ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

นับตั้งแต่ปี 2539 ที่ไวรัสไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H5N1 หรือที่รู้จักกันในชื่อ 'ไข้หวัดนก' หรือ Bird Flu ถูกค้นพบเป็นปีแรก และแพร่ระบาดลุกลามไปทั่วทั้งโลกในอีก 7 ปีถัดมา ซึ่งองค์การอนามัยโลก (WHO) เคยระบุเอาไว้ว่า ผู้ที่ติดเชื้อมีโอกาสเสียชีวิตสูงถึง 52% เลยทีเดียว

ไวรัสสายพันธุ์นี้ แพร่กระจายจากสัตว์ปีก เช่น เป็ด ไก่ นก ผู้คนที่สัมผัสสัตว์ปีกที่ติดเชื้อไวรัสจึงมีโอกาสสูงที่จะรับเชื้อเข้าไปด้วย แต่กระนั้นก็ยังไม่เคยมีรายงานมาก่อนว่า ไวรัส H5N1 มีการแพร่กระจายจากสัตว์ปีกไปสู่สิ่งอื่น

อย่างไรก็ดี มีประเด็นที่น่าสนใจเกิดขึ้นล่าสุดที่สหรัฐอเมริกา เมื่อช่วงเดือน มี.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งมีการไปพบว่ามีผู้ป่วยรายหนึ่งติดเชื้อไข้หวัดนก ทั้งที่เขาไม่ได้สัมผัสกับสัตว์ปีกใดๆ

ทว่า สัตว์ที่เขาสัมผัสคือ 'วัว' จากการทำงานในฟาร์ม และนั่นอาจเป็นอีกสาเหตุที่่ทำให้เขาติดเชื้อ เพราะวัวที่อยู่ในฟาร์มก็พบ ‘ผลบวก’ ว่าได้รับเชื้อไข้หวัดนกด้วยเช่นกัน 

เจเรมี ฟาร์ราร์ นักวิจัยด้านการแพทย์ และหัวหน้ากลุ่มนักวิทยาศาสตร์ระดับสูงของ WHO ออกมาตอบคำถามสื่อมวลชนเมื่อสัปดาห์ที่ผ่านมา และยอมรับว่ามีความกังวลอย่างมากเกี่ยวกับการระบาดของไวรัส H5N1 ที่อาจแพร่จากสัตว์ปีกไปสู่สัตว์เลี้ยงลูกด้วยนม 

แม้ว่าปัจจุบันยังไม่หลักฐานยืนยันว่า เชื้อไวรัส H5N1 จะแพร่กระจายจากคนสู่คนได้ แต่ล่าสุดอย่างเคสที่เกิดขึ้นในอเมริกาที่เจอว่าวัวในฟาร์มติดเชื้อ รวมถึงในระยะ 2 ปีที่ผ่านมาก็พบว่ามีสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมมีผลตรวจเชื้อเป็นบวกมากขึ้นด้วย WHO จึงเกิดข้อกังวลว่า เชื้อไวรัสชนิดนี้ กำลังพัฒนาการมองหาพาหะแพร่เชื้อใหม่จากสัตว์ปีก มาสู่สัตว์เลื้ยงลูกด้วยนม

ระดับความกังวลของ เฟร์ราร์ คือต้องจับตามากกว่าการเฝ้าดู เพราะหากเชื้อไวรัส H5N1 สามารถพัฒนาการและแพร่ระบาดจากคนสู่คนได้จริง ทุกประเทศจะต้องพร้อมตอบสนองด้วยการใช้วัคซีนในทันที และต้องเท่าเทียม

แต่สำหรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอเมริกานี้ WHO ระบุว่า ศูนย์ควบคุมโรคติดต่อสหรัฐอเมริกา หรือ CDC ได้ประสานกับหน่วยงานด้านสุขภาพเพื่อติดตามคนงานในฟาร์ม รวมถึงคนในชุมนที่อาจสัมผัสกับสัตว์มีปีก หรือสัตว์ที่อาจติดเชื้อ พร้อมกับทดสอบอาการของคนในชุมชน

ในส่วนของคำแนะนำแก่ประชาชนก็มีการแจ้งในทันที เกี่ยวกับการหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์ที่ป่วยหรือตายโดยไม่มีการป้องกัน รวมถึงนกป่า สัตว์ปีก ไก่ รวมถึงสัตว์เลี้ยงในบ้านอื่นๆ ตลอดจนมูลสัตว์ ขยะ หรือวัสดุที่ปนเปื้อนจากนกหรือสัตว์อื่นๆ สัตว์ที่ต้องสงสัยหรือได้รับการยืนยันว่าติดเชื้อไวรัส

อย่างไรก็ตาม WHO เสริมคำแนะนำว่า หากมีการระบาดของไวรัสชนิดนี้ในมนุษย์ ทั่วโลกจำเป็นต้องเฝ้าระวังการสัมผัสระหว่างกัน และเพิ่มการเฝ้าระวังในกลุ่มผู้ป่วยไข้หวัดใหญ่ในท้องถิ่น รวมถึงผู้ป่วยที่ติดเชื้อทางเดินหายใจเฉียบพลันรุนแรง และวางระบบการคัดกรองเชิงรุกในโรงพยาบาล พร้อมกับป้องกันความเสี่ยงของบุคลากรทางการแพทย์ที่อาจติดเชื้อได้ด้วย

ขณะที่ประชาชน ควรหลีกเลี่ยงไปยังประเทศที่พบการแพร่ระบาด หรือหลีกเลี่ยงการสัมผัสสัตว์มีชีวิต หรือไปในพื้นที่ตลาดสดที่มีสัตว์ถูกฆ่า ไม่สัมผัสกับพื้นผิวที่มีสิ่งปฏิกูลของสัตว์ หมั่นล้างมือบ่อยๆ

อย่างไรก็ตาม ในเบื้องต้นการแพร่กระจายของเชื้อไวรัส H5N1 ในระดับชุมชนยังไม่น่าเป็นไปได้ เพราะจากข้อมูลของ WHO ล่าสุดยังยืนยันว่า ไวรัสชนิดนี้ยังไม่พัฒนาการแพร่เชื้อจากคนสู่คนได้ แต่กระนั้นก็จำเป็นต้องจับตาและเฝ้าระวัง
------------------------------    
อ้างอิง:
https://www.who.int/emergencies/disease-outbreak-news/item/2024-DON512
https://edition.cnn.com/2024/04/19/health/bird-flu-who/index.html