเอกสาร ประกาศ คำชี้แจง คำแนะนำ รวมถึงหลักเกณฑ์ในการจดแจ้งเครื่องสำอางที่มีส่วนผสมของกัญชาและกัญชง การขออนุญาตผลิตภัณฑ์อาหาร และผลิตภัณฑ์สมุนไพร ได้จาก www.fda.moph.go.th รวมถึงขอคำปรึกษาได้ที่ อย. ซึ่ง อย.พร้อมสนับสนุน อำนวยความสะดวกเพื่อส่งเสริมการนำผลิตภัณฑ์กัญชา กัญชง ไปใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ เพื่อนำรายได้สู่ชุมชนและประเทศชาติ" นพ.วิทิต กล่าว