ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. ชวนประชาชนตระหนักรู้ถึงภัยของโรคไต เนื่องในโอกาสวันไตโลก ประจำปี 2567 พร้อมเน้นย้ำสัญญาประชาคม “มุ่งมั่นพัฒนาระบบบริการและนวัตกรรม เพื่อให้ผู้ป่วยโรคไตมีคุณภาพชีวิตที่ดี”


นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เปิดเผยว่า เนื่องในวันที่ 14 มี.ค.นี้ ถูกกำหนดให้เป็นวันไตโลก (World Kidney Day) ประจำปี 2567 โดยปีนี้ใช้ธีมว่า “Kidney Health for All – Advancing Equitable Access to Care and Optimal Medication Practice” หรือ “ครอบคลุมทุกสิทธิ์ พิชิตโรคไต ใส่ใจการใช้ยา” สปสช. ในฐานะหน่วยงานที่ดูแลสุขภาพของผู้ใช้สิทธิบัตรทอง ขอเน้นย้ำสัญญาประชาคมในการดูแลผู้ป่วยโรคไตสิทธิบัตรทอง โดยจะมุ่งมั่นพัฒนาระบบบริการและนวัตกรรมใหม่ๆ เพื่อให้ผู้ป่วยมีคุณภาพชีวิตที่ดี สมศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

ขณะเดียวกัน สปสช. จะพัฒนาระบบการสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคเพื่อให้ประชาชนคนไทยทุกคน สามารถเข้าถึงบริการที่เกี่ยวเนื่องกับการป้องกันและชะลอความเจ็บป่วยของโรคไต ตลอดจนร่วมมือกับภาคีเครือข่ายทั้งหน่วยงานรัฐและเอกชน ในการเสริมสร้างความตระหนักรู้ถึงภัยร้ายจากโรคไตและการดูแลสุขภาพให้แข็งแรง

1

นพ.จเด็จ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา สปสช. ได้พัฒนาระบบการดูแลผู้ป่วยโรคไต โดยเพิ่มสิทธิประโยชน์ในการรักษาอย่างต่อเนื่อง ทั้งการล้างไตทางช่องท้อง (CAPD) การล้างทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ (APD) การบำบัดทดแทนไตด้วยเครื่องไตเทียม (HD) และการผ่าตัดเปลี่ยนถ่ายไต (KT) นอกจากนี้ยังพัฒนาระบบสนับสนุนต่างๆ เช่น การเพิ่มจำนวนหน่วยไตเทียม การจัดระบบให้ผู้ป่วยรับการผ่าตัดเตรียมเส้นเลือดสำหรับฟอกไตได้อย่างรวดเร็ว ระบบการจัดส่งน้ำยาล้างไตถึงบ้านผู้ป่วยแม้อยู่ในสถานการณ์ภัยพิบัติ และนโยบายที่คำนึงถึงผู้ป่วยเป็นศูนย์กลาง โดยเปิดโอกาสให้ตัดสินใจเลือกวิธีบำบัดทดแทนไตด้วยตัวเองเพื่อให้เหมาะสมกับวิถีชีวิตของผู้ป่วยมากที่สุด ฯลฯ

ปัจจุบัน มีผู้ป่วยโรคไตสิทธิบัตรทองที่ได้ใช้สิทธิรับการบำบัดทดแทนไตด้วยวิธีต่างๆ รวมกว่า 78,000 คน แบ่งเป็น การบำบัดล้างไตทางช่องท้อง 13,710 คน การบำบัดแทนแทนไตด้วยเครื่องไตเทียม 58,834 การล้างทางช่องท้องด้วยเครื่องอัตโนมัติ 3,357 คน และมีผู้รับการผ่าตัดเปลี่ยนไตอีก 2,694 คน โดยผู้ป่วยส่วนมากอยู่ในช่วงอายุระหว่าง 61-75 ปี รองลงมาคืออายุระหว่าง 46-60 ปี และ 30-45 ปีตามลำดับ

นพ.จเด็จ กล่าวต่อไปว่า สำหรับทิศทางการดำเนินงานดูแลผู้ป่วยโรคไตจากนี้ สปสช. ให้ความสำคัญตั้งแต่ขั้นตอนของการป้องกันและชะลอการเกิดผู้ป่วยไตรายใหม่ เช่น การควบคุมอาการของผู้ป่วยโรคเรื้อรังเพื่อไม่ให้ลุกลามจนกลายเป็นโรคไต การใช้ยาอย่างสมเหตุผลเท่าที่จำเป็น การตรวจคัดกรองประเมินภาวะไตอย่างสม่ำเสมอ รวมทั้งการสร้างความตระหนักรู้ถึงความร้ายแรงของโรคไตและการปฏิบัติตัวลดความเสี่ยงในการเกิดโรค

2

ขณะที่ในส่วนของผู้ที่รับการรักษาจะเน้นการกำกับดูแลควบคุมมาตรฐานการบริการเพื่อให้ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้อย่างเพียงพอ ลดการติดเชื้อ และลดอัตราการเสียชีวิต การประสานภาคีเครือข่ายหากลไกในการเพิ่มจำนวนผู้บริจาคไต และยังคงให้ความสำคัญกับกระบวนการ Share Decision Making เพื่อให้ผู้ป่วยและญาติตัดสินใจเลือกแนวทางบำบัดทดแทนไตที่เหมาะสม

"เนื่องในโอกาสวันไตโลก ประจำปี 2567 นี้ ผมขอเชิญชวนให้คนไทยทุกคน ให้ความสนใจและปรับพฤติกรรมที่เสี่ยงต่อการเกิดโรคไต โรคนี้นอกจากจะสร้างความเจ็บป่วยต่อร่างกายแล้ว ยังเป็นโรคเรื้อรังที่มีค่าใช้จ่ายสูง ในอดีตหลายครอบครัวต้องล้มละลายเพราะการรักษาโรคไตมาแล้ว แม้ในปัจจุบันจะมีระบบบัตรทองช่วยดูแลเรื่องค่าใช้จ่าย ทำให้ครัวเรือนไม่ต้องล้มละลายจากโรคนี้อีก แต่ก็ยังกระทบกับคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและครอบครัวทั้งด้านการใช้ชีวิตและด้านจิตใจ ดังนั้น วิธีที่ดีที่สุดคืออย่าป่วย วันไตโลก เป็นสัญลักษณ์ที่คนไทยทุกคนจะได้สร้างความตระหนักรู้และรณรงค์ลดความเสี่ยงที่จะป่วยด้วยโรคไตร่วมกัน" เลขาธิการ สปสช. กล่าว