ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการค้านขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึง ตี 4  ชี้อุบัติเหตุจราจร ปี 64 มาจากดื่มแล้วขับกว่าร้อยละ 49.8 และส่วนใหญ่เกิดเหตุช่วง ชี้มูลค่าความสูญเสียจากเหล้าที่มากกว่า 165,464 ล้านบาทต่อปี


จากข่าวที่ รมว.ท่องเที่ยวและกีฬาแห่งประเทศไทย (กกท.) เสนอให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 29 พ.ย. 2565 พิจารณาขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงจากเดิม 02.00 น. ถึงเวลา 04.00 น. ได้แก่ ถนนบางลาในภูเก็ต กระบี่ พังงา สมุย เมืองพัทยา และ 3 พื้นที่ในกรุงเทพฯ คือ ถนนข้าวสาร ซอยคาวบอย และซอยพัฒน์พงษ์ เพื่อช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจ

รศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร รองผู้อำนวยการศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เปิดเผยว่า การขยายเวลาในการเปิดสถานบันเทิง การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์เป็นกิจกรรมหลัก ย่อมทำให้เกิดปัญหาจากแอลกอฮอล์เพิ่มมากขึ้น ตัวอย่างประเทศที่เคยประสบปัญหาเช่นนี้ เช่น ประเทศออสเตรเลีย การขยายเวลาขายทำให้การดื่มแอลกอฮอล์และอุบัติเหตุรถชนเพิ่มมากขึ้น ประเทศไอซ์แลนด์ การเพิ่มเวลาขายทำให้มีอัตราการเข้าห้องฉุกเฉิน การบาดเจ็บ การทะเลาะวิวาททำร้ายร่างกาย และการขับขี่ขณะมึนเมาเพิ่มมากขึ้น รวมถึงในประเทศนอร์เวย์ การเพิ่มชั่วโมงขายแอลกอฮอล์ 1 ชั่วโมง ทำให้ปัญหาการทำร้ายร่างกายเพิ่มมากขึ้นถึงร้อยละ 16

สำหรับสถานการณ์ของประเทศไทย ข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติ ปี 2565 พบว่า ในรอบ 1 ปีที่ผ่านมา ประชากรไทยมีพฤติกรรมดื่มแล้วขับสูงถึงร้อยละ 49.8% โดยอุบัติเหตุส่วนใหญ่มักจะช่วงกลางคืนมากกว่ากลางวัน และเป็นที่แน่นอนว่า ย่อมส่งผลต่อสังคมจากการเกิดอุบัติเหตุทางถนน รวมไปถึงการทะเลาะวิวาท และการทำร้ายร่างกาย ซึ่งสัมพันธ์กับมูลค่าความเสียหายที่รัฐต้องแบกรับภาระ จากการศึกษาต้นทุนทางสังคมที่เกี่ยวข้องกับการบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของประเทศไทย พ.ศ. 2564 พบว่า การบริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ก่อให้เกิดความสูญเสียทางเศรษฐกิจเป็นมูลค่าสูงถึง 165,454 ล้านบาท หรือคิดเป็น    ร้อยละ 1.02 ของ GDP ข้อมูลเหล่านี้เป็นความจริงที่ ครม.ต้องรู้ก่อนตัดสินใจ

“ตัวอย่างประเทศในทวีปยุโรปที่จำกัดเวลาขายแอลกอฮอล์ช่วงกลางคืน ได้แก่ ประเทศลัตเวียและลิทัวเนีย ห้ามจำหน่ายฯ ตั้งแต่เวลา 22.00 – 8.00 น. ประเทศนอร์เวย์ ห้ามจำหน่ายฯ ในวันอาทิตย์ทั้งวัน วันจันทร์-ศุกร์ เวลา 18.00 – 10.00 น. และวันเสาร์ เวลา 15.00 – 9.00 น. และประเทศไอร์แลนด์ ห้ามจำหน่ายในวัน จันทร์ – เสาร์ ตั้งแต่เวลา 22.00 – 10.30 น. และวันอาทิตย์เวลา 22.00 – 12.30 เป็นต้น   ดังนั้น ครม. ควรพิจารณาชั่งน้ำหนักระหว่างเงินรายได้จากการขยายเวลาเปิดสถานบันเทิงกับต้นทุนทางสุขภาพ เศรษฐกิจ และสังคมที่เกิดจากแอลกอฮอล์ “ได้ หรือ เสีย” ทั้งนี้ ประเทศไทยจึงไม่ควรขยายเวลาขายในสถานบันเทิง หากยังไม่มีมาตรการทางกฎหมายหรือนโยบายและระบบเข้ามารองรับและเยียวยาผลกระทบที่เกิดขึ้น เช่น  มาตรการการตั้งด่านตรวจลมหายใจแบบสุ่ม (RBT) มาตรการความรับผิดชอบของผู้ประกอบการ/ บริษัทแอลกอฮอล์ต่อผลกระทบและความสูญเสียที่เกี่ยวข้องกับการดื่มแอลกอฮอล์ เช่น อุบัติเหตุจราจรที่เกี่ยวข้องกับการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทะเลาะวิวาท และคดีอาชญากรรมที่เกี่ยวข้องกับเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เป็นต้น” รศ.ดร.นพ.พลเทพ กล่าว

​ ด้าน นายกันตณัช  รัตนวิก  ผู้ประสานงานสมาคมเพื่อนเยาวชนเพื่อการพัฒนาภาคใต้ตอนบน  กล่าวว่า จากการพูดคุยกับเพื่อนภาคีในจังหวัดภูเก็ต  พังงา  และกระบี่ ซึ่งเป็นพื้นที่เป้าหมายของนโยบายขยายเวลาเปิดผับบาร์ถึงตี 4 พบว่าเสียงเป็นเอกฉันท์  ทุกคนไม่เห็นด้วยกับข้อเสนอนี้  เพราะมั่นใจได้ว่าจะเกิดผลกระทบกับเด็ก เยาวชนและประชาชนในพื้นที่อย่างแน่นอน  ปัจจุบันสภาพที่เป็นอยู่ก็ยังแก้ไขกันไม่ตกอยู่แล้ว  คนเมาแล้วขับยังเต็มถนน  ผลกระทบจากการกินดื่มที่เกินขอบเขตขาดความรับผิดชอบยังทวีความรุนแรงอยู่  การขยายเวลากินดื่มคือการเพิ่มคนเมาให้มากขึ้นในพื้นที่ นั่นหมายถึงความเสี่ยงย่อมเพิ่มขึ้นตามมา คนในพื้นที่ต้องรับกรรมมิใช่คนที่ตัดสินใจเชิงนโยบาย การตัดสินใจโดยขาดการมีส่วนร่วมของประชาชนที่เป็นเจ้าของพื้นที่ตัวจริงแบบนี้อันตรายมาก  การที่รัฐจะมุ่งใช้แต่อำนาจแบบนี้ไม่เป็นประชาธิปไตย  และจะยิ่งซ้ำเติมปัญหาจากเหล้าให้มากขึ้นไปอีก รัฐควรมาช่วยสร้างความปลอดภัยให้นักท่องเที่ยวให้มากขึ้นจะดีกว่ามาสร้างนโยบายทำลายสังคมแบบนี้