ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ก.สาธารณสุข ดัน “กัญชา” สู่อุตสาหกรรมสุขภาพ-สร้างเศรษฐกิจประเทศ ตั้งเป้าผลิต ยา-ผลิตภัณฑ์สุขภาพ-การท่องเที่ยว พร้อมบรรจุ Service Plan เพิ่มโอกาสเข้าถึงการรักษาด้วยกัญชา


นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.สาธารณสุข (สธ.) เปิดเผยในการแถลงข่าวการพัฒนากัญชาเพื่อเศรษฐกิจไทย เมื่อวันที่ 11 มี.ค. 2564 ตอนหนึ่งว่า รัฐบาลเตรียมส่งเสริมให้พัฒนากัญชาแบบครบวงจร (Product Champion) ตลอดห่วงโซ่ ตั้งแต่ต้นทางเกษตรกรผู้ปลูก กลางทางคือผู้ผลิต และปลายทางคือผู้ขายและประชาชน

ทั้งนี้ ได้เล็งเห็นว่ากัญชาจะเป็นทางออกทางเศรษฐกิจของประเทศไทย ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อภาคเกษตรกร อุตสาหกรรม ธุรกิจ และประชาชน จึงมีเป้าหมายต่อยอดกัญชาสู่การสร้างเศรษฐกิจประเทศ 3 ด้าน ได้แก่ ยาแผนไทย ผลิตภัณฑ์สุขภาพ และการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ โดยปัจจุบันมีโรงงานผู้ผลิตยาแผนปัจจุบัน ยาแผนโบราณ สมุนไพรเดี่ยว และผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร เข้าร่วมแล้ว 29 บริษัท

"วันนี้นับเป็นก้าวย่างสำคัญจากการพัฒนากัญชาทางการแพทย์ ขยายไปสู่อุตสาหกรรมสุขภาพ ร่วมกับภาคเอกชนผู้ผลิตที่มีศักยภาพ และวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกที่มีคุณภาพ ซึ่งขณะนี้มีความต้องการวัตถุดิบกัญชารวมกันมากกว่า 30 ตัน ความคาดหวังว่ากัญชาเป็นพืชเศรษฐกิจ จึงมีความเป็นไปได้สูง" นายอนุทิน กล่าว

นายอนุทิน กล่าวว่า กัญชาเป็นสมุนไพรที่มีค่าและประชาคมโลกให้การยอมรับมากขึ้น โดยปัจจุบันตลาดกัญชาที่ถูกกฎหมายมีมูลค่าราว 5 แสนล้านบาท และมีอัตราการเติบโตมากกว่า 17% ซึ่งกัญชาในอุตสาหกรรมทางการแพทย์และสุขภาพ สร้างรายได้สูงถึง 70% ของมูลค่าทั้งหมด

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ปลัด สธ. กล่าวว่า สธ.ได้ให้บริการกัญชาทางการแพทย์มาตั้งแต่ปี 2562 โดยนำไปใช้ในผู้ป่วย เช่น โรคลมชัก พาร์กินสัน มะเร็งระยะสุดท้าย ให้เข้าถึงการรักษาด้วยกัญชามากขึ้น และในปี 2564 ได้บรรจุกัญชาทางการแพทย์เป็นแผนพัฒนาระบบบริการ (Service Plan) สาขาที่ 20 เพิ่มโอกาสการเข้าถึงในการรักษาโรค

"ปัจจุบันเราเปิดให้บริการกัญชาทางการแพทย์ในโรงพยาบาลในสังกัดกว่า 700 แห่งทั่วประเทศ มีผู้มารับบริการมากกว่า 65,000 ราย รวมกว่า 100,000 ครั้ง โดยตั้งเป้าให้โรงพยาบาลสังกัด สธ. เปิดให้บริการคลินิกกัญชาทางการแพทย์ในทุกพื้นที่ และยังกำหนดให้สมุนไพรกัญชาและกัญชงเป็นภารกิจสำคัญของกระทรวงฯ ที่จะช่วยสร้างรายได้ให้กับประเทศด้วย

อนึ่ง ภายในวันเดียวกันได้มีการจับคู่เจรจาธุรกิจส่วนของกัญชาที่ไม่ใช่ยาเสพติด ระหว่างโรงงานผู้ผลิต กับผู้แทนวิสาหกิจชุมชนผู้ปลูกกัญชาคุณภาพและถูกต้องตามกฎหมาย 5 กลุ่ม จาก 6 จังหวัด ซึ่งเป็นผู้แทนกลุ่มเกษตรกรมากกว่า 50 กลุ่ม รวมพื้นที่ปลูกกัญชามากกว่า 60 ไร่ โดยการจับคู่เจรจาวัตถุดิบกัญชาครั้งนี้คาดว่าจะมีมูลค่ามากกว่า 150 ล้านบาท