ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

การระบาดของโควิด-19 นับเป็นการระบาดครั้งใหญ่ของโลก (Pandemic) แต่ละประเทศต่างมีวิธีรับมือที่แตกต่างกันออกไป ซึ่งเทคโนโลยีได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในฐานะเครื่องมือช่วยลดการแพร่ระบาด การป้องกัน ตลอดจนถึงการรักษา

โควิด-19 กลายเป็นปฏิกิริยาเร่งหรือเป็นตัวบอกที่สำคัญว่า “คน” และ “เทคโนโลยี” ต้องทำงานประสานกันอย่างสมบูรณ์มากขึ้น และยังทำให้เกิดการปรับเปลี่ยนกระบวนทัศน์ (Paradigm Shift) ในด้านการแพทย์และสาธารณสุขไปอย่างมาก

สถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) จึงร่วมกับคณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ถอดบทเรียน ผ่านเวทีเสวนา “เทคโนโลยี ลดหรือขยายช่องว่างความเหลื่อมล้ำ ในสถานการณ์โควิด” เมื่อวันที่ 1 ก.ย. 2564

ผศ.ภญ.ดร.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.) กล่าวว่า วัคซีนโควิดเป็นเทคโนโลยีเร่งด่วนที่ถูกพัฒนาโดยใช้ระยะเวลาสั้น เนื่องจากต้องนำมาใช้ในสถานการณ์วิกฤต แต่ส่งผลกระทบในระยะยาว ซึ่งวัคซีนจะเป็นตัวเร่งให้ร่างกายมีภูมิคุ้มกันโรคมากขึ้น จึงนับเป็นเทคโนโลยีที่มีความซับซ้อน และมีความแตกต่างในคุณสมบัติของวัคซีนแต่ละยี่ห้อ

นอกจากนี้ วัคซีนยังมีความเกี่ยวข้องกับนโยบายด้านเศรษฐกิจการเมือง ระบบบริการสุขภาพ การสื่อสาร สิทธิบัตร กลไกราคา โครงสร้างสังคม การขึ้นทะเบียน การคัดเลือกรายการวัคซีน การจัดหา การกระจาย เกณฑ์การฉีดวัคซีน รวมไปถึงวัฒนธรรม ความเชื่อ และการให้ข้อมูลแก่ประชาชน

ทั้งหมดนี้ ล้วนมีผลต่อการเข้าถึงวัคซีนและการนำเทคโนโลยีมาใช้ เช่น กรณีวัคซีนที่ต้องมีการลงทะเบียนออนไลน์เพื่อการเข้าถึงวัคซีน อาจกลายเป็นข้อจำกัดให้กับประชากรบางกลุ่ม เช่น กลุ่มคนพิการ กลุ่มผู้สูงอายุ ที่อาจมีข้อจำกัดในการใช้ออนไลน์เทคโลยี ซึ่งถ้ากลุ่มดังกล่าวไม่ได้รับวัคซีนที่เหมาะสม ตามเวลาที่สมควร อาจเสี่ยงต่อการ
ติดเชื้อ และมีโอกาสป่วยรุนแรงถึงขึ้นเสียชีวิตได้

ดร.นพ.วิรุฬ ลิ้มสวาท ผู้อำนวยการสำนักวิจัยสังคมและสุขภาพ บอกว่า คนจนเมือง ซึ่งครอบคลุมทั้งผู้ที่อยู่ในชุมชนแออัด ผู้ที่หาเช้ากินค่ำ ประชากรแฝง ถือว่าจนทั้งเศรษฐกิจและจนทั้งโอกาส ไม่สามารถเข้าถึงบริการและเทคโนโลยีสุขภาพได้ ตัวอย่างเช่น ผู้ที่ไม่มีสมาร์ทโฟนก็ไม่สามารถเข้าถึงบริการของรัฐได้ ตั้งแต่การลงทะเบียนรับวัคซีน ไปจนถึงการรับเงินเยียวยาด้านต่างๆ รวมถึงการรับบริการสุขภาพผ่านการใช้เทคโนโลยี เช่น การดูแลสุขภาพทางไกล การแยกรักษาตัวที่บ้าน (Home Isolation) ฯลฯ

นอกจากนี้ จากการลงพื้นที่พบว่า ชุมชนมีศักยภาพและคนจนมีพลังในการต่อสู้ เพียงแต่มีต้นทุนจำกัด และเข้าไม่ถึงระบบข้อมูล ซึ่งการควบคุมโรคในชุมชนจำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องให้ชุมชนช่วยกันติดตามดูแลกันเอง เช่น การทำศูนย์พักคอยในชุมชน โดยใช้วัสดุอุปกรณ์ที่ระดมช่วยเหลือกันในชุมชน ซึ่งการสร้างภูมิต้านทานโรค ไม่ได้มีแค่เรื่องวัคซีนเท่านั้น แต่ยังมีมิติอื่นๆ ด้วย

ดังนั้น เทคโนโลยีไม่ได้มีเพียงแค่เทคโนโลยีที่รับบริการจากรัฐเท่านั้น ซึ่งเทคโนโลยีจากรัฐบางครั้งอาจเป็นข้อจำกัดไม่ให้ประชาชนเข้าถึงการบริการด้วยซ้ำ ทำให้เกิดช่องว่างระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ แต่ยังมีเทคโนโลยีทางสังคมอีกมากที่มีประโยชน์จริง

ทั้งนี้ เราอาจมองเรื่องโควิด-19 เป็นแค่เรื่องโรคเท่านั้น จนทำให้บดบังความต้องการที่แท้จริงของผู้คน ซึ่งหลักการทางปรัชญาและจริยศาสตร์ที่งานวิจัยได้เสนอไว้นี้ สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในการกำหนดความรู้ วางแผน และจัดทำเป็นข้อเสนอเชิงนโยบายที่ครอบคลุมมิติที่เกี่ยวข้องกับผู้คนได้

ดร.ปิยณัฐ ประถมวงษ์ เครือข่ายนักวิจัย สวรส. สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากการทำงานวิจัยโดยการระดมความเห็นจากมุมมองที่หลากหลาย ทำให้สามารถพัฒนากรอบแนวคิดที่เกี่ยวกับเรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์กับความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคมได้ใน 4 ประเด็นสำคัญ

ประกอบด้วย 1. หลักการเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 2. หลักความยุติธรรม 3. หลักการหลีกเลี่ยงอันตราย 4.  หลักการสร้างประโยชน์

สำหรับตัวอย่างการนำกรอบแนวคิดไปใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล เช่น การสร้างเทคโนโลยีเพื่อให้ประชาชนทุกคนมีโอกาสในการพัฒนาศักยภาพอย่างเท่าเทียมกัน

ในประเด็นของการออกแบบจำเป็นต้องให้ความสำคัญกับความแตกต่างเรื่องการสื่อสารและวัฒนธรรมเฉพาะกลุ่มด้วย เช่น การออกแบบเทคโนโลยีเพื่อคนพิการ ต้องคำนึงถึงโครงสร้างพื้นฐานและสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมทั้งทางกายภาพและทางจิตใจ เพื่อให้คนพิการสามารถใช้งานและมั่นใจในการใช้ชีวิตและเลือกตัดสินใจในเรื่องต่างๆ ได้

กระบวนการออกแบบควรเกิดขึ้นบนฐานของการรับฟังความต้องการของผู้ใช้เป็นสำคัญ พร้อมกับการจัดลำดับความสำคัญเพื่อหลีกเลี่ยงการกระจุกตัวของผู้ได้ประโยชน์ ซึ่งเป็นสาเหตุของความเหลื่อมล้ำ ดังนั้นการปฏิบัติการทางเทคโนโลยีในทุกกระบวนการ จำเป็นต้องตระหนักถึงแง่มุมเชิงสังคมและจริยธรรมของเทคโนโลยีเป็นสิ่งสำคัญควบคู่ไปด้วย

รศ.ดร.ปกรณ์ สิงห์สุริยา นักวิจัยเครือข่าย สวรส. สังกัดมหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า การวิจัยที่จะตอบสนองการศึกษาเกี่ยวกับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ในระยะยาว ควรเป็นเรื่องของการศึกษาปัจจัยด้านธรรมชาติของความเป็นมนุษย์ และวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลต่อเรื่องความเป็นธรรมของเทคโนโลยี การพัฒนาศักยภาพของประชาชน เพื่อให้พลเมืองมีความรอบรู้ทางด้านเทคโนโลยี การพัฒนานโยบายและแนวทางการทำงานเพื่อประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์

ทั้งนี้ ผลจากการพัฒนาเทคโนโลยีไม่ควรทิ้งใครไว้ข้างหลัง โดยเฉพาะกลุ่มคนเปราะบาง ตลอดจนเทคโนโลยีควรเป็นตัวช่วยในการขยายศักยภาพของประชาชนให้มากที่สุด

ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัย สวรส. กล่าวว่า เทคโนโลยีหลายเรื่องที่ถูกพัฒนาขึ้นเพื่อแก้ปัญหาในช่วงสถานการณ์โควิด-19 ทำให้เห็นชัดเจนว่า เป็นการพัฒนาที่มีความรีบร้อนเกินไป จนบางครั้งอาจลืมคำนึงถึงศาสตร์อื่นๆ การออกแบบเทคโนโลยีที่มีประสิทธิภาพ จำเป็นต้องมีระบบและกลไกที่เชื่อมโยงกับการใช้งานได้จริงกับแต่ละกลุ่มเป้าหมายในพื้นที่ รวมทั้งต้องพัฒนามาจากความต้องการของผู้ที่จะใช้จริงเป็นสำคัญ เพื่อให้เทคโนโลยีมีความเป็นธรรมกับคนทุกกลุ่มในสังคมมากยิ่งขึ้น

สำหรับรัฐบาล มีหน้าที่สนับสนุนให้เกิดระบบและกลไกดังกล่าว ซึ่งมุมมองจากเวทีเสวนาช่วยคลี่แต่ละประเด็นให้เห็นภาพชัดเจนขึ้น หลังจากนี้ สวรส. และศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน มหาวิทยาลัยมหิดล จะนำข้อมูลที่ได้ไปจัดลำดับความสำคัญ และนำมาพัฒนาเป็นข้อเสนองานวิจัยเพื่อรองรับผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีและปัญญาประดิษฐ์ที่มีผลต่อสังคม ทั้งด้านสุขภาพและคุณภาพชีวิต ตลอดจนด้านสังคมอื่นๆ โดยไม่ละเลยกรอบแนวคิดทางด้านสังคมและจริยธรรม  

อนึ่ง การเสวนาดังกล่าว เป็นประเด็นจากงานวิจัย “ปัญญาประดิษฐ์กับความเป็นธรรมทางสุขภาพและสังคม” ภายใต้แผนดำเนินงานวิจัยของศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยและขับเคลื่อนนโยบายสังคมไม่ทอดทิ้งกัน