ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

“ประกันสังคม-บัตรทอง” พร้อมดูแลผู้ป่วยโรคไตวาย สปสช.เตรียมขยายสิทธิประโยชน์ให้ครอบคลุม “ล้างไตด้วยเครื่องอัตโนมัติ”


นางนงลักษณ์ กอวรกุล รักษาการผู้อำนวยการสำนักจัดระบบบริการทางการแพทย์ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) กล่าวในเวทีเสวนา ภายใต้กิจกรรมเนื่องในวันโรคไตโลก ประจำปี 2564 เมื่อวันที่ 11 มี.ค.ที่ผ่านมา ตอนหนึ่งว่า ผู้ประกันตนในระบบประกันสังคม ตามมาตรา 33 และ 39 ที่ป่วยเป็นโรคไตวายเรื้อรัง จะได้รับสิทธิประโยชน์ครอบคลุมการรักษาโรคไต ทั้งการฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม การล้างไตผ่านทางช่องท้อง และการปลูกถ่ายอวัยวะ ส่วนผู้ประกันตนมาตรา 40 จะใช้สิทธิการรักษาในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) จึงไม่ต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่ายแต่อย่างใด

สำหรับแนวทางการรักษาผู้ป่วยโรคไต หากเจ็บป่วยในระยะแรกก็จะเป็นการรักษาตามสิทธิ แต่เมื่อเข้าสู่ไตวายเรื้อรังระยะสุดท้าย จะมีการแยกเรื่องนี้ออกมาดูแลโดยเฉพาะเพื่อไม่ให้โรงพยาบาลต้องกังวลเรื่องค่าใช้จ่าย โดย ผู้ที่จะรับสิทธิประโยชน์บำบัดทดแทนไต ผู้ป่วยที่เข้าเกณฑ์ต้องมีใบรับรองแพทย์มายื่นขอให้คณะอนุกรรมการบำบัดทดแทนไตของ สปส. พิจารณาเป็นกรณี

ทั้งนี้ ที่ผ่านมามีผู้ประกันยื่นขออนุมัติฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียมแล้วประมาณ 2 หมื่นคน ค่าใช้จ่ายแต่ละปีประมาณ 3,000 ล้านบาท ขณะเดียวกัน ยาที่จำเป็นกับผู้ป่วย เช่น ยากระตุ้นเม็ดโลหิต ก็อยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ที่ สปส. ดูแลเช่นกัน

"ผู้ที่เข้าสู่ไตวายระยะสุดท้ายไม่ต้องกังวลใจ แต่แม้ว่าเราจะดูแลการฟอกไตไปตลอด เราก็ไม่ต้องการเห็นผู้ป่วยเพิ่มจำนวนมากกว่านี้ ดังนั้นทิศทางนโยบายในอนาคตจะเน้นการดูแลส่งเสริมสุขภาพ ทั้งการตรวจคัดกรอง การปรับพฤติกรรมสุขภาพ ซึ่งขณะนี้เป็นสิทธิประโยชน์ตาม พ.ร.บ.ประกันสังคม ฉบับที่ 4 แล้ว" นางนงลักษณ์ กล่าว

ด้าน ภก.คณิตศักดิ์ จันทราพิพัฒน์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนระบบบริการทุติยภูมิและตติยภูมิ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า สิทธิประโยชน์การบำบัดทดแทนไตในระบบบัตรทองมีด้วยกัน 3 อย่าง ได้แก่ ล้างไตทางหน้าท้อง ฟอกไตด้วยเครื่องไตเทียม และการผ่าตัดปลูกถ่ายไต

ทั้งนี้ ผู้ป่วยจะเข้าสู่การล้างไตผ่านช่องท้องเป็นลำดับแรก เพราะสะดวก รวดเร็ว ค่าใช้จ่ายไม่สูง โดยทุกเดือน สปสช.จะจัดส่งน้ำยาล้างไตให้ถึงบ้าน แต่ถ้าผู้ป่วยมีข้อจำกัดไม่สามารถล้างไตทางหน้าท้องได้ ก็จะให้สิทธิฟอกเลือดด้วยเครื่องไตเทียม

สำหรับการปลูกถ่ายไต ถ้าเข้าเงื่อนไขต่างๆ สปสช.ก็จ่ายค่าใช้จ่ายให้ทั้งหมด รวมทั้งในอนาคตจะพัฒนาอีกขั้นด้วยการล้างไตทางช่องท้องด้วยเครื่องล้างอัตโนมัติ ซึ่งขณะนี้อยู่ระหว่างนำร่องในบางพื้นที่