ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ขอนแก่น กลายมาเป็นพื้นที่ที่ถูกเลือกให้จัดงาน มหกรรมป้องกันและชะลอโรคไตเรื้อรังระดับประเทศ เนื่องในโอกาสวันที่ 14 มี.ค. 2567 ซึ่งตรงกับ ‘วันไตโลก’ โดยพื้นที่ภาคอีสาน ถือเป็นอีกโซนหนึ่งของประเทศที่พบผู้ป่วยโรคไตจำนวนมาก และยังเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ

สาเหตุสำคัญมาจากการบริโภคของคนอีสาน ที่เน้นอาหารรสจัด ยิ่งกับเมนูปลาร้า ส้มตำ แจ่วบ่อง นับเป็นวิถีวัฒนธรรมการกินของผู้คนมาช้านาน หากแต่พฤติกรรมการกินเหล่านี้กลับกำลังสร้างอันตรายทางสุขภาพอย่าง ‘โรคไต’ ให้กับคนในพื้นที่

1

ตัวเลขจากสำนักงานสาธารณสุขจังหวัดขอนแก่น พบว่าขณะนี้มีผู้ป่วยโรคโตเรื้อรังมากถึง 2-3 หมื่นคน ขณะเดียวกันก็เชื่อว่ายังมีผู้ป่วยโรคไตอีกจำนวนมากที่ยังไม่แสดงอาการ หรือยังไม่รู้ตัวว่าป่วยเป็นโรคไตระยะแรกเริ่มแล้วด้วย

การจัดงานมหกรรมป้องกันโรคไตเรื้อรังจึงเลือกเอาพื้นที่แห่งนี้เป็นสัญลักษณ์การต่อสู้กับโรคไต ผ่านการรวมพลังความร่วมมือกันระหว่าง ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น และสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เขต 7 ขอนแก่น

หน่วยงานทั้งหมดได้ร่วมกันจัดงานนี้ขึ้น เพื่อรณรงค์และป้องกันโรคไตในประชาชน รวมไปถึงชะลอการเติบโตของโรคไตที่นำไปสู่การป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง ขณะเดียวกันเมื่อป่วยแล้วก็ต้องได้รับการรักษาที่มีคุณภาพและเท่าเทียม

2

อย่างไรก็ตาม อีกหนึ่งในเป้าหมายของการจัดงานครั้งนี้ คือการสร้างองค์ความรู้ใหม่ให้กับประชาชน ในการเรียนรู้การตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตัวเอง ผ่านเครื่องมือใหม่ที่จะนำมาใช้ตรวจคัดกรองโรคไตในหมู่คนไทยในอนาคต เพื่อป้องกันไม่ให้โรคต้องลุกลาม และขยายไปสู่การป่วยเป็นโรคไตเรื้อรังที่ต้องรักษาบำบัดทดแทนไต ซึ่งปัจจุบันทั้งประเทศมีเกือบ 2 แสนคนแล้วที่ต้องรักษา โดยแต่ละรายจะต้องมีค่าใช้จ่ายเพื่อรักษาถึง 2 แสนบาทต่อคนต่อปี

แม้ว่าการรักษาบำบัดทดแทนไตจะไม่มีค่าใช้จ่าย เนื่องจากเป็นสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ที่ดูแลประชากรคนไทยทุกคน ครอบคลุมทั้งสิทธิบัตรทอง 30 บาท สิทธิประกันสังคม และสิทธิสวัสดิการข้าราชการ ก็ตามที แต่หากมองมายังงบประมาณด้านสุขภาพของประเทศ ก็พบว่าในการดูแลผู้ป่วยโรคไตเรื้อรังนับเป็นงบประมาณจำนวนไม่น้อย

จากข้อมูลของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) ในฐานะหน่วยจ่ายชดเชยค่าบริการให้กับประชาชน พบว่าต้องใช้งบประมาณไปถึง 9,700 ล้านบาท ในปี 2564 ซึ่งเป้าหมายของรัฐบาลและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง จึงหันมาที่เรื่องการป้องกันไม่ให้ป่วยเป็นโรคไต หรือป่วยแล้วก็ต้องคุมอาการไม่ให้โรคลุกลามไปสู่ระยะเรื้อรัง

ฉะนั้นการได้รู้ตัวก่อนป่วยจึงสำคัญมาก แต่เมื่อการเข้าถึงการตรวจโรคไตยังเป็นอุปสรรค จึงเกิดความพยายามของนักวิจัยที่ได้หาทางออกเพื่อแก้ไขปัญหานี้ และให้คนไทยได้รู้เท่าทันโรคไต โดยให้เข้าถึงการตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตัวเองมากขึ้น ผ่านการคิดค้นผลิตภัณฑ์หรือ “นวัตกรรมชุดตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตัวเอง” ขึ้นได้สำเร็จ

ศูนย์นาโนเทคโนโลยีแห่งชาติ หรือนาโนเทค สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) โดยทีมวิจัยที่นำโดย ดร.เดือนเพ็ญ จาปรุง ผู้อำนวยการกลุ่มวิจัยวัสดุตอบสนองและเซ็นเซอร์ระดับนาโน สามารถสร้างนวัตกรรม ‘ชุดตรวจคัดกรองติดตามโรคไตเรื้อรังและภาวะแทรกซ้อนเบาหวานเชิงคุณภาพ (AL-Strip)’ ที่จะไปช่วยตรวจหาว่าป่วย หรือมีความเสี่ยงจะเป็นโรคไตหรือไม่

สำหรับนวัตกรรม AL-Strip ชิ้นนี้ เป็นชุดตรวจด้วยตัวเอง หรือ Test Kit ที่ประชาชนสามารถทำได้เอง โดยจะเหมือนกับชุดตรวจโควิด -19 เพียงแต่เปลี่ยนของเหลวจากเมือกในโพรงจมูก หรือน้ำลาย มาเป็นปัสสาวะแทน

ทั้งนี้ เมื่อหยดปัสสาวะในชุดตรวจแล้ว นวัตกรรมดังกล่าวจะทำหน้าที่หาโปรตีนอัลบูนินแบบเชิงคุณภาพในปัสสาวะอย่างรวดเร็ว หากพบว่ามีปริมาณเกินกว่าค่ามาตรฐานที่กำหนด จะสะท้อนและอนุมานได้ว่าระบบกรวยไตที่ใช้กรองของเสียในร่างกายอาจมีปัญหา

ดร.เดือนเพ็ญ บอกกับ The Coverage ว่า นวัตกรรมตรวจคัดกรองโรคไตเรื้อรัง AL-Strip นี้ใช้งานได้ไม่ยาก เพียงแค่หยดปัสสาวะลงไปในช่องที่กำหนด ปัสสาวะจะทำปฏิกิริยากับน้ำยาที่อยู่ในชุดตรวจ โดยเมื่อหยอดปัสสาวะลงไป 5 นาที ก็จะทราบผลเบื้องต้นว่ามีอาการเสี่ยงป่วยด้วยโรคไตหรือไม่ หากขึ้นแถบสีแดง 2 ขีดก็แปลได้ว่า Negative หรือไม่มีความเสี่ยง แต่ถ้าขึ้นแถบสีแดงแค่แถบเดียว ก็จะเป็นค่า Positive ที่มีความเสี่ยง ซึ่งต้องพบแพทย์เพื่อทำการรักษาต่อไป

4

การทำงานของชุดตรวจ AL-Strip นั้น จะอาศัยหลักการจับคู่กันระหว่างแอนติเจนกับแอนติบอดีแบบแข่งขัน ซึ่งจะทำให้เกิดค่าความไวในการตรวจวัดอัลบูนินได้ตั้งแต่ 20 ug/mL พร้อมรายงานผลการตรวจเชิงคุณภาพออกมา และให้อ่านค่าได้ด้วยตาเปล่าภายในเวลาไม่เกิน 5 นาที

“จุดเด่นของ AL-Strip คือตรวจได้เร็ว มีความแม่นยำอยู่ที่ 95-98% มีราคาถูกกว่าตรวจแบบทั่วไป เข้าถึงได้ง่าย ที่สำคัญคือนวัตกรรมชิ้นนี้มีความสามารถสูงในการตรวจหาไมโครอัลบูนินในปัสสาวะอย่างจำเพาะ ซึ่งมันมีความละเอียดในการตรวจได้มากขึ้น” ดร.เดือนเพ็ญ สะท้อนจุดแข็งของนวัตกรรมชิ้นนี้

มากไปกว่านั้นทีมนักวิจัยของ ดร.เดือนเพ็ญ ยังได้สร้างนวัตกรรมอีกชิ้นที่มีชื่อว่า Go-Senser Albumin Test หรือชุดตรวจโรคไตเชิงปริมาณ เพื่อใช้วิเคราะห์ผลทางการแพทย์ โดยทีมวิจัยได้พัฒนาใน 2 ส่วนหลัก ส่วนแรกคือ เครื่องตรวจปริมาณอัลบูมินที่เจือปนอยู่ในปัสสาวะ ที่ใช้เวลาในการประมวลผลเพียง 10-30 นาที ขึ้นอยู่กับความละเอียดของข้อมูลที่ต้องการ จากนั้นภายหลังการประมวลผล ก็จะสามารถดูข้อมูลได้ผ่านทั้งคอมพิวเตอร์และสมาร์ตโฟน เพื่อให้แพทย์สามารถนำผลการตรวจไปใช้งานต่อได้สะดวก

3

ในขณะที่ส่วนถัดมา คือน้ำยาตรวจที่มีความจำเพาะกับอัลบูมินของมนุษย์ ซึ่งมีความไวในการตรวจมากกว่าชุดตรวจทั่วไปประมาณ 100 เท่า ช่วยลดปริมาณน้ำยาที่ใช้ในการตรวจได้เป็นอย่างดี

แม้ดูแล้วนวัตกรรมชิ้นนี้จะเข้ามาช่วยตอบโจทย์การป้องกันโรคไตเรื้อรังในกลุ่มประชาชนคนไทยได้ และช่วยให้ประชาชนเข้าถึงการตรวจคัดกรองก่อนเป็นโรคที่ง่ายและสะดวก แต่คำถามที่ตามมาคือ เราจะได้ใช้งานจริงหรือไม่ และหากได้ใช้จริงแล้ว จะต้องมีค่าใช้จ่ายเท่าไร

ในประเด็นคำถามนี้ ดร.เดือนเพ็ญ ให้คำตอบว่า สถานะขณะนี้ของงานวิจัยตัว AL-Strip มีภาคเอกชนประมาณ 2-3 บริษัท ที่มารับถ่ายทอดเทคโนโลยีไป และมีการยื่นขอการรับรองจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) ไปแล้ว 

มากไปกว่านั้น นวัตกรรมชิ้นนี้ กำลังถูกนำไปพิจารณาเพื่อบรรจุเป็นชุดสิทธิประโยชน์ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ซึ่งปัจจุบันผ่านขั้นตอนการพิจารณาของคณะอนุกรรมการ ภายใต้คณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ไปแล้ว และคาดว่าจะเข้าสู่ที่ประชุมบอร์ด สปสช. ชุดใหญ่ ในวันที่ 22 มี.ค.ที่จะถึงนี้ 

“เรื่องราคาเรายังไม่สามารถบอกได้ทันที ว่าจะไปหยุดอยู่ที่ราคาเท่าไร เพราะต้องดูว่าหาก สปสช. รับเอาไปอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ และทุกสิทธิสามารถเข้าถึงได้ เพราะเป็นภารกิจการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรค ก็จะทำให้ราคาถูกลงไปอีกเรื่อยๆ ได้ เพราะจำนวนการผลิตก็จะเพิ่มมากขึ้น” ดร.เดือนเพ็ญ ทิ้งท้าย