ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

โครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าอินเดีย ดูแลประชากรกลุ่มเปราะบางมากกว่า 500 ล้านคนทั่วประเทศ พบมีผู้ป่วยเข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่า 869 ล้านครั้งในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา พร้อมขยายศูนย์บริการสุขภาพปฐมภูมิมากกว่า 150,000 แห่งทั่วประเทศ 

ในปี 2561 รัฐบาลอินเดียภายใต้นายกรัฐมนตรี นเรนทรา โมที (Narendra Modi) ริเริ่มโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งอินเดีย หรือชื่อทางการ ‘Ayushman Bharat’ โดยเน้นให้กลุ่มประชากรในพื้นที่ชนบทและครัวเรือนยากจน เข้าถึงการรักษาที่ปลอดภัยและมีคุณภาพ 

โครงการนี้ถือได้ว่าเป็นโครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากรมากกว่า 500 ล้านคน จากประชากรทั้งหมด 1,400 ล้านคนที่อาศัยในอินเดีย 

ภายใต้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าแห่งอินเดีย มี 4 โครงการย่อยที่ทำหน้าที่ต่างกัน ตั้งแต่ขยายโครงสร้างพื้นฐานสาธารณสุข ประกันสุขภาพให้คนยากจนและผู้อาศัยในเขตชนบท ไปจนถึงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล เพื่อรองรับบริการสุขภาพดิจิทัลในอนาคต 

ความก้าวหน้านับตั้งแต่เริ่มทำโครงการ มีดังนี้ 

1. ศูนย์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี หรือ Health and Wellness Centres (HWCs)

ศูนย์สุขภาพและความเป็นอยู่ที่ดี คือศูนย์บริการแพทย์ปฐมภูมิที่ให้บริการในระดับชุมชน โดยรัฐบาลอินเดียสร้างศูนย์สุขภาพฯมากกว่า 150,000 แห่งทั่วประเทศ เน้นบริการดูแลสุขภาพแม่และเด็ก และโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ตั้งแต่ตั้งศูนย์สุขภาพฯ มีการให้บริการคัดกรองโรคไม่ติดต่อเรื้อรังมากกว่า 869 ล้านครั้ง บริการปรึกษาแพทย์ทางไกล 93 ล้านครั้ง และบริการให้คำปรึกษาด้านความเป็นอยู่ที่ดี 16 ล้านครั้ง 

การให้บริการคัดกรองโรคในภาพรวมเพิ่มขึ้น 510% เปรียบเทียบกับก่อนการตั้งศูนย์สุขภาพฯ ขณะที่บริการคัดกรองสุขภาพปากเพิ่มขึ้น 570%

2. Pradhan Mantri Jan Arogya Yojana หรือ PM-JAY

PM-JAY ริเริ่มขึ้นในวันที่ 23 ก.ย. 2561 โดยมีเป้าหมายลดการล้มละลายจากค่ารักษาพยาบาล และเพิ่มการเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพ ครอบคลุมประชากรกลุ่มเปราะบาง 500 ล้านคน คิดเป็น 40% ของประชากรในอินเดีย หรือประมาณ 100 ล้านครอบครัว 

กลุ่มประชากรนี้มีสิทธิรับเงินสนับสนุนค่ารักษาพยาบาลในระดับทุติยภูมิและตติยภูมิประมาณ 500,000 รูปีต่อครอบครัว (หรือ 220,000 บาท) 

รัฐบาลให้การสนับสนุนงบประมาณในโครงการนี้เพิ่มขึ้นจาก 24,000 ล้านรูปี (หรือ 10,300 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2561-62 เป็น 72,000 ล้านรูปี (หรือ 30,900 ล้านบาท) ในปีงบประมาณ 2566-2567 

ผู้ที่จะรับงบประมาณสนับสนุนต้องทำบัตรประจำตัว ใช้สำหรับยื่นขอรับบริการที่สถานพยาบาลรัฐหรือเอกชนที่เข้าร่วมโครงการ โดยมีผู้ทำบัตรแล้วกว่า 210 ล้านคนในเดือน มี.ค. 2566 

มากกว่า 50% ของผู้ทำบัตรอยู่ใน 5 รัฐ ได้แก่ รัฐมัธยประเทศ (16.6%) รัฐอุตตรประเทศ (12.2%) รัฐคุชราต (8.3%) รัฐฉัตตีสครห์ (7.9%) และ รัฐกรณาฏกะ (6.4%) 

การเข้ารับบริการผู้ป่วยในมีจำนวนสูงในทางตอนใต้ของประเทศ โดยเฉพาะในรัฐทมิฬนาฑู (19.5%) และ รัฐเกรละ (10.9%) ขณะที่รัฐมัธยประเทศและรัฐอุตตรประเทศกลับมีอัตราใช้บริการผู้ป่วยในเพียง 5.7% และ 4.4% ตามลำดับ ทั้งๆมีผู้ลงทะเบียนขอรับบัตรมากกว่ารัฐอื่นๆ สะท้อนว่าประชากรในทางตอนใต้ของประเทศรับรู้สิทธิรักษาพยาบาลมากกว่าที่อื่น 

แม้ว่าจะมีสถานพยาบาลเข้าร่วมโครงการ PM-JAY อยู่ที่ 28,561 แห่ง กลับพบว่า 22% ของสถานพยาบาลนี้ปิดบริการไปแล้ว ส่งผลให้สถานพยาบาลที่ยังให้บริการต้องแบกรับผู้ป่วยมากขึ้น 

นอกจากนี้ พบว่าผู้ป่วยขอใช้บริการตรวจโรคทั่วไปมากที่สุด อยู่ที่ 40% ของการให้บริการในโครงการทั้งหมด ตามด้วยบริการรักษาโรคติดต่อที่ 15.7% 

3. โครงการสุขภาพดิจิทัล หรือ Ayushman Bharat Digital Mission (ABDM)

โครงการสุขภาพดิจิทัลเริ่มต้นขึ้นในวันที่ 27 ก.ย. 2564 ด้วยงบประมาณรัฐ 16,000 ล้านรูปี (หรือประมาณ 69,000 ล้านบาท) สำหรับการทำโครงการในระยะ 5 ปี เพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลรองรับบริการสุขภาพดิจิทัลในอนาคต 

4. โครงการทำโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุข หรือ Pradhan Mantri-Ayushman Bharat Health Infrastructure Mission (PM-ABHIM)

รัฐบาลอินเดียจัดสรรงบประมาณ 641,800 ล้านรูปี (หรือประมาณ 276,000 ล้านบาท) สำหรับทำโครงสร้างพื้นฐานระบบสาธารณสุขตั้งแต่ปี 2564-2569 ได้แก่ สถานพยาบาลในทุกระดับ ไปจนถึงการเตรียมระบบป้องกันและรับมือโรคระบาดและภัยพิบัติ 

กล่าวโดยสรุป โครงการประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอินเดียมีความก้าวหน้าอย่างมาก และเป็นไปตามคำมั่นสัญญาของอินเดีย ที่จะบรรลุเป้าหมายการพัฒนายั่งยืนในด้านการสร้างระบบสุขภาพที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง 

อย่างไรก็ดี ยังมีประชากรในอินเดียจำนวนมากที่เข้าไม่ถึงบริการสุขภาพ และต้องอาศัยการขับเคลื่อนจากภาครัฐในการกระจายการเข้าถึงให้มากกว่า โดยเฉพาะในกลุ่มประชากรที่อาศัยในชนบทห่างไกล 

อ่านข่าวต้นฉบับ:
https://idronline.org/article/health/evolution-of-ayushman-bharat-as-indias-healthcare-initiative/