ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ใหญ่บ้าน จ.แพร่ เสียชีวิตหลังฉีดวัคซีนโควิดเต็มอัตรา 400,000 บาท คณะอนุกรรมการฯ ชี้เพื่อช่วยเหลือเบื้องต้น-บรรเทาความเดือดร้อน แม้ยังไม่สามารถสรุปว่าเป็นผลจากวัคซีนโควิดหรือไม่


นพ.เติมชัย เต็มยิ่งยง ผู้อำนวยการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 1 เชียงใหม่ เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะอนุกรรมการพิจารณาวินิจฉัยคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกรณีผู้รับบริการได้รับความเสียหายจากการรับวัคซีนป้องกันโรคติดเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 หรือโรคโควิด-19 ระดับเขตพื้นที่ เขต 1 เชียงใหม่ เมื่อวันที่ 4 มิ.ย. 2564 ได้มีมติจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่กรณีของนายอุดร เย็นจิตร ผู้ใหญ่บ้านหมู่ที่ 6 ต.ห้วยม้า จ.แพร่ ซึ่งเสียชีวิตภายหลังฉีดวัคซีนโควิด-19 เป็นเงินจำนวน 400,000 บาท

สำหรับมติดังกล่าว เป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นเต็มอัตราในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวร ที่กำหนดให้จ่ายได้ไม่เกิน 400,000 บาท โดย สปสช.จะเร่งจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นให้ครอบครัวผู้เสียชีวิตโดยเร็วภายใน 5 วัน นอกจากนี้คณะอนุกรรมการฯ ยังได้พิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นแก่ผู้ได้รับความเสียหายรายอื่น ซึ่งที่เหลือเป็นผู้ได้รับผลกระทบเล็กน้อย รวม 23 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้น 475,500 บาท

นพ.เติมชัย กล่าวว่า ที่ผ่านมาคณะอนุกรรมการฯ เขต 1 เชียงใหม่ ได้ประชุมไปแล้วจำนวน 3 ครั้ง คือวันที่ 19 พ.ค., 28 พ.ค. และ 4 มิ.ย. รวมพิจารณาจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปแล้ว 100 ราย และจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นไปจำนวน 717,500 บาท

ด้าน ผศ.นพ.สุรัตน์ ตันประเวช ผู้เชี่ยวชาญด้านระบบประสาทและสมอง กรรมการสมาคมประสาทวิทยาแห่งประเทศไทย ในฐานะอนุกรรมการฯ กล่าวว่า กรณีการเสียชีวิตภายหลังจากได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 ของนายอุดร เย็นจิตร ตามประวัติพบว่าผู้เสียชีวิตมีโรคประจำตัวไทรอยด์เป็นพิษ สาเหตุการเสียชีวิตเบื้องต้นน่าจะเกิดจากภาวะหัวใจล้มเหลวเฉียบพลัน  

"คณะอนุกรรมการฯ มีความเห็นว่าการเสียชีวิตของนายอุดร เป็นเหตุการณ์ไม่พึงประสงค์ที่เกิดขึ้นในช่วงที่มีการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยที่ยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกิดจากสาเหตุใด และยังไม่สามารถสรุปได้ว่าเกี่ยวข้องหรือเป็นผลมาจากจากการได้รับวัคซีนโควิด-19 หรือไม่ คณะอนุกรรมการฯ จึงมีมติให้จ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้น ซึ่งเป็นไปตามหลักการสำคัญของการจ่ายเงินช่วยเหลือเบื้องต้นฯ ของ สปสช.อยู่แล้ว ที่มุ่งช่วยเหลือและบรรเทาความเดือดร้อนที่เกิดขึ้นกับผู้ที่ได้รับการฉีดวัคซีนโควิด-19 โดยไม่ต้องรอพิสูจน์ถูกผิดหรือผลพิสูจน์ทางการแพทย์" ผศ.นพ.สุรัตน์ กล่าว

อนึ่ง ประชาชนที่เกิดอาการไม่พึงประสงค์หลังฉีดวัคซีนโควิด-19 ที่รัฐจัดให้ฟรี สามารถยื่นเรื่องขอรับเงินช่วยเหลือเบื้องต้นกับ สปสช.ได้ที่ โรงพยาบาลที่ฉีด หรือสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) หรือที่ สปสช.สาขาเขตพื้นที่ทั้ง 13 เขต โดยมีระยะเวลายื่นคำร้องได้ภายใน 2 ปีนับแต่วันที่ทราบความเสียหาย สอบถามเพิ่มเติมได้ที่สายด่วน สปสช. โทร. 1330

ทั้งนี้ ในกรณีเสียชีวิตหรือทุพพลภาพถาวรจะได้รับการช่วยเหลือไม่เกิน 400,000 บาท กรณีสูญเสียอวัยวะหรือพิการช่วยเหลือไม่เกิน 240,000 บาท และกรณีเกิดภาวะเจ็บป่วยที่ต้องรับการรักษาไม่เกิน 1 แสนบาท ซึ่งจะช่วยเหลือจำนวนเท่าใดนั้น เป็นการพิจารณาของอนุกรรมการฯ ตามภาวะความรุนแรง