ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ตอกย้ำถึงประสิทธิภาพในการควบคุมโรคระบาดของประเทศไทยอีกครั้ง เมื่อผลการคัดกรองเชื้อโควิด-19 ใน “กลุ่มคนเปราะบาง” กว่า 1,300 ราย ออกมาว่า “ไม่พบการติดเชื้อแม้แต่รายเดียว”

สำหรับการคัดกรองดังกล่าว ดำเนินการโดยคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล ร่วมกับภาคีเครือข่ายต่างๆ ภายใต้การสนับสนุนของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ที่ต้องการ “ขยายบริการ” ไปยังกลุ่มคนที่ยากจะเข้าถึง

ประกอบด้วย “คนไร้บ้าน” และ “ผู้ต้องขัง”

แรกทีเดียว คณะเทคนิคการแพทย์ ได้ส่งทีมลงพื้นที่กลุ่มคนไร้บ้าน-ไร้ที่พึ่งก่อน มีการตั้งจุดคัดกรองด้วยวิธีมาตรฐาน และนำผลเข้าห้องปฏิบัติการเพื่อตรวจยืนยันเชื้อ

ทั้งในชุมชนท่าน้ำนนท์ ศูนย์พักพิงคนไร้ที่พึ่ง จ.นนทบุรี ศูนย์พักพิงคนไร้บ้าน บางกอกน้อย รวมแล้วไม่ต่ำกว่า 400 ราย

ปรากฏว่า “ไม่พบการติดเชื้อ”

ขณะเดียวกัน ทาง สปสช. ได้ประสานความร่วมมือไปยังกรมราชทัณฑ์ เพื่อทำการคัดกรอง “ผู้ต้องขัง” ซึ่งอยู่กันอย่างกระจุกตัวและหนาแน่นสูง

เบื้องต้นได้ดำเนินการในเรือนจำกลางนครปฐม สถานกักขังกลาง ปทุมธานี ทัณฑสถานหญิงกลาง ทัณฑสถานบำบัดพิเศษกลาง สถานกักขังกลาง จ.ปทุมธานี เรือนจำธัญบุรี รวมอีกกว่า 1,000 ราย

ปรากฏว่า “ไม่พบการติดเชื้อ”

ศาสตราจารย์ ดร.ฉัตรเฉลิม อิศรางกูร ณ อยุธยา คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์ มหาวิทยาลัยมหิดล บอกว่า จากผลการคัดกรองเหล่านี้ บ่งชี้ถึงมาตรการของประเทศไทยที่มีประสิทธิภาพสูง

“ผมได้พูดคุยกับประธานมูลนิธิที่ทำงานเกี่ยวกับคนไร้บ้าน ท่านบอกว่าโครงการที่เราทำร่วมกับ สปสช.นั้น นอกจากการคัดกรองโควิด-19 แล้ว ยังเป็นการล้างมลทินให้กับคนเล็กคนน้อยด้วย” คณบดีคณะเทคนิคการแพทย์รายนี้ ระบุ

สำหรับมลทินที่ถูกอ้างถึงนั้น หมายถึงข้อครหา-ตราบาป ที่สังคมยัดเยียดให้กับกลุ่มคนเปราะบางว่า เป็นกลุ่มคนตกสำรวจที่มีโอกาส “แพร่เชื้อสูง”

แต่จากผลการสแกนอย่างเข้มข้น ชัดเจนว่าไม่ได้เป็นเช่นนั้น

แต่นั่นก็ไม่ได้หมายความว่าจะ “ย่ามใจ” ได้ ไม่ว่าจะเป็นใคร หรือคนกลุ่มไหนก็ตาม

สำหรับการดำเนินการหลังจากนี้ จะมีการคัดกรองในกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับอย่างต่อเนื่อง เพราะทุกวันจะมีผู้ที่เข้ามาในทัณฑสถานรายใหม่แทรก/แก้ไข Anchor

ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการ สปสช. อธิบายว่า ผู้ต้องขังในเรือนจำนับเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงเนื่องจากมีการอยู่ร่วมกันอย่างหนาแน่น โดยในกลุ่มผู้ต้องขังเดิมมีความปลอดภัยเพราะมีมาตรการดูแลป้องกันอยู่

ทว่า ในส่วนของผู้ต้องขัง “แรกรับ” มีปริมาณเพิ่มใหม่ในทุกวัน หากมีการติดเชื้อในกลุ่มนี้และถูกนำเข้าสู่เรือนจำ จะส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดกระจายไปเป็นวงกว้าง

“โจทย์สำคัญคือการคัดกรองกลุ่มผู้ต้องขังแรกรับเหล่านี้ให้มีความปลอดภัยจากเชื้อไวรัส จะต้องมีการคัดกรองอย่างต่อเนื่องจนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลาย” ทพ.อรรถพร ระบุ