ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

อาจารย์แพทย์ จุฬาฯ เสนอให้ใช้ “1330” เลขหมายเดียว ประสานเตียงโควิด-19 เหตุ สปสช.มีข้อมูลประชาชน-หน่วยบริการพร้อม และเชี่ยวชาญเรื่องการรับเรื่อง-แก้ปัญหา-ส่งต่อเคส


รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ ศรีรัตนบัลล์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อการพัฒนาระบบบริการสุขภาพ คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เปิดเผยกับ “The Coverage” ตอนหนึ่งว่า การบูรณาการช่วยผู้ป่วยโควิด-19 หาเตียง ควรใช้สายด่วน “สปสช. 1330” เพียงเลขหมายเดียว ทำหน้าที่เป็น One-stop service โดยขยายจำนวนคู่สายและจำนวน Operator ให้มากขึ้น ซึ่งจะช่วยลดความสับสนและทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า พฤติกรรมของประชาชนคือเมื่อมี 3 เลขหมาย ก็จะโทรไปทั้ง 3 เลขหมาย เพื่อให้ได้ทางเลือกที่ดีที่สุด สุดท้ายแล้วก็จะเกิดเป็นความซ้ำซ้อนของข้อมูล ในระยะยาวจะยิ่งเกิดข้อเสีย ดังนั้นควรมีการทบทวนและปรับให้เหลือเลขหมายเดียว ซึ่งจะสะดวกแก่ประชาชนด้วย

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวว่า หากพิจารณาสายด่วน 3 เลขหมาย ประกอบด้วย 1668 1669 และ 1330 จะพบว่า 1. สายด่วน “กรมการแพทย์1668” เป็นสายด่วนที่ตั้งขึ้นมาอย่างเฉพาะกิจ ไม่มีข้อมูลประชาชนอยู่ในมือ ไม่มีฐานข้อมูลเรื่องเตียง ไม่สามารถตรวจสอบกับ Big Data ได้ ทำให้ต้องจดทุกอย่างใหม่

2. สายด่วน “สพฉ.1669” ซึ่งแม้ว่ามีประสบการณ์ แต่ก็ถูกออกแบบมาเพื่อเป็นเบอร์สำหรับภาวะฉุกเฉิน หากนำภารกิจเรื่องจัดหาเตียงเข้ามาปน จะทำให้ผู้ป่วยฉุกเฉินจริงๆ เสียโอกาส เพราะต้องแย่งคิวกันโทร

3. สายด่วน “สปสช. 1330” เป็นสายด่วนที่ทำงานด้านนี้มานาน มีข้อมูลประชาชน มีประสบการณ์ในการรับปัญหา การส่งต่อ การแก้ไขปัญหา จึงคิดว่าสายด่วน 1330 มีจุดแข็งและเหมาะสมในสถานการณ์นี้มากที่สุด

รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าวต่อไปว่า เนื่องจากสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) มีฐานข้อมูลประชาชนอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นสิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) สิทธิประกันสังคม สิทธิข้าราชการ ฉะนั้นเมื่อ Operator กรอกเลข 13 หลักของผู้ที่โทรเข้ามาก็จะระบุตัวตนของผู้ป่วยและตรวจสอบสิทธิได้ทันที

นอกจากเรื่องฐานข้อมูลบุคคลแล้ว สปสช.ยังมีฐานข้อมูลของหน่วยบริการอยู่ในมือด้วย และ สปสช.ก็ยังดูแลเรื่องของ UCEP ฉะนั้นหากนำข้อมูลเหล่านี้ประยุกต์เข้ามาใช้กับสายด่วนในสถานการณ์โควิด-19 ก็จะสามารถเชื่อมโยงข้อมูลผู้ป่วยเข้ากับข้อมูลของสถานบริการ และสามารถต่อยอดไปถึงเรื่องของการเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาลได้

“การมีระบบ Clearing House ช่วยหาเตียงให้กับผู้ป่วยตั้งแต่ตอนต้น ก็จะสามารถลดความซ้ำซ้อน และความคลาดเคลื่อนของการส่งต่อข้อมูลจากการดูแลไปสู่การเบิกจ่ายค่ารักษาพยาบาล และในอนาคต สมมติมีผู้ป่วยรักษาตัวอยู่ที่ Hospitel และเกิดอาการรุนแรงจนต้องย้ายเข้าโรงพยาบาล ทาง 1330 ก็จะสามารถลงข้อมูลไปในระบบ และสามารถบอกต่อได้ทันทีว่า เตียงที่ Hospitel นั้นว่างแล้ว ส่วนเตียงที่โรงพยาบาลกำลังถูกใช้อยู่” รศ.ดร.นพ.จิรุตม์ กล่าว