ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

เปิด “แผนรับฟังความคิดเห็นผู้รับบริการและผู้ให้บริการในระบบบัตรทอง ปี 2567” บอร์ด สปสช. รับทราบการดำเนินการเพื่อเดินหน้าระดมความเห็น 9 ประเด็นตามข้อบังคับ พร้อมเพิ่มประเด็น “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว” เน้นสร้างการมีส่วนร่วมผู้รับบริการ-ผู้ให้บริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทั้งหมด เริ่ม เม.ย. – มิ.ย.นี้


ที่ประชุมคณะกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) เมื่อวันที่ 1 เม.ย. 2567 ซึ่งมี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานการประชุม ได้มีมติรับทราบ “รูปแบบการจัดประชุมรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไป ตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 ประจำปี 2567” นำเสนอโดย นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.)

นพ.ชลน่าน กล่าวว่า การรับฟังความเห็นโดยทั่วไปฯ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ หรือบัตรทอง 30 บาท เป็นกลไกสำคัญของการสร้างการมีส่วนร่วมมาอย่างต่อเนื่องตลอด 21 ปี ทั้งจากผู้ให้บริการ ผู้รับบริการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อดำเนินการระบบบัตรทอง นอกจากเป็นการคุ้มครองสิทธิประชาชนผู้ใช้สิทธิแล้ว ยังเป็นช่องทางของผู้ให้บริการได้ร่วมสะท้อนความเห็นการให้บริการที่นำไปสู่การพัฒนาการบริหารจัดการและขับเคลื่อนระบบฯ ไปข้างหน้า จนประสบความสำเร็จและได้รับการยอมรับ ช่วยเพิ่มการเข้าถึงบริการได้อย่างครอบคลุมและทั่วถึง 

สำหรับในปี 2567 นี้ ตามแผนรูปแบบของการจัดประชุมรับฟังความเห็นฯ จะมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นที่เป็นไปตามข้อบังคับมาตรา 18 (10) จำนวน 9 ด้าน คือ 1. ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2. ด้านมาตรฐานบริการสาธารณสุข 3. ด้านบริหารจัดการสำนักงาน 4. ด้านบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5. ด้านบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพท้องถิ่น 6. ด้านการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน 7. ด้านการรับรู้และคุ้มครองสิทธิ 8. ประเด็นอื่นๆ ตามบริบทของพื้นที่และกลุ่มเป้าหมายเฉพาะ

นอกจากนี้ยังมีประเด็นรับฟังความเห็นฯ ที่กำหนดประจำปี 2567 คือเรื่อง “ยกระดับ 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว”

ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า สำหรับรูปแบบการรับฟังความเห็น ได้กำหนดการดำเนินการในแบบ Hybrid ทั้ง Onsite และ Online ผ่านระบบสื่ออิเล็กทรอนิกส์ เน้นการสื่อสาร 2 ทาง (Two Way Communication) ดำเนินการทั้งในระดับพื้นที่ คือ การจัดการรับฟังความคิดเห็นฯ ในพื้นที่ ดำเนินการโดย สปสช.เขต ตั้งแต่ช่วงเดือน เม.ย. – มิ.ย. 2567

ขณะที่อีกส่วนคือการจัดรับฟังความเห็นระดับประเทศ โดยจัดประชุมสรุปผลการรับฟังความคิดเห็นโดยทั่วไป ประจำปี 2567 และเปิดเวทีอภิปรายในวันที่ 27–28 มิ.ย. 2567 โดยเบื้องต้นกำหนดเชิญรัฐมนตรีว่ากระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานบอร์ด สปสช. เป็นประธานรับมอบสรุปผลรับฟังความเห็น เพื่อที่ สปสช. จะนำเข้าสู่กระบวนการพิจารณาและผลักดันข้อเสนอและความเห็นให้เกิดเป็นรูปธรรมต่อไป

“กระบวนการจัดรับฟังความเห็นฯ สปสช. ได้มีการพัฒนามาโดยตลอด และมีการปฏิรูปการรับฟังความเห็นภายใต้หลักการ 3 ข้อ คือ เน้นบูรณาการกับงานประจำตลอดทั้งปี เพิ่มช่องทางการรับฟังความคิดเห็นที่หลากหลาย จากเดิมที่มีแต่ Onsite ได้เพิ่มรูปแบบ Online และตอบสนองข้อเสนอระดับเขตอย่างรวดเร็วเป็นระบบ และในปี 2567 นี้ จากแผนรูปแบบฯ ที่นำเสนอนี้ เชื่อมั่นว่าจะนำมาสู่ความเห็นที่หลากหลายและเป็นประโยชน์ต่อระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดย สปสช.จะรับดำเนินการต่อไป” เลขาธิการ สปสช.