ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นักวิชาการ ซัด กม.คุมเหล้าเดิมยังบังคับใช้ได้ไม่เต็มที่ โดยเฉพาะการขายให้เด็กและคนเมาขาดสติ ด้านสภาเด็กฯ วอนจัดสภาพแวดล้อมเอื้อความปลอดภัยให้เด็ก ก่อนตกเป็นทาสน้ำเมา 


เมื่อวันที่ 14 ธ.ค. ที่โรงแรมมิราเคิลแกรนด์ เครือข่ายเสร้างเสริมสุขภาพเยาวชน (ขสย.) พร้อมด้วยเครือข่ายเยาวชนลดปัจจัยเสี่ยง สภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) จัดเสวนา มองรอบด้าน ปัญหาการปกป้องเด็กและเยาวชนไทย จากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ เพื่อสะท้อนปัญหา ผลกระทบ และปลุกพลังสังคมให้เห็นถึงความสำคัญ มีส่วนร่วมในการป้องกันและแก้ไขปัญหาจากเครื่องดื่มแอลกอฮอล์

นายธีรภัทร์ คหะวงศ์ ผู้ประสานงาน ขสย. กล่าวว่า มีข้อมูลจากศูนย์วิจัยปัญหาสุรา เมื่อปี 2560 พบว่าประเทศไทยมีผู้บริโภคเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้อยละ 28.40 ลดลงจากปี 2557 ที่มีผู้ดื่ม 32.29 % เป็นผลจาก พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ.2551 แต่กลุ่มที่ยังน่าเป็นห่วงคือเด็กและเยาวชน อายุ 15-24 ปี ที่ยังพบว่ามีการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มากถึง 2,282,523 คน คิดเป็นร้อยละ 23.91 หรือ 1 ใน 4 ของเยาวชนทั้งหมด

ดังนั้นขอให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังต่อกรณีการขายเหล้าให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี ยิ่งหากมีการแก้ไข พ.ร.บ.ควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 ก็ต้องแก้ให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น เช่น ควบคุมการโฆษณาแฝง ควบคุมกิจกรรมการสร้างภาพลักษณ์ที่ดีของธุรกิจสุรา ไม่ควรแก้กฎหมายเปิดช่องให้โฆษณาได้เสรี  ให้ขายในสถาบันอุดมศึกษา รวมถึงไม่ควรยกเลิกเวลาห้ามขาย เพราะถ้าขายได้ตลอด 24 ชม.ปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้น  หากการแก้ไขกฎหมายเป็นไปตามร่างของกลุ่มธุรกิจสุรารายย่อยที่เสนอ  จะเป็นการทำลายเจตนารมณ์เดิมของกฎหมายเดิมอย่างรุนแรง  และคนที่จะได้ประโยชน์สูงสุดคือนายทุนน้ำเมารายใหญ่ 

นายโยธิน ทองพะวา ประธานสภาเด็กและเยาวชนแห่งประเทศไทย กล่าวว่า คุ้มครองเด็กต้องเริ่มจากการสร้างสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการเจริญเติบโต ซึ่งเป็นมาตรฐานการเลี้ยงดู ตาม พ.ร.บ.คุ้มครองเด็ก โดยเด็กต้องอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ไม่เป็นอันตราย ห่างจากอบายมุข ซึ่งปัจจุบันประเทศไทยยังมีปัญหาให้เด็กซื้อเหล้า บุหรี่ โดยเฉพาะในต่างจังหวัด จนเกิดความคุ้นชินและกลายเป็นนักดื่มนักสูบหน้าใหม่ ดังนั้นต้องส่งเสริม ประชาสัมพันธ์สร้างการรับรู้ข้อกฎหมายนี้มากขึ้น  ผู้ใหญ่ต้องเป็นแบบอย่างที่ดี สร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมให้ลูกหลานได้เติบโตอย่างปลอดภัย  

สำหรับปีใหม่นี้ต้องอิงการระบาดของโรคโควิด -19 เพราะในการระบาดที่ผ่านมาจุดเริ่มต้นมาจากวงเหล้าในสถานบันเทิง ต้องใช้เวลาหลายเดือนในการควบคุมโรค สร้างความสูญเสียทางเศรษฐกิจ สังคม ชีวิตจำนวนมาก วันนี้เราเริ่มเปิดประเทศแล้ว ดังนั้นในช่วงปีใหม่ ก็ขอให้เฉลิมฉลองอย่างรับผิดชอบ ลดการรวมตัว ฉลองบ้านใครบ้านมัน เพื่อจำกัดวงให้เล็กที่สุด นอกจากนี้ในการจัดกิจกรรม ต่างๆ ขอให้ผู้จัดจำกัดวงเล็กๆ คนที่พักร่วมกันก็ให้ทำกิจกรรมในกลุ่มเดียวกันตลอด และถ้าหลีกเลี่ยงการตั้งวง รวมกลุ่มได้จะดีที่สุด  และช่วงปีใหม่นี้สภาเด็กฯจะร่วมกับภาคีเครือข่ายและ สสส. ทำการรณรงค์ทั่วประเทศ  วอนให้บรรดาผู้จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์  ร่วมกันรับผิดชอบสังคมด้วยการทำตามกฎหมาย  งดขายเหล้าเบียร์ให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปีและคนเมาครองสติไม่ได้

ผศ.ดร.นพ.อุดมศักดิ์ แซ่โง้ว  ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาการสุขภาพ มหาวิทยาลัยวลัยลักษณ์ และนักวิจัยศูนย์วิจัยปัญหาสุรา กล่าวว่า ตัวอักษรในกฎหมายของไทยค่อนข้างครอบคลุมตามประเด็นที่องค์การอนามัยโลกแนะนำ ทั้งเรื่องการควบคุมการเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ทั้งการจำกัดเวลาซื้อ ขาย การจำกัดอายุ เป็นต้น แต่ปัญหาบ้านเราอยู่ที่การบังคับใช้กฎหมายมากกว่า ส่วนเรื่องภาษี เรื่องราคา อยู่กับกระทรวงการคลัง เวลาตัดสินใจขึ้น หรือไม่ขึ้นภาษี จะมองเรื่องการหารายได้เข้ารัฐมากกว่าเรื่องสุขภาพ และมาตรการที่ต่างประเทศทำ

อย่างไรก็ตาม สิ่งที่ประเทศเราไม่มีนั้น คือการกำหนดราคาขั้นต่ำของแอลกอฮอล์ตามหน่วยของแอลกอฮอล์บริสุทธิ์ที่อยู่ในเครื่องดื่ม การแยกให้ชัดเรื่องใบอนุญาตร้านคาปลีก กับร้านนั่งดื่ม ซึ่งจะส่งต่อการควบคุมคนละแบบ จริงๆ กฎหมายไทยมีข้อกำหนดชัดเจนว่าห้ามขายสุรา ให้ผู้ที่เมาครองสติไม่ได้ แต่ในทางปฏิบัติกลับไม่สามารถทำได้เลย  รวมถึงการห้ามขายให้เด็กอายุต่ำกว่า 20 ปี  เราเห็นผู้ประกอบการต้องรับผิดตามกฎหมายทั้งสองข้อนี้น้อยมาก  ดังนั้นเรื่องกฎหมายตนมองว่าให้ครอบคลุม เข้มข้นขึ้น  แต่ตอนนี้ขอให้บังคับใช้สิ่งที่มีอยู่ไห้ได้ก่อน  โดยเฉพาะเรื่องเด็กและคนเมา

            ด้าน นายเอ (นามสมมติ) กล่าวว่า ตนช่วยรุ่นพี่ ผู้ใหญ่ซื้อเหล้า บุหรี่ในหมู่บ้านมาตั้งแต่เด็กเลยมองเป็นเรื่องปกติ พอเข้าเรียนอาชีวะก็ใช้เหล้าและความรุนแรงสร้างการยอมรับจากเพื่อนๆ จนต้องดรอปเรียนทั้งกลุ่ม ไม่ยอมทำงาน แต่ใช้วิธีหาเงินแบบง่ายๆด้วยการปล้น หาเงินมาซื้อเหล้า ซื้อยาเลี้ยงตัวเองและเพื่อนๆ จนอายุ 17 ปี ในงานปาร์ตี้วันเกิด ที่กินดื่มกันเต็มที่ตนใช้ปืนยิงคู่อริที่ร้านข้าวต้ม และยังย่ามใจถึงขนาดจะไปยิงซ้ำที่โรงพยาบาล แต่ระหว่างนั้นมีคนขับรถเบียดมา ตนก็ยิงเขาอีก และในวันเดียวกันเจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าจับกุมเพื่อนๆ สุดท้ายตนหนีได้ แต่ก็เข้ามอบตัวทีหลัง รวมแล้วมีผู้ก่อเหตุ 6 คน โดยเป็นเยาวชน 5 คน ส่วนตัวต้องไปอยู่ที่สถานแรกรับที่มีสภาพเป็นคุกรวมเด็กก่อคดีรุนแรง การจะอยู่ให้รอดจึงต้องใช้ความรุนแรง ความเป็นมนุษย์ถอยห่างออกไปเรื่อยๆ 

อย่างไรก็ตาม พอตนเป็นนักกีฬาตัวแทนได้ออกไปทำกิจกรรมข้างนอกบ้างก็รู้สึกดีแม้เป็นเพียงอิสรภาพชั่วคราว จึงหาข้อมูลเพื่อมาอยู่ที่ศูนย์ฝึกและอบรมเด็กและเยาวชน(ชาย)บ้านกาญจนาภิเษก  อยากทำให้พ่อ แม่ดีใจ มีความสุขจริงๆ บ้าง สุดท้ายตนก็ได้พิสูจน์ตัวเองและมาอยู่ที่บ้านกาญจนาฯ ซึ่งที่นี่ให้อิสระต่างจากที่เดิมสอนให้เราคิดเป็น มีความรับผิดชอบต่อตัวเองและสังคม เห็นอกเห็นใจผู้อื่น ตอนนี้ก็พ้นโทษออกมาแล้ว

“วันนี้ผมพ้นโทษแล้ว หากมองย้อนกลับไปถ้าไม่ใช่เพราะเหล้าคงไม่กล้าทำอะไรรุนแรงแบบนี้ แต่มันเป็นตราบาปติดอยู่ในใจมาตลอดว่าเราเกือบจะฆ่าลูก หรือพ่อ หรือสามีของครอบครัวใด ครอบครัวหนึ่งไปเสียแล้ว สิ่งที่ผมสามารถทำได้เพื่อเป็นการเยียวยาสิ่งที่ติดอยู่ในใจได้คือ การบอกเล่าประสบการณ์ก้าวพลาดนี้ให้กับคนรุ่นใหม่ ต่อให้ต้องพูดล้านครั้ง ให้ล้านคนฟัง แต่มีเพียงแค่คนเดียวที่เข้าใจผมผมก็ถือว่าดีมากแล้ว ไม่อยากให้ใครก้าวพลาดแบบผมอีก” เยาวชนรายนี้ กล่าว