ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

ประธานชมรม รพศ./รพท. ร่วมเวทีรับฟังความเห็น สปสช. พร้อมเสนอ 7 ประเด็น pain point ผู้ให้บริการ พัฒนาระบบบัตรทอง ย้ำ AdjRW ไม่สอดคล้องค่าใช้จ่ายจริง


นพ.อนุกูล ไทยถานันดร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชบุรี และในฐานะประธานชมรมโรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (ชมรม รพศ./รพท.) กล่าวในเวทีรับฟังความคิดเห็นจาก ‘ผู้ให้บริการ’ ประเด็น (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 โดยอ้างอิงมติ ชมรม รพศ./รพท. ซึ่งมีข้อเสนอ 7 ข้อ

ทั้งนี้ ประกอบด้วย 1. อยากให้ สปสช. คำนึงถึงต้นทุน สำหรับการจ่ายค่าบริการในทุกบริการ 2.สิทธิประโยชน์ใหม่ที่เพิ่มเติมต้องมีแหล่งเงินงบประมาณที่ชัดเจน หากใช้งบประมาณเหมาจ่ายเท่าที่มี อาจเป็นประเด็นการทำงานที่ลำบากสำหรับผู้ให้บริการ 3. การประกาศอัตราที่จ่ายแล้ว ไม่อยากให้มีการปรับแก้กลางปี แต่หากปรับเพิ่มขึ้นก็ยินดี 4. สัดส่วนกองทุนเฉพาะโรคต้องลดลงให้น้อยกว่า 5% จนกว่างบที่จ่ายจะไม่ต่ำกว่าต้นทุน เพราะตอนนี้งบเหมาจ่ายรายหัวก็น้อยอยู่แล้ว หากตัดออกไปก็กระทบกับการใช้งบเหมาจ่ายรายหัวของผู้ให้บริการ

5. กรณีมีการให้บริการสูงกว่าเป้าหมาย ขอให้ สปสช. ร่วมรับความเสี่ยงกับหน่วยบริการด้วย เพราะปีที่ผ่านมา โรงพยาบาลหลายแห่งต้องเป็นหนี้เพราะแบกรับการให้บริการมากกว่าเป้าหมายสูงถึง 2,600 ล้านบาท 6. อยากให้ สปสช. ตระหนักว่าเป็นตัวแทนของรัฐบาลในการซื้อบริการสุขภาพให้ประชาชน ไม่ใช่องค์กรที่ซื้อข้อมูลการให้บริการเพื่อจ่ายค่าบริการ 7. สปสช. ควรปฏิรูปการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ โดยการกระจายอำนาจจาก สปสช. ส่วนกลางไปที่ สปสช. เขต ให้มากขึ้น เพื่อตอบสนองปัญหาสุขภาพของประชาชนที่ต่างกันไปในแต่ละพื้นที่

นพ.อนุกูล กล่าวต่อไปว่า ในเรื่องต้นทุนการบริการ จากการศึกษาต้นทุนของโรงพยาบาลแต่ละระดับเมื่อรวมค่าแรงแล้วในระยะ 5 ปี จะเฉลี่ยอยู่ที่ 13,142 บาทต่อ AdjRW แต่กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ประกันการจ่ายค่าบริการอยู่ที่ 8,350 บาท ขณะที่กองทุนประกันสังคม ประกันการจ่ายอยู่ที่ 12,000 บาท ซึ่งมีความแตกต่างกัน จึงอยากให้ สปสช. พิจารณาในเรื่องนี้

นพ.อนุกูล ยังกล่าวถึงการปรับปรุงรายการ และอัตราการจ่ายค่าบริการระหว่างปี ซึ่งส่งผลกระทบต่อหน่วยบริการและประชาชน หากมีการประกาศก่อนล่วงหน้า ก็จะช่วยให้หน่วยบริการบริหารจัดการภายใน ทั้งการจัดซื้อจัดจ้างให้ดียิ่งขึ้น ไม่ต้องมาพะวงว่าต้องปรับเปลี่ยนการจัดซื้อจัดหารายการตามที่สปสช.กำหนดใหม่ระหว่างปี

"อีกประเด็นคือ เรารู้สึกว่า สปสช. อยากได้ข้อมูลจากหน่วยบริการมากกว่าการให้บริการ เพราะต้องการดูข้อมูล และมีเงื่อนไขที่ยุ่งยาก และทำให้การเบิกจ่ายก็ยุ่งยากตามมา ซึ่งสุดท้ายบุคลากรทางการแพทย์จะหมดกำลังใจในการทำงาน และจะกระทบต่อประชาชน” นพ.อนุกูล กล่าว

นพ.อนุกูล กล่าวด้วยว่า ในเรื่องของข้อมูลการเบิกจ่ายนั้น ทางชมรม รพศ./รพท. ขอส่งข้อมูลชุดเดียวในการเบิกจ่ายให้กับทุกกองทุน และเป็นหน้าที่ของแต่ละกองทุนที่จะแยกย่อยกันเอาเอง พร้อมกับจะขอส่งผ่านช่องทางเดียว คือระบบ Financial Data Hub เท่านั้น ขณะที่ในส่วนการปรับเปลี่ยนรายละเอียดของชุดข้อมูล จะต้องเป็นกรณีที่จำเป็นจริงๆ เท่านั้น และผ่านการหารือกับ สธ. และสมาพันธ์เครือข่ายหน่วยบริการ และขอให้ สปสช. หาวิธี หรือไปตรวจสอบการโกงด้วยวิธีอื่น ไม่ใช่โยนภาระให้กับหน่วยบริการ