ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช.ลุยจัดเวทีรับฟังความเห็นฯ ปี 2561 รุกปรับปรุงและพัฒนาระบบบัตรทอง พร้อมเพิ่มเติมรับฟังความเห็น 3 ประเด็นเฉพาะ นอกเหนือประเด็น 7 ด้าน ทั้ง กลุ่มเปราะบาง กองทุนสุขภาพท้องถิ่น และการดูแลผู้สูงอายุ เผยจัดรับฟังความเห็นแล้ว 5 เขต จาก 13 เขตพื้นที่ พร้อมเตรียมจัดเวทีรับฟังความเห็นระดับประเทศ 14-15 ส.ค.นี้ เชิญชวนผู้แทนทุกภาคส่วนและประชาชนเข้าร่วมแสดงความเห็นผ่านเวทีและช่องทางต่างๆ เพื่อเป็นเจ้าของร่วมกัน

นพ.จรัล ตฤณวุฒิพงษ์ ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า การจัดการรับฟังความเห็นโดยทั่วไปจากผู้ให้บริการและผู้รับบริการ ตามมาตรา 18 (13) พ.ร.บ.หลักประกันสุขภาพแห่งชาติ พ.ศ. 2545 นับเป็นกลไกสำคัญของการพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง) โดย สปสช.ได้ดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2547 และในการจัดการรับฟังความคิดเห็นประจำปี 2561 นี้เป็นครั้งที่ 15 และได้ดำเนินการตามมติบอร์ด สปสช.ที่มี ศ.นพ.ปิยะสกล สกลสัตยาทร รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข เป็นประธาน

ขณะนี้อยู่ระหว่างกระบวนการรับฟังความเห็นระดับเขตทั้ง 13 เขต ได้เริ่มต้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคม 2561 ที่ผ่านมา มีเขตที่ได้ดำเนินการจัดรับฟังความเห็นฯ แล้ว 5 เขต คือ เขต 5 ราชบุรี, เขต 13 กทม., เขต 12 สงขลา, เขต 10 อุบลราชธานี และเขต 4 สระบุรี ส่วนเขตอื่นๆ อยู่ระหว่างดำเนินการและจะแล้วเสร็จในวันที่ 3 สิงหาคม 2561 หลังจากนั้นจะเป็นการจัดเวทีรับฟังความเห็นในระดับประเทศ กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 14-15 สิงหาคม 2561นี้ ที่กรุงเทพมหานคร

ส่วนประเด็นรับฟังความเห็นฯ ในปี 2561 นี้ นอกจากประเด็น 7 ด้านแล้ว ได้แก่ 1.ประเภทและขอบเขตบริการสาธารณสุข 2.มาตรฐานบริการสาธารณสุข 3.การบริหารจัดการสำนักงาน 4.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ 5.การบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นและพื้นที่ 6.การมีส่วนร่วมของภาคประชาชน และ 7.การรับรู้และคุ้มครองสิทธิ์ แล้ว

ในปีนี้ยังเพิ่มเติมการรับฟังความเห็นในประเด็นเฉพาะเพื่อนำไปสู่การดูแลประชาชนให้ครอบคลุมและทั่วถึง อาทิ “การเข้าถึงสิทธิและบริการของกลุ่มเปราะบางตามบริบทของพื้นที่” ซึ่งเป็นกลุ่มประชากรที่มีปัญหาในการเข้าถึงบริการสุขภาพ อาทิ ประชาชนที่อยู่ตามพื้นที่ชายขอบ ผู้ต้องขัง พระสงฆ์ และผู้พิการ เป็นต้น เพื่อพัฒนาและสร้างกลไกให้กลุ่มเปราะบางเหล่านี้ได้รับการรักษาและบริการสาธารณสุขที่เท่าเทียมกัน, “การมีส่วนร่วมขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น” เพื่อกระตุ้นและเร่งดำเนินกองทุนหลักประกันสุขภาพในระดับท้องถิ่นในการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค และ “การดูแลกลุ่มผู้สูงอายุ” ทั้งที่ดำเนินการผ่านกลไกกองทุนระบบการดูแลระยะยาวด้านสาธารณสุขสำหรับผู้สูงอายุที่มีภาวะพึ่งพิง (LTC: Long Term care) และการส่งเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เนื่องจากเป็นกลุ่มที่มีภาวะเจ็บป่วยมากและค่าใช้จ่ายสุขภาพที่เพิ่มสูงขึ้น   

นพ.จรัล กล่าวว่า ภายหลังการจัดเวทีรับฟังความเห็นฯ เสร็จสิ้นลงแล้ว อนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นฯ และ สปสช.จะได้ทำการรวมรวมความเห็นทั้งหมด นอกจากประเด็นข้อเสนอที่ได้จากเวทีรับฟังความเห็นฯ แล้ว ยังจะรวมรวมความเห็นที่ได้รับผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ระบบออนไลน์ ทั้งจากเว็บไซด์และเฟสบุ๊ค สปสช., การรวบรวมความเห็นจากการประชุมต่างๆ , การลงพื้นที่ และการทำงานร่วมกับหน่วยงาน สถาบันวิชาการ และเครือข่ายภาคประชาชน เป็นต้น มาสังเคราะห์เป็นข้อเสนอเพื่อนำไปสู่การปรับปรุงและพัฒนาระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ทั้งในด้านนโยบาย การบริหาร การดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพและประสิทธิผลสูงสุด นอกจากนี้นำไปสู่การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระบบ ช่วยลดความขัดแย้ง ซึ่งเป็นหนทางนำไปสู่การทำงานร่วมกันเพื่อทำให้ระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติยั่งยืน

“ขณะนี้การจัดเวทีรับฟังความเห็นทั่วไปฯ ในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้เดินหน้าไปแล้วใน 5 เขตพื้นที่ ยังเหลือการจัดเวทีรับฟังความเห็นใน 8 เขตพื้นที่ รวมถึงการรับฟังความเห็นฯ ในเวทีระดับประเทศ ซึ่งเป็นช่องทางที่เปิดให้ทุกภาคส่วนได้มีส่วนร่วมในการแสดงความเห็น ส่งผลให้เกิดมุมมองที่รอบด้านต่อการดำเนินระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติที่มีความสำคัญอย่างยิ่ง ดังนั้นจึงขอเชิญชวนตัวแทนทุกภาคส่วนและประชาชนร่วมแสดงความเห็นครั้งนี้ เพื่อมีส่วนร่วมคิด ร่วมทำ ร่วมพัฒนา และเป็นเจ้าของระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติร่วมกัน” ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นฯ กล่าว