ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การมีหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า คือการทำให้ประชาชนมีสิทธิในการใช้บริการสุขภาพโดยไม่มีอุปสรรคด้านการเงิน เป็นการสร้างความเป็นธรรมในการเข้าถึงบริการสุขภาพที่จำเป็นสำหรับคนทุกคน และลดภาระรายจ่ายด้านสุขภาพของครัวเรือน โดยปกป้องครัวเรือนไม่ให้ประสบวิกฤติทางการเงิน หรือต้องกลายเป็นครัวเรือนยากจนจากการจ่ายค่ารักษาพยาบาล

ประเทศไทยบรรลุหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าตั้งแต่ พ.ศ. 2545 อย่างไรก็ตาม ยังมีประชาชนบางส่วนที่ยังไม่มีประกันสุขภาพ จากข้อมูลการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2558 ซึ่งดำเนินการโดยสำนักงานสถิติแห่งชาติ พบว่าผู้ที่ยากจนที่สุดและจัดว่าเป็นประชากรกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพมีอยู่ไม่น้อยในประเทศ

ใครคือประชากรกลุ่มเสี่ยง

จากประชากรไทยทั้งสิ้น 67.2 ล้านคน พบว่า กลุ่มฐานะครัวเรือนจนที่สุดมี 13.9 ล้านคน หรือร้อยละ 21 ของประชากรทั้งหมด ในจำนวนนี้เป็นผู้ที่ไม่มีการศึกษาหรือมีการศึกษาสูงสุดระดับประถมศึกษา 9.2 ล้านคน และเป็นคนที่ไม่ได้ทำงาน 2.4 ล้านคน ประชากรกลุ่มนี้อยู่ในระบบประกันสุขภาพแห่งชาติร้อยละ 92.2 และไม่มีสิทธิการรักษาพยาบาลใดๆ 59,779 คน หรือร้อยละ 0.1 ของประชากรทั้งหมด ซึ่งทำให้ประชากรกลุ่มหลังเป็นกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด ทั้งมีฐานะยากจนที่สุด การศึกษาสูงสุดแค่ระดับประถม ไม่ทำงาน และไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล

ประชากรกลุ่มเสี่ยง 2.4 ล้านคน ส่วนใหญ่เป็นเพศหญิงร้อยละ 64.7 อยู่ในวัยสูงอายุถึงร้อยละ 70 โดยมีอายุเฉลี่ย 63 ปี มีโรคประจำหรือโรคเรื้อรังถึงร้อยละ 52.7 และมีสิทธิประกันสุขภาพแห่งชาติร้อยละ 92.2 เมื่อพิจารณาตามภูมิลำเนา พบว่าส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในภาคตะวันออกเฉียงเหนือและภาคกลาง

ในขณะที่ ประชากรกลุ่มเสี่ยงมากที่สุด 59,779 คน กลุ่มนี้เป็นเพศหญิงมากถึงร้อยละ 85.8 อายุเฉลี่ย 38 ปี ส่วนใหญ่อาศัยอยู่ในเขตเทศบาล หรือร้อยละ 71.9 โดยมีภูมิลำเนาในกรุงเทพมหานครและภาคกลาง ถึงร้อยละ 81.9

พฤติกรรมการใช้บริการเมื่อเจ็บป่วย

จากข้อมูลประชากรกลุ่มเสี่ยงที่มีและไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล พบว่ามีการเจ็บป่วยแบบผู้ป่วยนอก ร้อยละ 33.4, 12.5 และแบบผู้ป่วยในร้อยละ 8.3, 20.4 ตามลำดับ

เมื่อเจ็บป่วยแบบผู้ป่วยนอก กลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล ใช้วิธีซื้อหายากินเองหรือใช้การแพทย์พื้นบ้านเป็นส่วนใหญ่ ร้อยละ 62.3 ในขณะที่ กลุ่มที่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล เลือกใช้บริการสถานพยาบาลของรัฐถึงร้อยละ 65.0

เมื่อเจ็บป่วยจนต้องนอนพักรักษาตัวในโรงพยาบาลกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีประกันสุขภาพ เลือกใช้บริการที่สถานพยาบาลของรัฐบาลร้อยละ 100

ความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล

เมื่อเจ็บป่วยประชากรกลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลใดๆ มีความเสี่ยงด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลมากกว่าผู้มีสิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาล เมื่อใช้บริการสุขภาพมีโอกาสมากกว่าที่จะต้องจ่ายค่ารักษาพยาบาลเอง และเมื่อจ่ายก็เสียค่าใช้จ่ายคิดเป็นมูลค่าที่สูงกว่า ซึ่งค่ามัธยฐานค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลที่ต้องจ่ายเอง เมื่อใช้บริการที่สถานพยาบาลภาครัฐ สำหรับผู้ป่วยนอกเท่ากับ 250 บาท ผู้ป่วยในเท่ากับ 9,999 บาท

นอกจากนี้ กลุ่มเสี่ยงที่มีสวัสดิการรักษาพยาบาลเป็นหญิงผู้สูงอายุและมีโรคเรื้อรังในสัดส่วนที่สูงกว่ากลุ่มเสี่ยงที่ไม่มีสวัสดิการรักษาพยาบาล แต่พบว่ามีค่าใช้จ่ายที่ต้องรับผิดชอบจ่ายเองเมื่อมารับบริการที่สถานพยาบาลภาครัฐน้อยกว่าอย่างชัดเจน และยังพบว่ากลุ่มเสี่ยงในการเข้าไม่ถึงระบบการรักษาพยาบาลมีลักษณะใกล้เคียงกัน คือ การศึกษาต่ำ เพศหญิง ฐานะยากจน โดยคนกลุ่มนี้มีพฤติกรรมสุขภาพและผลลัพธ์การรักษาที่ด้อยกว่ากลุ่มอื่นด้วย

กล่าวได้ว่า ประชากรกลุ่มเสี่ยงที่เข้าไม่ถึงระบบหลักประกันสุขภาพ จากข้อมูลส่วนใหญ่อยู่ในกรุงเทพมหานครและภาคกลาง แม้จะยังไม่ทราบสาเหตุการเข้าไม่ถึงสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพได้ชัดเจนนัก ในด้านการแก้ไขปัญหาดังกล่าว สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ซึ่งเป็นผู้บริหารจัดการประกันสุขภาพแห่งชาติสำหรับประชาชนคนไทยทุกคนที่ไม่ได้อยู่ภายใต้ระบบสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการและประกันสังคม ควรต้องใช้นโยบายเชิงรุก เช่น การประชาสัมพันธ์อย่างเข้มข้นโดยเฉพาะในพื้นที่กรุงเทพมหานครและภาคกลาง และจัดการแก้ปัญหาการตกสำรวจที่ยังมีผู้ที่ไม่ได้ขึ้นทะเบียนเป็นสมาชิกในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ

ทั้งนี้ ต้องคำนึงถึงประสิทธิภาพและค่าใช้จ่ายในการเข้าถึงกลุ่มเสี่ยงเหล่านี้ด้วย ซึ่งหากการค้นหาเชิงรุกมีค่าใช้จ่ายที่สูงมากทำให้ไม่คุ้มค่า ก็ควรพิจารณานโยบายเชิงรับ เช่น เมื่อสถานพยาบาลภาครัฐพบกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดที่ไม่มีประกันสุขภาพให้ประสานงานกับ สปสช. โดยตรงและเป็นการจัดการเฉพาะด้านเรื่องการขึ้นทะเบียนประชากร เพราะประชากรกลุ่มเสี่ยงมากที่สุดเหล่านี้ไปใช้บริการรักษาตัวแบบผู้ป่วยในในโรงพยาบาลรัฐถึงร้อยละ 100

เก็บความจาก

จิรพันธุ์ จรัสภัทรโรจน์ และคณะ.(2558). ลักษณะทางประชากรและสังคมของบุคคลที่เสี่ยงต่อวงจรอุบาทว์ “โง่-จน-เจ็บ”: ข้อค้นพบจากการสำรวจอนามัยและสวัสดิการ พ.ศ. 2558. วารสารวิจัยระบบสาธารณสุข. ปีที่ 11 ฉบับที่ 2 เมษายน-มิถุนายน 2560, หน้า 195-204.