ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ผู้บริหารเครือโรงพยาบาลยักษ์ใหญ่แห่งอินเดีย เสนอรัฐบาลสร้างระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า เสนอดึงประชาชนร่วมสมทบกองทุนประกันสุขภาพ

เมื่อปลายเดือน ส.ค. ที่ผ่านมา Preetha Reddy รองประธานบริหารเครือโรงพยาบาล Apollos ได้เสนอความคิดเห็นผ่านบทความบนสำนักข่าว Forbes India ขอให้รัฐบาล “คิดนอกกรอบ” และหาแนวทางใหม่ในการจัดหางบประมาณหนุนกองทุนหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า  

เธอเห็นว่าในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา อินเดียได้ก้าวผ่านการพัฒนาเศรษฐกิจด้วยแนวคิดตลาดเสรี ทำให้จีดีพีประเทศเติบโตมากกว่า 10 เท่าในช่วงเวลาดังกล่าว ชาวอินเดียกว่า 300 ล้านคนหลุดพ้นจากความยากจน ขณะที่อินเดียมีขนาดตลาดใหญ่เป็นอันดับ 5 ของโลกในตอนนี้

แต่วิกฤติโควิด-19 ก็ทำให้กระบวนการทางเศรษฐกิจต้องหยุดชะงัก ชาวอินเดียมากกว่า 400,000 คนเสียชีวิตเพราะโรคระบาด มากกว่า 30 ล้านคนติดเชื้อโควิด 19 ทำให้เธอต้องกลับมาตรวจทานสถานภาพของระบบสาธารณสุขอินเดีย

แม้ว่าก่อนหน้าวิกฤติโรคระบาด รัฐบาลอินเดียภายใต้การนำของนายกรัฐมนตรี นเรนทระ โมที มีความกล้าหาญในการประกาศนโยบายสุขภาพแห่งชาติ ในปี 2560

โดยให้คำมั่นสัญญาว่าจะเพิ่มค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุข จากเดิมประมาณ 1.2% ต่อจีดีพี เป็น 2.5% พร้อมขยายความครอบคลุมการเข้าถึงการรักษาพยาบาล ปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐานระบบสุขภาพปฐมภูมิ ยกระดับโดยระบบป้องกันและติดตามโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งเป็นภัยคุกคามต่อสุขภาพชาวอินเดีย

ในปีเดียวกันนั้น รัฐบาลตั้งแผนงาน Ayushman Bharat เน้นนโยบายปูทางสู่การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า และริเริ่มโครงการ Pradhan Mantri Jan Arogya Yojana หรือ PM-JAY ในปีต่อมา

PM-JAY เป็นโครงการประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลก ครอบคลุมประชากรมากกว่า 500 ล้านคนในอินเดีย 

รัฐบาลจะอุดหนุนค่ารักษาพยาบาลระดับทุติยภูมิและตติยภูมิ ให้ครอบครัวที่มีฐานะยากจนที่ 500,000 รูปี/ครอบครัว/ปี หรือประมาณ 220,000 บาท/ครอบครัว/ปี มีครอบครัวยากจนกว่า 100.7 ล้านครอบครัวที่ได้รับสิทธิ ซึ่งล้วนเป็นประชากร 40% ที่มีรายได้น้อยที่สุดของประเทศ 

Preetha คิดว่าแม้รัฐบาลอินเดียกำลังมาถูกทางแล้ว แต่กลับชะลอโครงการประกันสุขภาพในช่วงโรคโควิด 19 ระบาด เห็นได้จากงบประมาณด้านสาธารณสุขที่ถูกแช่แข็งที่ 6.9 แสนล้านรูปี ในระหว่างปีงบประมาณ 2563-2564 หรือคิดเป็น 1.29% ของจีดีพีเท่านั้น

จำนวนเม็ดเงินนี้ถือว่าห่างชั้นจากประเทศพัฒนา ซึ่งรัฐบาลมีค่าใช้จ่ายสุขภาพที่ 9-12% ต่อจีดีพี แม้แต่ศรีลังกาซึ่งมีขนาดเศรษฐกิจเล็กกว่าอินเดีย รัฐบาลยังมีค่าใช้จ่ายสุขภาพมากกว่า 3.7% ของจีดีพี เมื่อพิจารณาภาพรวมทั่วโลกแล้ว อินเดียถูกจัดอันดับที่ 170 จาก 188 ประเทศที่มีค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขมากที่สุด

นั่นคือสาเหตุที่ทำให้อินเดียไม่สามารถควบคุมโรคโควิด 19 ได้ เพราะขาดการลงทุนด้านสาธารณสุขมานานหลายปี ส่งผลให้ระบบสาธารณสุขขาดศักยภาพรับมือโรคระบาด

Preetha เสนอว่ารัฐบาลอินเดียต้องหันมาบริการจัดการด้านประมาณ และหากลไกทางการที่เหมาะสมที่จะกระตุ้นให้เงินไหลเข้าภาคสาธารณสุขและนวัตกรรมด้านสุขภาพ 

"คำถามคือรัฐบาลจะหาเงินมากขนาดนั้นมาได้อย่างไร หากหาไม่ได้เงินจะมาจากทางไหนได้บ้าง ถึงเวลาที่ต้องคิดนอกกรอบทางการแพทย์ และหาทางเลือกใหม่" Preetha กล่าว

เธอยกตัวอย่างกองทุนประกันสุขภาพที่โรงพยาบาล Apollos ภายใต้การนำของนายแพทย์ Prathap C Reddy ริเริ่มในหมู่บ้านอารากอนด้า ในรัฐอานธรประเทศ ทางชายฝั่งตะวันออกเฉียงใต้ของอินเดีย

ผู้เข้าร่วมโครงการเพียงสมทบเงินเข้ากองทุน 1 รูปี/วัน หรือ 365 รูปี/ปี ก็จะได้สิทธิรักษาพยาบาลในส่วนของผู้ป่วยใน ถือได้ว่าเป็นการระดมทุน "โดยประชาชน เพื่อประชาชน" และเป็นความร่วมมือระหว่างภาคเอกชนที่ประสบผลสำเร็จ

โมเดลนี้สามารถนำมาปรับใช้ในในโครงการประกันสุขภาพของรัฐบาลได้เช่นกัน Preetha คิดว่าหากรัฐบาลสามารถเก็บเงินสมทบ 365 รูปี/ปี จากทุกบัญชีธนาคารในอินเดีย ซึ่งมีจำนวนบัญชีรวม 1,670 ล้านบัญชี จะนำเงินเข้ากองทุนมากกว่า 6 แสนล้านรูปี/ปี คิดเป็นสัดส่วน 88% ของงบสาธารณสุขประจำปีในปัจจุบัน 

Preetha เรียกแนวทางนี้ว่า "พลังแห่ง 1 รูปี/วัน" ที่จะทำให้ระบบประกันสุขภาพที่ใหญ่ที่สุดในโลกเกิดขึ้นได้ และคนอีกนับล้านจะเข้าถึงบริการสุขภาพได้อย่างทั่วถึง แต่นี่เป็นเพียงข้อเสนอเท่านั้น แต่ก็เป็นแนวทางน่าสนใจ เพราะสามารถสร้างการมีส่วนร่วมของประชาชนในหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า 

อย่างไรก็ตาม นอกเหนือจากหากลไกทางการเงินที่เหมาะสมแล้ว ยังมีงานด้านอื่นๆที่ต้องทำเพื่อให้เกิดกองทุนประกันสุขภาพ เช่น การหาแนวทางบริหารจัดการงบประมาณของภาครัฐ ให้เกิดประโยชน์ต่อสุขภาพของประชาชน จัดทำกฎหมายที่เกี่ยวข้อง และวางระบบไอทีที่อำนวยความสะดวกให้กับประชาชนที่จ่ายเงินสมทบเข้ากองทุน

“สุดท้ายแล้ว วิกฤติโควิด 19 จะผ่านพ้นไป เศรษฐกิจจะกลับมาเดินหน้าอย่างเต็มสูบ แต่นั่นต้องอาศัยประชากรที่มีสุขภาพดี ซึ่งเป็นทุนสำคัญของประเทศ ในช่วงเวลาสำคัญที่เราอยู่บนทางแพร่งนี้ อินเดียต้องการพลังของทุกคน เพื่อสร้างประกันสุขภาพที่ยั่งยืน” Preetha กล่าว

อ้างอิง
https://www.forbesindia.com/blog/health/time-to-think-outside-the-medicine-box/