ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมการแพทย์แผนไทยฯ เปิด เวทีรับฟังความเห็นทางกฎหมาย ร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ให้สอดรับ กับการนำไปใช้อย่างปลอดภัย และ ถูกกฎหมาย


กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เปิดเวที รับฟังความเห็นทางกฎหมายร่าง พ.ร.บ.กัญชา กัญชง พ.ศ. ....เพื่อให้ประชาชนและผู้ที่เกี่ยวข้อง นำเสนอความเห็นที่เป็นประโยชน์ในการนำกฎหมาย กำกับ ดูแล กัญชา กัญชง เป็นการเฉพาะ ซึ่งจะสามารถบังคับใช้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า  ตามนโยบายรัฐบาล ได้มุ่งเน้นการใช้ประโยชน์จากกัญชาทางการแพทย์ และสุขภาพ เพื่อสร้างมูลค่าในเชิงเศรษฐกิจ กระทรวงสาธารณสุข ได้ดำเนินการหารือเพื่อให้ได้ข้อมูลที่มีหลักการและเหตุผลรองรับ ทั้งมิติเชิงสุขภาพ มิติเชิงสังคม  มิติเชิงเศรษฐกิจ

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รมว.สาธารณสุข ได้สั่งการให้มีการประชุมคณะกรรมการยกร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) กัญชา กัญชง พ.ศ. ....  และ ได้นำร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าวเสนอคณะทำงานติดตามและกลั่นกรองร่าง พ.ร.บ. กัญชา กัญชง พ.ศ. .... จำนวน 8 ครั้ง ตลอด 3 เดือน ที่ผ่านมา  ซึ่งขณะนี้ กำลังเข้าสู่กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน เพื่อประโยชน์ในการใช้กัญชา ทางการแพทย์ และสร้างเศรษฐกิจให้กับประเทศ

ดังนั้น พ.ร.บ. นี้ จึงเป็นการเปิดโอกาสให้มีการนำกัญชา กัญชง หรือสารสกัดมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ สุขภาพ และเศรษฐกิจ โดยที่กัญชา กัญชง เป็นพืชที่ไม่ได้ถูกกำหนดให้เป็นยาเสพติดตามประมวลกฎหมายยาเสพติด ประชาชนอาจสามารถครอบครองบริโภค และใช้กัญชา และกัญชง ได้อย่างแพร่หลาย ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อสุขภาพของประชาชนตลอดจนเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ 

รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวอีกว่า จากนั้นเมื่อเข้าสู่ กระบวนการรับฟังความคิดเห็นจากสาธารณชน ซึ่งจะจัดขึ้นในวันที่ 12 ม.ค. 2567 เวลา 10.00 น. เป็นต้นไป ณ กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก สธ. จ.นนทบุรี สามารถเข้าแสดงความคิดเห็น ทางเว็บไซต์กรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก www.dtam.moph.go.th  ตั้งแต่วันที่ 9-23 ม.ค. 2567 ได้อีกช่องทางหนึ่ง เมื่อผ่านกระบวนการรับฟังความคิดเห็นแล้ว จะมีการหารือร่าง พ.รใ[. กัญชา กัญชง พ.ศ. .... ให้สอดคล้อง เหมาะสมก่อนเสนอ รมว.สาธารณสุข เพื่อพิจารณาเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.)

นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ กล่าวเพิ่มเติมอีกว่า เมื่อ ครม. รับร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้แล้ว จะต้องให้คณะกรรมการกฤษฎีกาฯ เพื่อตรวจสอบปรับแก้ให้ถูกต้องเหมาะสม และส่งกลับมาให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหลังจากนี้จึงจะเสนอต่อรัฐสภา เพื่อพิจารณาให้เป็นกฎหมายที่มีผลบังคับใช้กับประชาชน ต่อไป