ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

รัฐบาลอินเดียและองค์การอนามัยโลก ร่วมจัดประชุมส่งเสริมการสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ยกเทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัลให้เป็นหนึ่งในตัวแปรกำหนดความสำเร็จของหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า

เมื่อวันที่ 20 มี.ค. ที่ผ่านมา กระทรวงสุขภาพและสวัสดิการครอบครัวแห่งอินเดีย ร่วมเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าระดับโลก ภายใต้แนวคิด ‘Taking UHC to the last citizen’ หรือส่งต่อหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้พลเมืองโลกทุกคน

มีตัวแทนจากประเทศสมาชิกองค์การอนามัยโลก (WHO) กว่า 40 ประเทศเข้าร่วมประชุม พร้อมตัวแทนจากองค์กรพัฒนาระหว่างประเทศ องค์กรการกุศล สถาบันทางการเงิน นักทำนโยบายสุขภาพ และนวัตกรด้านเทคโนโลยีสุขภาพ

ในระหว่างการประชุม ได้มีการพูดถึงประเด็นการนำเทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัล หรือ Digital Health เข้ามาเป็นฟันเฟืองในการผลักดันระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าในประเทศต่างๆ ทั่วโลก

2

“เทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัล เป็นเครื่องมือที่จะยกระดับบริการสุขภาพ และทำให้เราบรรลุเป้าสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” นพ.มานสุกข์ มันกาวียา (Mansukh Mandaviya) รัฐมนตรีกระทรวงสุขภาพและสวัสดิการครอบครัวแห่งอินเดีย กล่าวในระหว่างการเปิดประชุม

“อินเดียมีแนวทางผลักดันเทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัลสองแนวทาง ได้แก่ ทำกรอบนโยบายที่เกี่ยวข้อง และสร้างระบบนิเวศดิจิทัลที่ทำให้เกิดนวัตกรรมด้านสุขภาพได้จริง โดยเน้นการเข้าถึงเทคโนโลยีในราคาที่จ่ายได้ และสร้างความเท่าเทียมในการเข้าถึง”

เทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัล คือนวัตกรรมที่ยกระดับระบบและบริการสุขภาพให้มีประสิทธิภาพและเข้าถึงได้ง่าย มีหลายรูปแบบ เช่น ฮาร์ดแวร์และซอฟต์แวร์ที่ช่วยจัดเก็บและวิเคราะห์ข้อมูลด้านสุขภาพ หรือจัดระบบหลังบ้านให้ผู้ป่วยรับบริการได้เร็วขึ้น

ระบบดิจิทัลยังนำมาบูรณาการเข้ากับบริการและสินค้าที่ยกระดับผลลัพธ์การดูแลสุขภาพ เช่น บริการให้คำปรึกษาและดูแลผู้ป่วยทางไกล (Telemedicine) เครื่องวัดระดับเลือดและค่าน้ำตาลดิจิทัล แอพพลิเคชั่นมือถือติดตามพฤติกรรมการออกกำลังกายและการบริโภคอาหาร

ด้าน พญ.พูนาม เคตราพัล สิงห์ (Poonam Khetrapal Singh) ผู้อำนวยการองค์การอนามัยโลก ภูมิภาคเอเชียตะวันออกและใต้ กล่าวว่าเทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัลจะทำให้บริการสุขภาพที่มีผู้ป่วยเป็นศูนย์กลางเกิดขึ้นได้จริง เพราะผู้ป่วยเข้าถึงข้อมูลด้านสุขภาพและออกแบบการดูแลสุขภาพร่วมกับผู้เชี่ยวชาญได้

2

เทคโนโลยียังทำให้เกิดการกระจายอำนาจด้านสุขภาพ ที่ผู้ให้และผู้รับบริการสามารถออกแบบการให้บริการร่วมกัน มีความเหมาะสมกับลักษณะสุขภาพและโรคของแต่ละบุคคล ทั้งยังเป็นเครื่องมือที่จะช่วยเร่งสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าให้เกิดขึ้นได้จริง เพราะเทคโนโลยีสามารถนำมาใช้เพิ่มการเข้าถึงและบริการสุขภาพในระดับประเทศและท้องถิ่น

ตัวอย่างมีให้เห็นแล้วในระหว่างเกิดโรคระบาดโควิด-19 ที่เทคโนโลยีอย่างการแพทย์ทางไกลทำให้ผู้ป่วยกักตัวสามารถเข้ารับคำปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญได้ โดยมิต้องเดินทางไปโรงพยาบาล ขณะที่แพทย์ก็สามารถเก็บข้อมูลด้านสุขภาพของผู้ป่วย เพื่อนำไปประเมินอาการและรูปแบบการรักษาที่เหมาะสม

ในระหว่างการประชุม นายราเจส บูซาน ปลัดกระทรวงสุขภาพและสวัสดิภาพครอบครัวแห่งอินเดีย เสนอว่า แต่ละประเทศต้องจัดทำยุทธศาสตร์เทคโนโลยีสุขภาพของตนเอง ซึ่งบูรณาการกับเครือข่ายสุขภาพ

องค์การอนามัยโลกระบุว่า การเป็นเจ้าภาพจัดประชุมหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าโลกของอินเดีย ได้ตอกย้ำถึงเจตจำนงค์ของผู้นำที่จะพัฒนาระบบสุขภาพ พร้อมเรียนรู้จากนานาประเทศ

การประชุมดังกล่าวเน้นการพูดคุยระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูง เพื่อหาแนวทางวางฐานรากเทคโนโลยีสุขภาพดิจิทัลด้วยนโยบาย การวางมาตรฐาน พัฒนาศักยภาพประเทศและบุคลากร รวมทั้งสร้างการมีส่วนร่วมในการพัฒนาระบบ โดยเฉพาะในกลุ่มประเทศรายได้น้อยถึงปานกลาง

2

อ่านข่าวต้นฉบับ : https://www.who.int/southeastasia/news/detail/20-03-2023-harness-digital-health-for-universal-health-coverage