ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อินเดียเผชิญกับโควิด-19 ระลอกสอง ตั้งแต่เดือน เม.ย. ที่ผ่านมา ส่งผลต่อสังคมและเศรษฐกิจอย่างรุนแรง มีผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นพร้อมกับคนตายนับแสน โรงพยาบาลขาดแคลนอุปกรณ์ทางการแพทย์

ท่ามกลางวิกฤตโรคระบาดที่ดูเหมือนจะไม่จบลงง่ายๆ “พญ.กากันดีป กัง” (Gagandeep Kang) นักจุลชีววิทยาและไวริสวิทยาจากวิทยาลัยการแพทย์คริสเตียน (Christian Medical College) ในเมืองเวลโลร์ (Vellore) ทางตอนใต้ของรัฐทมิฬนาฑู เฝ้าติดตามนโยบายและการตอบสนองต่อโรคระบาดของรัฐบาลระดับชาติและท้องถิ่นอย่างใกล้ชิด

ในระหว่างการเสวนาประสบการณ์จัดการวิกฤตโควิดในอินเดีย จัดโดยโครงการประเมินเทคโนโลยีและนโยบายด้านสุขภาพ หรือ HITAP เมื่อวันที่ 14 ต.ค. ที่ผ่านมา “กัง” นำเสนอหลากหลายสาเหตุที่ทำให้อินเดียไม่สามารถจัดการกับวิกฤตโรคระบาดครั้งนี้ได้ดีนัก

ตั้งแต่ปริมาณการตรวจเชื้อที่ไม่เพียงพอ ข้อจำกัดในการกำกับโรงงานผลิตเครื่องมือทางการแพทย์ จนไปถึงลักษณะโครงสร้างการบริหารประเทศที่แบ่งแยกตามเขตพื้นที่รัฐ ทั้งหมดนี้ส่งผลให้การตอบสนองโรคระบาดของรัฐบาลเป็นไปอย่างล่าช้า

อย่างไรก็ดี เธอก็ยังเห็นความหวังอยู่บ้าง เมื่อรัฐบาลท้องถิ่นในบางแห่งมีความกล้าท่ามกลางข้อจำกัดต่างๆ และเป็นอิสระมากพอที่จะทำนโยบายหยุดโรคระบาด และให้วัคซีนแก่ประชาชน

จำกัดการตรวจ กดตัวเลขผู้ติดเชื้อต่ำ 10 เท่า

จนถึงวันนี้ อินเดียมีผู้ติดเชื้อโควิดรวมประมาณ 34 ล้านราย และผู้เสียชีวิตรวมราว 450,000 คน ถือว่าเป็นประเทศที่มีจำนวนผู้ติดเชื้อรวมสูงเป็นอันดับ 2 ของโลก และเป็นอันดับ 3 ในด้านยอดผู้เสียชีวิตสะสม

อย่างไรก็ดี “กัง” เล่าว่าข้อมูลการสำรวจต่างๆ บ่งชี้ว่าจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตอาจสูงกว่าตัวเลยทางการ โดยอาจมีตัวเลขผู้เสียชีวิตรวมสูงกว่า 10 เท่า เพราะระบบสอบสวนโรคไม่สามารถติดตามผู้ป่วยที่ไม่มีอาการหรือมีอาการน้อย หรือผู้ติดเชื้อไม่เข้าตรวจเชื้อในระบบของทางการ

ตั้งแต่เดือน พ.ค. 2563 เป็นต้นมา สภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย (Indian Council of Medical Research) ได้ทำการสำรวจทางเซรุ่มวิทยา หรือ Serosurvey คือการทดสอบแอนติบอดีของกลุ่มประชากรเป้าหมาย เพื่อหาอัตราการติดเชื้อในอดีต และนำผลการสำรวจมาประมาณการติดเชื้อในปัจจุบัน

การสำรวจครั้งแรกในระหว่างเดือน พ.ค.-มิ.ย. ปีที่แล้ว ในขณะที่รัฐบาลอินเดียสั่งล็อกดาวน์เข้มข้น พบว่ามีประชากรเพียง 0.73% ที่มีแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด หมายความว่าประชากรส่วนมากของอินเดียยังคงไม่มีภูมิคุ้มกันต่อเชื้อโควิด และเสี่ยงติดเชื้อเป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ยังพบว่ากลุ่มประชากรในชุมชนแออัดเขตเมือง มีความเสี่ยงติดเชื้อสูงกว่ากลุ่มอื่นๆ โดยการสำรวจดังกล่าว ทำในกลุ่มประชากรอายุ 18 ปีขึ้นไป ใน 21 รัฐของอินเดีย

“สถานการณ์ปีที่แล้วถือได้ว่าวุ่นวายมาก โดยเฉพาะเรื่องของการตรวจเชื้อ ตามหลักการของการจัดการโรคระบาด สิ่งที่เราต้องทำเป็นอย่างแรก คือการเพิ่มความสามารถในการตรวจเชื้อ แต่รัฐบาลอินเดียกลับใช้รูปแบบการสั่งการแบบรวมศูนย์ ควบคุมจากบนลงล่าง” กังเล่า

“เราต้องรอให้รัฐบาลให้อนุญาตก่อนจึงตรวจเชื้อได้ และเรายังไม่ได้รับอนุญาตให้ตรวจเชื้อในบางสถานการณ์ นั่นเพราะรัฐบาลต้องการควบคุมตัวเลขผู้ติดเชื้อให้ต่ำ ปฏิเสธที่จะยอมรับว่าเชื้อไวรัสได้แพร่กระจายไปในประชากรอินเดียแล้ว”

ฉีดแล้ว 1 พันล้านโดส แต่ 400 ล้านคนยังไม่มีภูมิ

อย่างไรก็ตาม สถานการณ์การติดเชื้อในอินเดียเปลี่ยนไปในทิศทางที่ดีขึ้นตั้งแต่ช่วงกลางปีที่ผ่านมา

การสำรวจทางเซรุ่มวิทยาครั้งที่ 4 ทำในระหว่างเดือน มิ.ย.-ก.ค. ที่ผ่านมา พบว่าอัตราส่วนของผู้มีแอนติบอดีต่อเชื้อโควิด เพิ่ีมขึ้นเป็น 67.6% สะท้อนว่าประชากรมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น

ส่วนหนึ่งเพราะมีผู้ติดเชื้อที่หายจากโรคแล้วร่างกายสร้างภูมิคุ้มกัน อีกส่วนเพราะรัฐบาลอินเดียเริ่มให้วัคซีนกับประชากรตั้งแต่เดือน ม.ค. ที่ผ่านมา

แต่อัตราส่วนดังกล่าวก็สะท้อนว่ายังมีประชากรประมาณ 400 ล้านคน หรือเกือบหนึ่งในสามของประชากร 1,400 ล้านคนในอินเดียที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกัน และเสี่ยงต่อการติดโรค

“รัฐบาลอินเดียฉีดวัคซีนไปแล้วเกือบ 1,000 ล้านโดส ประกอบกับเผชิญการระบาดระลอกสองในช่วง 4 เดือนที่ผ่านมาที่ทำให้คนมีภูมิคุ้มกันมากขึ้น นั่นจะทำให้การสำรวจทางเซรุ่มวิทยาในครั้งต่อไป น่ามีอัตราส่วนผู้มีแอนติบอดีเพิ่มขึ้นมากกว่า 67%” กังกล่าว

“ฉันไม่คิดว่าเราจะมีการระบาดรุนแรงเหมือนที่เราเห็นในระลอกสองอีก สิ่งที่จะเกิดต่อไปนี้น่าจะเป็นการระบาดภายในครอบครัว หรือประชากรเฉพาะกลุ่มที่ยังขาดภูมิคุ้มกัน แต่หากมีเชื้อโควิดสายพันธุ์ใหม่ที่แพร่เชื้อได้รวดเร็วกว่า นั่้นก็เป็นไปได้ที่จะเกิดระลอกสาม”

นอกจากนี้ อินเดียยังเรียนรู้จากประสบการณ์รับมือโรคระบาดในช่วงเกือบสองปีที่ผ่านมา และพัฒนาระบบการสอบสวนโรคดีขึ้นเรื่อยๆ

ในเดือน ธ.ค. 2563 กระทรวงสาธารณสุขและสวัสดิภาพครอบครัว ร่วมกับกรมเทคโนโลยีชีวภาพ สภาวิจัยทางการแพทย์แห่งอินเดีย และสภาวิจัยด้านวิทยาศาสตร์และอุตสาหกรรม ร่วมกันตั้งเครือข่ายศึกษาพันธุกรรมของเชื้อโควิด

โดยมีผู้ให้บริการห้องตรวจเชื้อและองค์รด้านวิจัยเข้าร่วม เพื่อศึกษาการพัฒนาสายพันธุ์ของเชื้อโควิด และปัจจัยที่ทำให้เชื้อระบาด รวมทั้งให้ข้อมูลแก่รัฐบาลในการออกแบบนโยบายต่อสู้โควิดที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น

โรงงานเครื่องมือแพทย์ขาดคุณภาพ รบ.ขาดความโปร่งใส

อีกหนึ่งความท้าทายในการจัดการโรคระบาดที่กังสังเกตเห็น คือคุณภาพของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์

“อินเดียเน้นแนวทางการพึ่งพาตัวเองในเรื่องของยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ มีโรงงานผลิตเครื่องตรวจเชื้อ เครื่องช่วยหายใจ และพีพีอี (อุปกรณ์สวมใส่ป้องกันการติดเชื้อ) นั่นเพราะเราเห็นปัญหาขาดแคลนยาและอุปกรณ์ทางการแพทย์ในช่วงล็อกดาวน์ และห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกที่ต้องหยุดชะงักเพราะโรคระบาด” กังกล่าว

“โรงงานที่นี่เร่งผลิตที่ตรวจเชื้อในช่วงการระบาดที่ผ่านมา แต่ยังมีปัญหาเรื่องคุณภาพสินค้า มาตรฐานและความแม่นยำยังไม่แน่นอน ฉันคิดว่าอินเดียจำเป็นต้องยกเครื่องศักยภาพด้านการผลิต พร้อมๆ กับเพิ่มศักยภาพด้านการกำกับมาตรฐานสินค้าและกระบวนการผลิต ซึ่งฉันรู้สึกว่านักนโยบายยังไม่ให้ความสนใจเรื่องนี้มากนัก”

โรงพยาบาลก็มีปัญหาเรื่องมาตรฐานเช่นกัน โดยแต่ละโรงพยาบาลยังมีระดับความสามารถของบุคลากร และความพร้อมของอุปกรณ์ไม่เท่าเทียมกัน

เช่นเดียวกับความสามารถในการตอบสนองต่อโรคระบาดของรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งมีนโยบายและปริมาณทรัพยากรใช้ในการจัดการโควิดแตกต่างกัน เกิดความเหลื่อมล้ำด้านการเข้าถึงการตรวจเชื้อและการรักษาระหว่างพื้นที่

ในช่วงเริ่มแรกของการระบาด กังเล่าว่าข่าวบิดเบือนและข่าวลวงเป็นปัญหาต่อการรับมือโรคระบาดอย่างมาก แม้ว่ารัฐบาลจะเรียนรู้ปัญหา และทำงานร่วมกับองค์กรนานาชาติ อย่างองค์การทุนเพื่อเด็กแห่งสหประชาชาติ หรือ ยูนิเซฟ เพื่อจัดทำแนวทางการสื่อสารความเสี่ยงและการป้องกันโรคระบาด

แต่การปฏิบัติงานของรัฐบาลก็ยังไม่มีประสิทธิภาพ เพราะขาดความโปร่งใสในระดับการตัดสินใจเชิงนโยบาย

“ฉันรับรู้ได้ว่ารัฐบาลพยายามอย่างหนักที่จะสื่อสารไปยังประชาชน แต่ในหลายๆครั้ง ที่มาของการตัดสินใจเชิงนโยบายกลับไม่มีความชัดเจน เกิดการตั้งคำถามในหลายเรื่อง เช่น รัฐบาลตัดสินใจด้วยอะไร ว่าใครควรจะเป็นคนตรวจเชื้อ และทำไมถึงให้เขาตรวจ ประเภทของยาที่ใช้ หรือควรให้วัคซีนแกประชากรกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งตอนไหน”

"ถ้ารัฐบาลมีความโปร่งใสในการตัดสินใจเชิงนโยบาย การสื่อสารเรื่องโควิดในภาพรวมน่าจะดีกว่านี้ และได้รับความร่วมมือจากชุมชนมากกว่านี้”

โครงสร้างการบริหารประเทศแยกส่วน เสี่ยงเกิดความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐ

การจัดการโรคระบาดในอินเดียแบ่งเป็น 2 ส่วน คือ ส่วนรัฐบาลกลาง ซึ่งเป็นฝ่ายออกนโยบายภาพรวมหลัก และรัฐบาลท้องถิ่น ซึ่งเป็นผู้ปฏิบัติหน้าที่หน้างาน

กังมองว่าระบบการบริหารแยกส่วนแบบนี้ อาจทำให้เกิดความเข้าใจผิด และความไม่ไว้วางใจระหว่างรัฐ โดยเฉพาะหากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดความโปร่งใสในการปฏิบัติงาน ตัวอย่างที่มีให้เห็นในความเข้าใจผิดจากตัวเลขการรายงานจำนวนผู้ติดเชื้อและผู้เสียชีวิตในรัฐต่างๆ

รัฐเกรละ ตั้งอยู่บนชายฝั่งมะละบาร์ทางตะวันตกเฉียงใต้ของอินเดีย มีรายงานผู้ติดเชื้อเป็นอัตราส่วน 50-60% ของจำนวนผู้ติดเชื้อทั้งประเทศในช่วงเดือน มิ.ย. ที่ผ่านมา ทำให้รัฐบาลท้องถิ่นโดนเพ่งเล็งโดยรัฐบาลกลาง และกล่าวหาว่าทำงานควบคุมโรคระบาดได้ไม่ดีพอ

“แต่ความจริงนั้นไม่ใช่ ตัวเลขผู้ติดเชื้อที่มากกว่า สะท้อนว่ารัฐบาลท้องถิ่นมีระบบการสอบสวนและรายงานโรคมากกว่ารัฐอื่นๆ” กังให้ความเห็น

การสำรวจทางเซรุ่มวิทยาในรัฐเกรละพบว่า อัตราส่วนประชากรที่มีภูมิคุ้มกันเพิ่มขึ้นจาก 0.33% เป็น 42% ในระหว่างเดือน พ.ค. ปีที่แล้ว และเดือนเดียวกันปีนี้ เกิดจากความสามารถของรัฐบาลท้องถิ่นในการให้วัคซีนอย่างทั่วถึง

ในกลางเดือน ต.ค. รัฐเกรละมีประชากรมากกว่า 70% ที่ได้รับวัคซีนอย่างน้อยหนึ่งโดส เป็นอัตราที่สูงกว่าภาพรวมของประเทศที่อัตราส่วนผู้ได้รับวัคซีนอยู่ที่ 50% ของประชากร

“อย่างน้อย มีรัฐบาลท้องถิ่นที่ทำงานได้ดีในการลดโรคระบาด ทำให้เราเห็นว่ามีความเป็นไปได้ที่จะควบคุมโรคระบาดได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้อินเดียจะมีโครงสร้างทางการเมืองที่แตกแยกส่วน” กังกล่าว

“ในภาพรวม ฉันคิดว่าอินเดียผ่านช่วงเวลาที่ลำบากมาแล้วในช่วงการระบาดระลอกสอง เราไม่ได้ถือว่าอยู่ในสถานการณ์ที่แย่้ที่สุดในตอนนี้แต่เราก็ยังต้องเฝ้าระวัง และทำงานอย่างต่อเนื่อง”