ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

กรมบัญชีกลาง ปรับหลักเกณฑ์เบิกจ่ายค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อม ดีเดย์ 19 เม.ย.นี้ หวังให้ผู้ป่วยเข้าถึงได้ง่ายตั้งแต่ระยะเริ่มต้น สอดคล้องผลการศึกษาราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์ฯ
------------------------------
นายประภาศ คงเอียด อธิบดีกรมบัญชีกลาง เปิดเผยว่า กรมบัญชีกลางได้ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย และชมรมศัลยแพทย์ข้อสะโพกข้อเข่าแห่งประเทศไทย พิจารณาทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์การเบิกค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้า และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม ซึ่งจะมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 19 เม.ย. 2564 เป็นต้นไป

สำหรับสาระสำคัญของการปรับหลักเกณฑ์ดังกล่าว ได้แก่ 1. การเบิกจ่ายค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต (glucosamine) ให้เป็นไปตามแนวทางกำกับการเบิกจ่ายค่ายากลูโคซามีนซัลเฟต โดยให้ใช้ยากลุ่มนี้กับผู้ป่วยที่เป็นโรคข้อเข่าเสื่อมแบบปฐมภูมิ คือผู้ป่วยข้อเข่าเสื่อมที่มีผล X-ray ตั้งแต่ Kellgren and Lawrence grade 1-3 เท่านั้น โดยการสั่งใช้ยาต้องไม่เกินครั้งละ 12 สัปดาห์

2. การเบิกจ่ายค่ายาคอนดรอยตินซัลเฟต ไดอะเซอเรน และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม ให้ปฏิบัติตามหลักเกณฑ์การเบิกค่ายานอกบัญชียาหลักแห่งชาติในหนังสือกระทรวงการคลัง ด่วนที่สุด ที่ กค 0422.2/ว 111 ลงวันที่ 24 ก.ย. 2555 3. การเบิกจ่ายค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อมตามข้อ 1 และ 2 ให้เบิกจ่ายในระบบเบิกจ่ายตรง ค่ารักษาพยาบาลเท่านั้น ผู้มีสิทธิไม่สามารถนำใบเสร็จรับเงิน มายื่นเบิกค่ายากับส่วนราชการต้นสังกัดได้ทุกกรณี

"การปรับปรุงหลักเกณฑ์ฯ ดังกล่าว มุ่งหวังให้ผู้ป่วยสามารถเข้าถึงยาเพื่อทำการรักษาโรคได้ตั้งแต่ระยะเริ่มต้น ส่งผลให้การควบคุมโรคเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายของผู้ป่วยในการเดินทางมารับยา อีกทั้งจะทำให้กรมบัญชีกลางมีฐานข้อมูลสำหรับตรวจสอบและประเมินคุณภาพในการรักษา ร่วมกับราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทยต่อไป" นายประภาศ กล่าว

นายประภาศ กล่าวว่า ที่มาของการทบทวนและปรับปรุงหลักเกณฑ์ดังกล่าว มาจากการศึกษาวิจัยข้อมูลผู้ป่วยโรคข้อเข่าเสื่อม โดยราชวิทยาลัยแพทย์ออร์โธปิดิกส์แห่งประเทศไทย ซึ่งพบว่าปัจจุบันผู้ป่วยมีอายุเฉลี่ยลดลง อีกทั้งการได้รับยากลูโคซามีนซัลเฟต ต้องได้รับยาในขนาด 1,500 มิลลิกรัมต่อวัน เป็นเวลานาน 3 ปี จึงจะช่วยลดอาการปวดและช่วยลดการแคบของข้อได้ดีกว่าการใช้ยาในระยะสั้น

ทั้งนี้ ในปีงบประมาณ 2563 มีจำนวนผู้ป่วยที่ใช้สิทธิสวัสดิการรักษาพยาบาลข้าราชการที่ได้รับยากลูโคซามีนซัลเฟต จำนวน 39,560 ราย มีผลการเบิกจ่ายค่ายาดังกล่าว เป็นจำนวนเงินกว่า 101.4 ล้านบาท โดยหลักเกณฑ์การเบิกค่ายาบรรเทาอาการข้อเสื่อมที่ออกฤทธิ์ช้า และกลุ่มยาฉีดเข้าข้อบรรเทาอาการข้อเสื่อม ถูกประกาศใช้มาตั้งแต่ปี 2558 ก่อนที่จะมีการทบทวนในครั้งนี้