ข้ามไปยังเนื้อหาหลัก

สปสช. เปิดเวทีรับฟังความเห็นผู้ให้บริการต่อ “ร่างประกาศการดำเนินงานกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ปี 2567” รวบรวมข้อเสนอแนะ เตรียมนำเสนอบอร์ด สปสช. ประกอบการพิจารณาเดินหน้าบริหารงานกองทุนฯ ด้านผู้ให้บริการร่วมสะท้อนความเห็นที่หลากหลาย ย้ำจัดสรรงบประมาณต้องสอดคล้องการเพิ่มเติมสิทธิประโยชน์ใหม่และเงินเฟ้อ ขณะที่อัตราจ่ายชดเชยค่าบริการสะท้อนต้นทุนของหน่วยบริการด้วย พร้อมให้ สปสช. กระจายอำนาจบริหารไปที สปสช. เขต เพื่อบริหารจัดการสอดคล้องกับพื้นที่ ขณะที่คลินิกเอกชนเสนอให้แยกกองทุนส่งต่อผู้ป่วยนอกจากงบเหมาจ่าย และขอให้ประชาชนร่วมจ่ายบริการเพื่อความยั่งยืนกองทุนฯ


เมื่อวันที่ 2 เม.ย. 2567 สำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) จัดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการแบบเป็นการทั่วไป “ประเด็น (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และค่าใช้จ่ายเพื่อบริการสาธารณสุข ปีงบประมาณ 2567” โดยมีบุคลากรทางการแพทย์ ในฐานะผู้ให้บริการสุขภาพ พร้อมด้วยตัวแทนจากโรงพยาบาลสังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ทุกระดับ ตั้งแต่โรงพยาบาลศูนย์/โรงพยาบาลทั่วไป (รพศ./รพท.) โรงพยาบาลชุมชน (รพช.) โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) รวมไปถึงผู้ประกอบการคลินิก สถานพยาบาลเอกชน และอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) เข้าร่วมกว่า 400 คน ในรูปแบบ Onsite และ Online โดยมี รศ.พญ.ประสบศรี อึ้งถาวร และ ดร.ดวงตา ตันโช กรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) ร่วมรับฟัง

ทั้งนี้ ก่อนเปิดรับฟังความคิดเห็นได้มีการสรุปประเด็นใน (ร่าง) ประกาศการดำเนินงานและการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ โดย นางกาญจนา ศรีชมภู ผู้ช่วยเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ โดยในส่วนบริการผู้ป่วยนอก (OP) ที่มีการปรับเปลี่ยน อย่างกรณีเขตสุขภาพที่ 13 กรุงเทพมหานคร ที่ปรับการจ่ายชดเชยตามผลงานบริการ (Free Schedule) ตามที่ สปสช. กำหนด รวมถึงการจัดระบบ Single data clearing system และบูรณาการร่วมกับระบบข้อมูลมาตรฐานบริการสาธารณสุข กระทรวงสาธรณสุข (สธ.) เพื่อคืนข้อมูลให้กับหน่วยบริการและประชาชน  พร้อมกันนี้ได้เชื่อมข้อมูลหน่วยบริการเพื่อลดภาระการส่งข้อมูลของหน่วยบริการ การจัดทำระบบกาตรวจสอบก่อนจ่ายกรณีเบิกจ่ายตามรายการ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณสำหรับผู้ต้องขังเป็นการเฉพาะ และการจัดสรรงบประมาณกรณี รพ.สต. ถ่ายโอน เป็นต้น

ส่วนบริการผู้ป่วยในปี 2567 มีการเปลี่ยนแปลงการเบิกจ่ายด้วยระบบวินิจฉัยโรคร่วม ฉบับที่ 6 ตั้งแต่วันที่ 1 พ.ค.2567 และปรับใช้ข้อมูลการบริการตั้งแต่ ต.ค. 2565 ถึง ก.ย. 2566 เพื่อใช้คาดการณ์ผลงานปีงบประมาณ 2567

นอกจากนี้ยังได้เพิ่มการจ่ายสำหรับบริการการดูแลผู้ป่วยที่บ้าน (Home Ward) ตามระบบ DRG อีก 3 กลุ่มโรคที่เพิ่มเติม เป็น 10 กลุ่มโรค ประกอบด้วย 1.ความผิดปกติทางจิตและพฤติกรรมที่เกิดจากการใช้สารออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท 2.โรคจิตเภท โรคหลงผิด และ 3.ความผิดปกติทางอารมณ์ นอกจากนี้ยังมีการบริการสำรองเตียง โดยใช้กลไกสายด่วน สปสช. 1330 เพื่อให้เกิดการส่งต่อผู้ป่วยที่มีความพร้อมมากขึ้น

ขณะที่บริการกรณีเฉพาะ ได้มีการเพิ่มกลไกการพิจารณากำหนดอัตราจ่ายกรณีบริการที่ต้องการความเชี่ยวชาญสูง รวมถึงประเด็นจัดสรรงบประมาณในบริการรักษามะเร็ง ตามข้อเสนอการนำยาราคาแพงเข้าสู่ระบบ รายการรังสีรักษาคมีบำบัด และยังมีบริการสาธารณสุขขั้นสูงสุด เช่น บริการฝังแร่ในตา บริการรักษาด้วยรังสีโปรตอน

ขณะที่บริการในกลุ่มฟื้นฟูทางการแพทย์ ได้ปรับบริการในรูปแบบความร่วมมือกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) ในหมวดค่าบริการสาธารณสุข รวมถึงปรับอัตราจ่ายชดเชยค่าบริการกายภาพบำบัดสำหรับผู้ป่วยระยะกลาง (IMC) ใน 4 กลุ่มโรค โดยจ่ายตามจริงไม่เกิน 450 บาทต่อครั้ง และค่าบริการทางการแพทย์เพิ่มเติมกรณีให้บริการที่บ้าน โดยจ่ายตามจริงไม่เกิน 200 บาทต่อครั้ง

ส่วนการบริการของผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคไตวายเรื้อรังได้ขยายเป้าหมายการบริการเครื่องล้างไตอัตโนมัติ ในระหว่างปีงบประมาณ โดยเฉพาะผู้ป่วยที่อยู่พื้นที่ห่างไกล และกลุ่มเปราะบางที่มีปัญหาในการดำรงชีวิตหากไม่ได้รับบริการ APD เช่น กลุ่มเด็กนักเรียน วัยแรงงาน และผู้สูงอายุ ส่วนบริการจิตเวชเรื้อรังในชุมชน ปรับรูปแบบบริการโดยเน้นค้นหาผู้ป่วยในชุมชนโดยใช้งบท้องถิ่น โดยเฉพาะจาก อปท. เข้ามาสนับสนุน รวมไปถึงการบริการปฐมภูมิ ที่มุ่งเน้นการเข้าถึงกรณีสร้างเสริมสุขภาพป้องกันโรคทีร้านยา และคลินิกพยาบาลให้มาก

รวมไปถึงเพิ่มหน่วยบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ ตามนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว เช่น บริการพยาบาลในคลินิกพยาบาลและการผดุงครรภ์ รับยาหรือรับบริการที่ร้านยา บริการทันตกรรมเคลื่อนที่และคลินิกทันตกรรม บริการเจาะเลือดโดยคลินิกเทคนิคการแพทย์ บริการจากคลินิกการแพทย์แผนไทย และคลินิกกายภาพบำบัด เป็นต้น อีกทั้งยังขยายบริการการแพทย์ทางไกล (เทเลเมดิซีน) สำหรับคนไทยในต่างแดนด้วย

บริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค ได้ทบทวนการบริการตาม Free Schedule โดยกำหนดจ่ายเหมือนกันทุกเขต และให้มีระบบพิสูจน์ตัวบุคคลเพื่อใช้ตรวจสอบการเบิกจ่าย รวมไปถึงให้มีการรวมบริการตรวจคัดกรองการได้ยินในเด็กแรกเกิดทุกราย บริการตรวจวัดความดันโลหิตด้วยตนเองทีบ้าน บริการป้องกันการติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบีจากแม่สู่ลูก บริการคัดกรองโควิด-19 และบริการคัดกรองโรคหัวใจพิการแต่กำเนิดชนิดรุนแรงในทารกแรกเกิด ในงบเหมาจ่ายรายหัว

ขณะที่ข้อเสนอการปรับปรุงเปลี่ยนแปลงการบริการกองทุน ในปี 2568 สำหรับรายการในงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว มีข้อเสนอปรับอัตราค่าบริการค่าเก็บตัวอย่างบริการมะเร็งปากมดลูกให้เป็นอัตราเดียว ขยายบริการแว่นตา ให้หน่วยบริการนวัตกรรม รวมถึงเอกชนร่วมบริการ ปรับค่าบริการฉีดวัคซีน 20 บาทในหมวดบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรค เพิ่มรายการตรวจคัดกรองโรคไตด้วยตัวเอง และเพิ่มรายการยาสมุนไพรจาก 9 รายการ เป็น 19 รายการ และในส่วนงบประมาณนอกงบประมาณเหมาจ่ายรายหัว มีข้อเสนอให้บริการตรวจห้องปฏิบัติการโดยคลินิกเทคนิคการแพทย์ ขยายกลุ่มอาการในบริการเจ็บป่วยเล็กน้อยที่ร้านยา และขยายความครอบคลุมบริการทุกกลุ่มโรคสำหรับการใช้บริการเทเลเมดิซีน

หลังจากนั้นมีการเปิดรับฟังความคิดเห็นจากผู้เข้าร่วม โดยมีการนำเสนอที่หลากหลาย ทั้งประเด็นปัญหาที่เกิดขึ้นจากการกำหนดชุดสิทธิประโยชน์ของ สปสช. ปัญหาอัตราเงินเฟ้อที่ไม่สอดคล้องกับต้นทุนหน่วยบริการ รวมไปถึงข้อเสนอให้ปรับปรุงและเปลี่ยนแปลง ทั้งประเด็นปัญหาความแออัดในโรงพยาบาลที่เชื่อมโยงมายังปัญหาการเข้าถึงบริการของประชาชน โดยเฉพาะกับผู้สูงอายุที่มีข้อเสนอแนะให้เพิ่มการบริการในหน่วยนวัตกรรม รวมถึงพัฒนาต่อยอดคลินิกการพยาบาลชุมชนอบอุ่นให้เข้ามาเป็นหน่วยบริการร่วมของ สปสช. เพื่อให้ดูแลสุขภาพปฐมภูมิประชาชนโดยเฉพาะผู้สูงอายุ และให้คลินิกการพยาบาลขึ้นทะเบียนโดยไม่ต้องผ่านองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (อปท.) 

นอกจากนี้ ยังมีประเด็นการสร้างความตระหนักรู้ต่อการดูแลสุขภาพตนเองของประชาชน โดยในส่วนของคลินิกเอกชนและตัวแทนจาก รพ.สต. มีข้อเสนอให้ประชาชนที่มีรายได้ เช่น กลุ่มข้าราชการ วัยทำงาน ต้องมีส่วนร่วมจ่ายค่าบริการ อาจทำในรูปแบบกองทุนหรือให้จ่ายตรงกับหน่วยบริการ ที่เป็นการเพิ่มเติมเงินในระบบ ช่วยให้กองทุนหลักประกันสุขภาพฯ มีความเข้มแข็งและทำให้เกิดความยั่งยืนทางการเงินการคลังในอนาคต พร้อมกันนี้ยังขอให้ปรับปรุงการจัดซื้อยาและเวชภัณฑ์กับบริษัทยาต่างๆ ตามข้อกำหนดของการให้บริการของ สปสช. โดยให้คลินิกสามารถจัดซื้อที่เทียบเท่ากับราคาจัดซื้อของโรงพยาบาล เพื่อไม่ให้คลินิกต้องแบกรับต้นทุนค่ายาที่สูงกว่าโรงพยาบาล

ขณะเดียวกันผู้ให้บริการยังสะท้อนปัญหาด้วยว่า งบประมาณสำหรับกองทุนสุขภาพฯ ที่ดูแลประชาชนสิทธิบัตรทอง 30 บาท พบว่าเพิ่มขึ้นถึงร้อย 20 ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ไม่สอดรับกับอัตราเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น อีกทั้งหน่วยบริการเกือบทุกระดับได้รับงบประมาณไม่เพียงพอ ขอให้ สปสช. พิจารณาการจ่ายค่าบริการโดยสะท้อนต้นทุนการให้บริการจริงของหน่วยบริการ และขอให้พิจารณากระจายอำนาจไปที่ สปสช.เขต ให้มากขึ้น เพื่อให้สามารถตอบสนองต่อปัญหาการให้บริการในแต่ละพื้นที่ได้อย่างเหมาะสม

ด้าน นพ.เกียรติภูมิ วงศ์รจิต ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมและรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้และผู้รับบริการ สปสช. กล่าวสรุปภายหลังว่า วันนี้เป็นนิมิตรหมายอันดีที่ผู้ให้บริการจากสถานพยาบาลของรัฐและเอกชนได้มาร่วมสะท้อนความคิดเห็นต่อการบริหารจัดการกองทุนหลักประกันสุขภาพฯ ของ สปสช. และเป็นข้อเสนอแนะที่ สปสช. รวมถึง บอร์ด สปสช. จะรับฟังและนำไปพิจารณาปรับปรุงแก้ไข เพราะผู้ให้บริการถือเป็นกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสียรายใหญ่ของระบบสุขภาพทั้งประเทศ

ส่วน สปสช. เองอาจจะต้องสร้างกลไกหรือเครื่องมือ เพื่อให้ผู้ให้บริการเข้ามามีส่วนร่วมในการบริหารจัดการในส่วนการให้บริการต่อประชาชน อาจเป็นรูปแบบของคณะกรรมการ หรือคณะอนุกรรมการที่ให้ผู้ให้บริการเข้าร่วมพิจารณาชุดสิทธิประโยชน์ต่างๆ เพื่อให้เกิดความเหมาะสมต่อการให้บริการสุขภาพต่อประชาชนให้เกิดประสิทธิภาพ และทำให้ผู้ให้บริการสามารถให้บริการได้อย่างมีคุณภาพ และไร้ปัญหาด้วยเช่นกัน

"ระบบสุขภาพต้องมีทั้ง สปสช. ในฐานะผู้ซื้อบริการ (Purchaser) ต้องมีผู้ให้บริการ (Provider) และต้องมีประชาชน (People) สามองค์ประกอบนี้ ต้องมีการบริหารจัดการด้านสุขภาพที่สมดุลกัน ซึ่งการรับฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการในครั้งนี้ ถือเป็นประโยชน์ต่อการบริหารจัดการของ สปสช. ในอนาคตอย่างมาก และ สปสช. จะต้องสรุปรวบรวมเพื่อนำเสนอต่อ บอร์ด สปสช. และนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต้องเกิดขึ้นให้ได้ ไม่เช่นนั้น ในครั้งต่อไปเราอาจไม่ได้ฟังความคิดเห็นจากผู้ให้บริการอีก" ประธานอนุกรรมการสื่อสารสังคมฯ กล่าว