ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ข้อสังเกตหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับ “โฆษณาธุรกิจน้ำเมา” คือการโฟกัสกลุ่มเป้าหมายไปที่ “วัยรุ่น” เป็นหลัก ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสัดส่วนการดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกลุ่มเยาวชน-นักดื่มหน้าใหม่ เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ข้อมูลจาก สำนักงานสถิติแห่งชาติ ฉายภาพสถานการณ์นักดื่มไทยในระยะ 5 ปี พบว่า ทั่วประเทศมีผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ประมาณ 16 ล้านคน หรือเกือบ 1 ใน 3 ของประชากรทั้งหมด โดยอยู่ในช่วงอายุ 20-24 ปี และอายุ 45-49 ปี รวม 36%

สำหรับกลุ่มวัยรุ่น อายุ 15-19 ปีนั้น แม้ว่ามีอัตราการดื่มอยู่ที่ 13.6% แต่ทว่าแนวโน้มกลับเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ

นอกไปจากการทำแคมเปญทางการตลาดเพื่อส่งเสริมการขายและเชื้อเชิญให้ดื่ม ข้อมูลจากการศึกษา “ความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของจุดจำหน่ายสุราและพฤติกรรมการบริโภคสุราในวัยรุ่นไทย ปี พ.ศ. 2550-2560 โดยใช้ Spatiotemporal analysis” ซึ่งจัดทำโดย สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) ซึ่งเก็บข้อมูลมานานถึง 10 ปีเต็ม (2550-2560) พบว่า มีการโฆษณาผ่านทางสื่อออนไลน์ และ social media เพิ่มมากขึ้นและถี่ขึ้น

แน่นอน กลุ่มเป้าหมายหลักยังคงอยู่ที่วัยรุ่น

มากไปกว่านั้นยังพบอีกว่า ทุกวันนี้ปริมาณ ใบอนุญาตจำหน่ายสุรา ในประเทศไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ในมุมหนึ่งย่อมหมายถึง โอกาสในการเข้าถึงสุราที่ง่ายขึ้นนั่นเอง

ผศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร นักวิจัยเครือข่าย สวรส. ในฐานะหัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้ เปิดเผยว่า การทำการตลาดของธุรกิจสุรา ปัจจุบันยังคงมุ่งไปที่กลุ่มวัยรุ่นที่เป็นเป้าหมายหลัก สังเกตได้จากกลยุทธ์การขายสุราตามสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ

อย่างไรก็ดี การเข้าถึงเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ของวัยรุ่น มักเข้าถึงผ่านทางกายภาพ คือพาตัวเองไปซื้อสุราเอง ทั้งร้านชำ ร้านสะดวกซื้อ ผับ บาร์ ฯลฯ โดยตัวชี้วัดที่สนับสนุนพฤติกรรมเหล่านี้คือ “ความหนาแน่นของใบอนุญาตการจำหน่ายสุรา” ซึ่งเป็นการวัดจำนวนใบอนุญาตเทียบกับจำนวนประชากรในพื้นที่

ผลวิจัยระบุว่า แม้การออกใบอนุญาตจำหน่ายสุรามีแนวโน้มเพิ่มขึ้นเล็กน้อยในช่วง 2 ปี ล่าสุด โดยเพิ่มขึ้น 583,880 เป็น 588,962 ใบ หรือเพิ่มขึ้น 5,082 ใบ แต่ด้วยตัวเลขของใบอนุญาตที่มีกว่าครึ่งล้านใบ จะมีความหนาแน่นที่สูงอย่างมาก

เฉลี่ยแล้วจุดขายเหล้า 1 จุดจะรองรับกับประชากร 113 คน หรือทุกๆ 1 ตารางกิโลเมตร จะมีร้านขายเหล้า 1.2 แห่ง

ข้อมูลนี้สะท้อนได้ว่าคนไทยสามารถเข้าถึงสุราได้ง่ายมาก และจุดจำหน่ายรอบสถานศึกษาก็ยังมีให้เห็นอยู่ โดยพบระยะที่ใกล้ที่สุด (จ.นนทบุรี) ซึ่งมีระยะห่างจากรั้วโรงเรียนเพียง 4.4 เมตรเท่านั้น

ผศ.ดร.นพ.พลเทพ ระบุอีกว่า ใบอนุญาตขายสุราเป็นหนึ่งในปัจจัยที่ส่งผลต่อนักดื่มโดยเฉพาะเพศชาย ซึ่งข้อมูลปี 2554 พบว่า เมื่อความหนาแน่นของใบอนุญาตขายสุราสูงขึ้น มีผลทำให้อัตราการดื่มของหน้าใหม่เพิ่มขึ้น 1.09 เท่า

ท้ายสุดในงานวิจัยได้ให้ข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย โดยให้เพิ่มความเข้มงวดของการขอและต่อใบอนุญาตจำหน่ายสุรา รวมถึงเพิ่มค่าธรรมเนียมในการต่อใบอนุญาต ซึ่งเป็นมาตรการควบคุมการเข้าถึงทางกายภาพของสุราที่องค์การอนามัยโลก (WHO) แนะนำ

ปัจจุบันระบบการขอใบอนุญาตจำหน่าย และการต่อใบอนุญาต มีความสะดวกมาก และมีค่าธรรมเนียมที่ต่ำ ส่งผลให้ใบอนุญาตจำหน่ายสุราที่เป็นร้านค้าปลีกมีจำนวนมาก และกระจายอยู่ทั่วทุกพื้นที่ ขณะเดียวกันหน่วยงานที่เกี่ยวข้องควรร่วมกันหามาตรการลดจำนวนและความหนาแน่นของใบอนุญาตจำหน่ายสุรา และอาจกำหนดเป็นเป้าหมายยุทธศาสตร์ที่ภาครัฐจะต้องดำเนินการร่วมกันอย่างจริงจัง

รวมไปถึงเพิ่มการบังคับใช้กฎหมายควบคุมการห้ามขายสุราให้กับเด็กและเยาวชนอายุต่ำกว่า 20 ปี ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักแก่ผู้จำหน่ายสุรารายย่อย เนื่องจากเป็นช่องทางที่สำคัญในการเข้าถึงสุราของประชาชน โดยเฉพาะวัยรุ่น

ด้าน ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการวิจัย สวรส. กล่าวถึงประเด็นนี้ว่า งานวิจัยชิ้นนี้สามารถนำไปใช้ได้ทั้งในระดับนโยบายและระดับปฏิบัติการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยสามารถใช้เป็นข้อมูลทางวิชาการขับเคลื่อนการเปลี่ยนแปลงกฎหมายควบคุมการออกใบอนุญาตจำหน่ายสุรา และการรณรงค์ในระดับพื้นที่

“ทุกวันนี้การต่อใบอนุญาตจำหน่ายสุราทำได้สะดวกและง่าย ขาดความรัดกุมในแง่การตรวจสอบการกระทำความผิด เช่น การขายสุราให้เด็กที่อายุไม่ถึงเกณฑ์ ยิ่งไปกว่านั้นยังสามารถต่ออายุออนไลน์ได้ ฉะนั้นข้อเสนอเชิงนโยบายจากงานวิจัยนี้จึงมีความสำคัญมาก

“งานวิจัยชิ้นนี้ได้ชี้ให้ผู้มีส่วนตัดสินใจในการออกกฎหมายเห็นว่า มีหลักฐานเชิงวิชาการที่แสดงถึงความหนาแน่นของจุดขายที่อาจเป็นจุดเริ่มต้นของพฤติกรรมและผลกระทบจากการดื่มสุราในประเทศไทย โดยควรพิจารณาทบทวนกฎเกณฑ์การออกและต่อใบอนุญาตให้รัดกุมมากยิ่งขึ้น เพื่อหยุดจุดเริ่มต้นหนึ่งของปัญหานี้อย่างยั่งยืน” ทพ.จเร กล่าว

ข้อมูลอ้างอิง

  • งานวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข "การศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างความหนาแน่นของจุดจำหน่ายสุราและพฤติกรรมการบริโภคสุราในวัยรุ่นไทย ปี พ.ศ. 2550-2560 โดยใช้ Spatiotemporal analysis", ผศ.ดร.นพ.พลเทพ วิจิตรคุณากร และคณะ (2564
  • ผลการสำรวจพฤติกรรมการสูบบุหรี่และการดื่มสุราของประชากร  พ.ศ. 2560, สำนักงานสถิติแห่งชาติ