ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในอินเดียประสบกับความท้าทายอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อการลงทุนด้านสุขภาพของรัฐบาลระดับชาติและท้องถิ่นยังไม่เพียงพอต่อการยกระดับคุณภาพบริการ และมีความเหลื่อมล้ำด้านเม็ดเงินการลงทุนระหว่างรัฐบาลท้องถิ่น

ความท้าทายนี้ยังเป็นโจทย์ที่รัฐบาลอินเดียยังแก้ไม่ตก ภายหลังการประกาศโครงการ Ayushman Bharat Pradhan Mantri Jan Arogya Yojana ในปี 2561 เพื่อสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชากรชาวอินเดียกว่า 500 ล้านคน

The Hindustan Times สื่อยักษ์ใหญ่ในอินเดีย ได้เผยแพร่การศึกษาของ Nachiket Mor นักวิจัยแห่ง Banyan Academy of Leadership in Mental Health ในรัฐทมิฬนาฑูของอินเดีย ระบุว่าค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอินเดียคิดเป็นอัตราส่วน 4% ต่อจีดีพี

แต่ 62.5% ของค่าใช้จ่ายนี้ หรือเทียบเท่า 2.5% ของจีดีพี เป็นค่าใช้จ่ายที่มาจากผู้รับบริการสุขภาพ หรือมาจากกระเป๋าเงินของประชาชนนั่นเอง

นี่สะท้อนว่าภาครัฐยังลงทุนด้านสุขภาพในอัตราส่วนน้อยพอสมควร และยังมีชาวอินเดียอีกจำนวนมากที่ไม่สามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลและบริการสุขภาพที่จำเป็น เพราะไม่มีกำลังทรัพย์จ่ายค่ารักษาพยาบาล

บทความดังกล่าวยังระบุว่า แม้แต่ชาวอินเดียที่มีการศึกษาและมีกำลังซื้อในระดับหนึ่ง ก็มักรอจนกว่าตนเองป่วย จึงไปหาหมอ และเลือกไปโรงพยาบาลเป็นครั้งๆ แทนที่จะรับคำปรึกษาที่หน่วยบริการปฐมภูมิเป็นประจำ เพราะกังวลต่อค่าใช้จ่ายที่จะเกิดขึ้น

นั่นทำให้สุขภาพของชาวอินเดียถดถอย โรงพยาบาลแน่นไปด้วยผู้ป่วย ขณะที่ระบบแพทย์ปฐมภูมิเสื่อมถอยลง เพราะประชาชนไม่นิยมไปใช้บริการ

เม็ดเงินการลงทุนด้านสุขภาพยังมีความแตกต่างระหว่างรัฐ เพราะรัฐบาลท้องถิ่นลำดับความสำคัญการใช้งบประมาณไม่เหมือนกัน

ในรัฐที่มีรายได้สูง เช่น คุชราต หรยาณา มหาราษฏระ และ ทมิฬนาฑู รัฐบาลท้องถิ่นลงทุนด้านสุขภาพเพียง 0.7%-0.8% ของจีดีพีท้องถิ่น

ขณะที่รัฐที่มีรายได้น้อยอย่างพิหารและอุตตรประเทศ รัฐบาลท้องถิ่นกลับมีการลงทุนด้านสุขภาพ 1.3%-1.4% ของจีดีพีท้องถิ่น แต่ก็ยังถือเป็นสัดส่วนการลงทุนที่น้อยเมื่อเทียบกับต่างประเทศ  

บทความดังกล่าวเสนอว่าต้องเพิ่มเม็ดเงินอีก 3-4 เท่า จึงจะทำให้ประชากรในแต่ละรัฐเข้าถึงบริการสุขภาพที่มีคุณภาพและทั่วถึง ทั่งยังต้องคำนึงถึงโครงสร้างต้นทุนและราคาบริการสุขภาพ และแนวทางปฏิบัติของรัฐบบาลท้องถิ่นในแต่ละแห่ง

ดังนั้น จำเป็นต้องมีการพูดคุยระหว่างนักการเมืองและข้าราชการระดับท้องถิ่น เพื่อหากลไกทางการเงินที่จะเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพ และตอบโจทย์การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้กับประชากรชาวอินเดียทุกคน

การสมทบเงินประกันสุขภาพอาจเป็นหนึ่งในกลไกทางการเงิน ที่ช่วยให้รัฐบาลท้องถิ่นซึ่งขาดเม็ดเงิน สามารถขยายความครอบคลุมการเข้าถึงระบบสุขภาพให้ประชาชนของตัวเอง

ขณะนี้ เงินสมทบประกันสุขภาพคิดเป็นอัตราส่วนเพียง 0.25% ของจีดีพีอินเดีย ซึ่งอยู่ในรูปแบบของการประกันสุขภาพโดยภาคเอกชน ที่จ่ายค่ารักษาพยาบาลให้ผู้รับประกันตามค่าใช้จ่ายจริงที่เกิดขึ้น แต่ไม่สามารถการันตีคุณภาพของการให้บริการได้

แม้อุตสาหกรรมประกันสุขภาพจะเป็นองค์ประกอบสำคัญในระบบสุขภาพ บทความเสนอว่ารัฐบาลควรจะมุ่งหน้าสู่การสร้างระบบประกันสุขภาพผ่านระบบภาษี โดยนำภาษีของประชาชนมาสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ค่อยๆ ลดภาระค่าใช้จ่ายของประชาชนจนเหลือศูนย์ในที่สุด

หากรัฐบาลระดับชาติและท้องถิ่นยังไม่สามารถแก้โจทย์เรื่องกลไกทางการเงิน และเพิ่มการลงทุนด้านสุขภาพในภาพรวมแล้ว ระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าก็จะไม่สามารถเกิดในอินเดียได้  

อ้างอิง
https://www.hindustantimes.com/ht-insight/public-health/more-money-for-health-financing-universal-health-coverage-in-india-101630233656078.html

https://www.hindustantimes.com/ht-insight/public-health/ayushman-bharat-and-the-path-to-universal-health-coverage-in-india-101628123821494.html