ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สำหรับคนภาคอีสานแล้ว "งานบุญประเพณีบั้งไฟ" นับเป็นงานที่มีความสำคัญ แสดงถึงวัฒนธรรมที่มีความงดงามและเต็มไปด้วยจิตวิญญาณ เป็นกิจกรรมของความร่วมมือกันในชุมชน ซึ่งต้องแบ่งหน้าที่ ใช้ระยะเวลา ใช้ความพยายามในการเตรียมสถานที่ และทำบั้งไฟให้ดีที่สุด ทั้งยังเป็นสปิริตที่ลูกหลานต้องกลับบ้านเพื่อไปร่วมงาน

อย่างไรก็ตามเมื่อเวลาเปลี่ยนแปลงไป การจุดบั้งไฟกลับกลายเป็นเพื่อแข่งขัน มีการดื่มสุราจนเกินขอบเขต และมีการพนัน ทำให้คุณค่าของประเพณีบั้งไฟลดลง

เพื่อสะท้อนถึงบทเรียนของเรื่องนี้ เครือข่ายงดเหล้า สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และมูลนิธิสื่อเพื่อสุขภาวะ จึงได้ร่วมกันเปิดเวทีเสวนาออนไลน์ “ประเพณีบุญบั้งไฟในยุคโควิด ความเชื่อ โอกาสและความเสี่ยง” เพื่อร่วมกันถ่ายทอดถึงการทำงานควบคุมปัจจัยเสี่ยงในงานบุญบั้งไฟที่ผ่านมา

นายมานพ แย้มอุทัย คณะกรรมการกำกับทิศ สำนักควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสังคม สสส. ยืนยันว่า แนวทางหนี่งที่จะรักษาคุณค่าของประเพณีไว้ได้ คือความเข้มแข็งของชุมชนที่จะรักษาประเพณี และการพัฒนาสื่อ สร้างความรู้เท่าทันปัญหาปัจจัยเสี่ยงในงานประเพณีบั้งไฟ รวมถึงสร้างข้อมูลส่งเสริมการท่องเที่ยวบุญบั้งไฟในอนาคต

ตลอดหลายปีมานี้ เครือข่ายงดเหล้าโดยการสนับสนุนของ สสส. จึงได้มีพื้นที่ปฏิบัติการงานประเพณีบุญบั้งไฟ 36 แห่ง ซึ่งสามารถลดปัญหาความไม่ปลอดภัยจากการดื่ม เมาวิวาท และลดปัญหาการเล่นพนันในงานบุญบั้งไฟได้เป็นอย่างดี

นายวิษณุ ศรีทะวงศ์ ผู้จัดการแผนงานพัฒนานโยบายสาธารณะ สำนักงานเครือข่ายองค์กรงดเหล้า (สคล.) เล่าว่า เมื่อโดยส่วนมากแล้วการจุดบั้งไฟจะมีการตั้งวงสังสรรค์และดื่มหนัก สคล. จึงเริ่มเห็นปัจจัยเสี่ยงหลายประการที่มาควบคู่กับการดื่มเหล้า

ในช่วงที่ผ่านมา สคล. จึงได้มีการจัดวงคุย วงเสวนา และมีการรณรงค์เรื่องเหล่านี้ในพื้นที่จัดงานต่างๆ ทั้งขบวนแห่ ทำความเข้าใจกับร้านค้า ตรวจเตือน ทำแผนที่จุดเสี่ยง ทำ MOU ประกาศนโยบายสาธารณะในระดับพื้นที่ สร้างพลังในชุมชน เสริมกิจกรรมสร้างสรรค์ รวมถึงทำพื้นที่โซนนิ่งในการจุดบั้งไฟ (ระยะปลอดภัย) เพื่อทำให้งานบั้งไฟเป็นงานที่ปลอดภัยสำหรับทุกคน

ขณะเดียวกันในช่วงที่โควิด-19 มีการระบาด จึงต้องระมัดระวังเป็นอย่างมากในการจัดงานบุญประเพณี ทำให้ในหลายพื้นที่ไม่มีการจัดงาน หรือบางพื้นที่จัดเพียงแต่การบวงสรวงบูชาเท่านั้น

"เราจึงมีข้อเสนอให้แต่ละชุมชนได้ใช้โอกาสนี้ ในการสืบค้นความหมาย คุณค่าของงานบุญบั้งไฟ และเน้นการจัดงานแบบ SMS หรือ Small, Meaningful, Safe คือจัดเล็กๆ แต่มีคุณค่าความหมาย โดยเน้นไปที่การมีผู้คน ชุมชน คนในครอบครัวได้มีความสุขร่วมกันอย่างปลอดภัย" นายวิษณุ อธิบาย

ด้าน นายจันทร์ โต๊ะสิงห์ ผู้ประสานงานประชาคมงดเหล้าจังหวัดศรีสะเกษ เล่าว่า วิวัฒนาการของงานบุญบั้งไฟ ซึ่งถือเป็นวิถีของชาวอีสาน อาจแบ่งได้เป็น 3 ช่วง คือ ช่วงแรก ที่บั้งไฟทำจากไม้ไผ่อัดดินประสิว โดยผู้คนจะร่วมแรงร่วมใจกันทำงานอย่างเต็มที่ และมีความสุขตามวิถีวัฒนธรรมที่แท้จริง

ขณะที่ช่วงถัดมา บั้งไฟได้เปลี่ยนมาเป็นเสาเหล็ก จึงมีการวัดว่าบั้งไฟใครอยู่ในอากาศได้นานกว่ากัน ซึ่งเป็นกิจกรรมที่สนุกสนาน แต่อย่างไรก็ตามหากเสาเหล็กแตกก็อาจทำให้เสียชีวิตได้ และในยุคนี้ก็เริ่มมีการขายเหล้าในงานอย่างเต็มที่ โดยยังไม่มีการควบคุมใดๆ

เมื่อมาสู่ช่วงที่สาม บั้งไฟได้ใช้ท่อพีวีซี จึงสามารถทำให้ขึ้นสูงได้มากถึงระดับเครื่องบิน ทำให้ยุคนี้มีการแข่งขันอย่างเป็นทางการ และมีการลักลอบพนันโดยมีเงินทุนหมุนเวียนจำนวนมาก ทั้งยังมีการดื่มเหล้าเยอะมาก ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงที่ผ่านมาโดยเฉพาะในช่วงที่สามนี้ จึงทำให้คุณค่าของประเพณีบั้งไฟลดลง

ทั้งนี้ ภาพของการดำเนินงานที่ผ่านมาสะท้อนผ่าน นางผ่องศรี แซ่จึง สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจังหวัดศรีสะเกษ เขต 8 เล่าว่า ที่อำเภอราษีไศล ได้มีการรณรงค์งานบุญปลอดเหล้ามาตั้งแต่ปี 2551 จนทุกตำบลให้การยอมรับ กลายเป็นฉันทามติของอำเภอราษีไศล และขยายผลไปยังงานอื่นๆ ซึ่งผู้คนในท้องถิ่นเห็นด้วยกับการจัดงานปลอดเหล้า รวมไปถึงการพนันที่ลดลง

นางผ่องศรี เล่าอีกว่า เมื่อมีการเข้ามาของโควิด-19 ในพื้นที่ยังคงมีประเพณีบั้งไฟเล็กๆ ในระดับหมู่บ้าน เป็นการจุดฉลองปู่ตา หรือเรียกว่าบุญเดือน 6 ส่วนประเด็นท้าทายในอนาคตคือการจัดการกับทุนน้ำเมาที่เกี่ยวเนื่องกับงานบุญประเพณี ที่จะทำให้คนมีความสุขได้โดยไม่ต้องมีเหล้า รวมถึงการให้ความสำคัญกับเด็กและเยาวชนยุคปัจจุบันที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว

"เราต้องยอมรับในความเปลี่ยนแปลงนี้ และควรหากิจกรรมเสริมที่น่าสนใจมาสนับสนุน ให้เด็กและเยาวชนได้ซึมซับวัฒนธรรมที่ดีงามได้ในแบบฉบับของคนรุ่นใหม่ต่อไป" นางผ่องศรี ทิ้งท้าย

สำหรับผู้แทนจากพื้นที่ต่างๆ ที่ได้ร่วมพูดคุยบนเวทีเสวนาออนไลน์ ส่วนใหญ่ระบุว่าในปีนี้มีการบูชา รำบวงสรวง โดยนางรำต้องห่างกัน 2 เมตร เพื่อเป็นการสืบสานประเพณีเท่านั้น จะมีการจัดจุดบั้งไฟตะไลเล็กๆ เฉพาะการบูชา ขณะที่ในบางพื้นที่มีการทำบุญตักบาตรในลักษณะ New Normal โดยมีอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และเจ้าหน้าที่ดูแลคัดกรอง ประชาสัมพันธ์อย่างใกล้ชิด