ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

WHO ชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอินเดีย ระบุคำนึงถึงสุขภาพของประชาชนทุกระดับ สามารถเข้าถึงได้และมีราคาสมเหตุสมผล

นายทีโดรส อัดฮานอม กีบรีเยซุส (Dr.Tedros Adhanom Ghebreyesus) ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลกกล่าวชื่นชมระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูตรใหม่ภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที (Narendra Modi) ผ่านโซเชียลมีเดียว่า “เป็นหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าที่คำนึงถึงสุขภาพของประชาชนทุกระดับ สามารถเข้าถึงได้และมีราคาสมเหตุสมผล”

Ayushman Bharat Yojana หรือ Pradhan Mantri Jan Arogya Yojana (PMJAY) นวัตกรรมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าสูตรใหม่ของอินเดียภายใต้นโยบายสาธารณสุขแห่งชาติอินเดียปี 2017 กำลังเป็นที่จับตามองหลังจากประกาศใช้เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมา

PMJAY ถูกออกแบบให้อยู่ภายใต้เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals) ขององค์กรสหประชาชาติ โดยคำนึงถึงสุขภาพที่ดีของประชาชน ส่งเสริมคุณภาพชีวิตการเป็นอยู่ที่ดีให้กับทุกคนและจัดหาระบบสาธารณสุขที่มีประสิทธิภาพ

โดยหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้านั้นมีเป้าหมายสำคัญอยู่ 2 ประการ

หนึ่ง – ทำให้มั่นใจว่าจะสามารถจัดหาบริการสาธารณสุขขั้นปฐมภูมิให้กับประชาชน รวมถึงบริการวินิจฉัยฟรีและการเข้าถึงยาสามัญที่จำเป็นโดยเฉพาะกลุ่มคนด้อยโอกาสและยากจน

สอง - การลดภาระทางการเงินให้กับกลุ่มคนด้อยโอกาสและยากจน จัดหาโครงสร้างการดูแลทางการเงิน (Swasthya Suraksha) กล่าวคือ บริการดังกล่าวจะครอบคลุมเงินอุดหนุนสิทธิสาธารณสุขและบริการทางการแพทย์ขั้นทุติยภูมิทั้งหมด 500,000 รูเปีย/ปี/ครอบครัวของกลุ่ม 11 อาชีพฐานล่าง อาทิ เจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย เจ้าหน้าที่บริการต่างๆ บนท้องถนน ช่างซ่อม คนหาบเร่ เป็นต้น 

ไม่เพียงคำนึงถึงบริการทางการแพทย์อย่างเดียวเท่านั้นแต่ PMJAY ยังครอบคลุมค่าเดินทางการมารับบริการทางการแพทย์ของประชาชนอีกด้วย

ยิ่งไปกว่านั้น  PMJAY ยังไม่หยุดพัฒนาเพียงเท่านี้ เมื่อนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที แถลงเตรียมเพิ่มศูนย์บริการสาธารณสุขเพิ่มอีก 150,000 แห่งทั่วประเทศ เพื่อให้มั่นใจว่าประชาชนทุกคนจะได้รับสิทธิดังกล่าวอย่างทั่วถึง รวมถึงตั้งใจที่จะสร้างระบบประกันสุขภาพ (health insurance) ให้กับประชาชน 500 ล้านคน โดยจะต้องครอบคลุมบริการสาธารณสุขทั้งปฐมภูมิและทุติยภูมิ

ส่งผลให้หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าของอินเดียในปัจจุบันเป็นการจัดหาบริการสาธารณสุขภายใต้งบประมาณของรัฐบาลที่ใหญ่ที่สุดในโลกและครอบคลุมวิถีชีวิตของคนๆ หนึ่งอย่างแท้จริง

ที่มา: Ayushman Bharat Yojana: A Pioneering Healthcare Initiative (www.newdelhitimes.com)